สลับสับเปลี่ยนอารมณ์กันสักนิด หลังติดตามเรื่องราวเที่ยวท่องส่องเมืองลาวกันมาได้สักพัก อาจจะเริ่มเบื่อเริ่มเอียนกัน ก็ต้องขออภัย บล็อกนี้มันก็เป็นเยี่ยงนี้แล บ้าเขียนอะไรยาวๆ วันนี้ ผมไปดูหนังจากหนังสือซีไรท์มาครับ ‘ความสุขของกะทิ’ เป็นชื่อของหนังเรื่องนั้น
ด้วยความที่โหมโปรโมตทั้งภาพและเพลงตามสื่อทีวีทุกวัน คนที่รู้จักก็แสดงความอยากดูอย่างออกนอกหน้า เพลงประกอบก็ทำโดยคนที่คุ้นเคย ทำให้ “ความสุขของกะทิ” อยู่ในหัวตลอดเวลา
แล้วก็ถึงวันนั้น วันที่ได้เข้าไปอยู่ในโรงหนังที่กำลังฉายเรื่องนี้อยู่
หนังเริ่มเล่าเรื่องด้วยความเงียบ เผยให้เห็นเด็กผู้หญิงตัวน้อยคนหนึ่งกับชิงช้าตัวหนึ่ง ข้างสระน้ำบนตึกสูงแห่งหนึ่ง หลังจากเด็กน้อยเปิดประตูเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง เรื่องราวต่างๆ ก็เหมือนถูกเปิดออก…
เด็กน้อย “กะทิ” ดูเหมือนมีชีวิตที่น่าอบอุ่น กับตาและยาย กับบ้านในอยุธยา แต่บางอย่างกลับยังถูกปิดบังไว้
“แม่หนูอยู่ไหน?”
นั่นคงเป็นคำถามในใจของกะทิ พร้อมๆ กับเป็นคำถามในใจของผมด้วย ด้วยเพราะผมไม่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ เคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่เคยพาตัวเองไปอยู่หน้าตัวหนังสือเหล่านั้นสักครั้ง
นี่คือสัมผัสที่สดใหม่จริงๆ
แล้วเรื่องก็เริ่มคลี่คลายออกมาเรื่อยๆ ทำให้เราได้รู้จักแม่ของกะทิมากขึ้น พาเราไปรู้จักกับสถานที่ 3 แห่งด้วยกัน
1 …
อยุธยา ที่ๆ กะทิเติบโตอยู่กับตาและยายที่ดูเป็นคนสำคัญของหมู่บ้าน ที่ๆ กะทิเรียนกับเพื่อน ที่ๆ มีทองเป็นเพื่อนสนิท
2 …
บ้านชายทะเล ที่ๆ แม่ของกะทิพักอาศัยอยู่
3 …
บนตึกสูงในนครกรุงเทพฯ ที่ๆ น่าจะเป็นนิวาสถานของชีวิตในอนาคตของกะทิ
หนังถ่ายทอด “ความสุขของกะทิ” ออกมาในภาพที่มีสีสันในทาง “สว่าง” ทุกๆ อย่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม จนบางครั้งอาจงดงามจนเกิดความเป็นจริงไปด้วยซ้ำ
ชนบทของอยุธยาในหนัง พาให้หัวใจผมพลันนึกไปถึงอดีตที่ตัวเองเติบโตมา บรรยายของริมแม่น้ำสองฝั่ง เต็มไปด้วยยอของชาวบ้านที่เรียงราย ท้องนา ต้นไม้ ส่งสารแห่งความสุขมาให้ผมอย่างเต็มเปี่ยม
แต่บางมุมกลับดูเป็นบ้านที่สวยเกินกว่าจะเป็นบ้านของชาวบ้าน ถึงแม้จะเป็นผู้มีอันจะกินก็เถอะ บางมุมก็ดูเป็นทิวทัศน์ที่ดูดีเกินจะเป็นชนบท หลายคนอาจคิดไปว่ามันเป็นรีสอร์ตด้วยซ้ำ
ในมุมมองของชีวิต หนังเรื่องนี้ อาจจะให้แง่มุมของ “การมองชีวิต” ที่ดีสำหรับเด็กคนหนึ่งที่มีวุฒิภาวะสูงเกินเด็ก? การที่คนผู้ผ่านเรื่องร้ายแรงอันสะเทือนจิตใจอย่างแรง แต่ทำใจทำจิตให้ยอมรับได้ ย่อมต้องมีจิตเข้มแข็งมาก และหากผ่านได้ นั่นอาจหมายถึงว่า “ความสุขของกะทิ” มีจริง
แต่มันจะมีจริงหรือเปล่า นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ขณะเดียวกัน หนังก็ดูจะยกให้ “กะทิ” เป็นเพียงผู้เดียวที่มีภาวะจิตที่สูงส่ง สูงเกินผู้ใหญ่ทั้งมวลในเรื่องด้วยซ้ำ เพราะไม่มีใครที่ดูจะคิดได้ว่า ควรจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยความกลัวให้ครอบงำ จนไม่ทำอะไรจนทุกอย่างมันเดินมาใกล้วันสุดท้าย
ผมยังไม่เคยอ่านหนังสือ อาจจะตัดสินอะไรได้ไม่ครบ แต่หลังจากดูหนังแล้ว ก็ยังไม่มีความคิดจะอ่าน วุฒิภาวะผมคงยังไม่สูงพอ คงต้องใช้เวลา
ว่าแต่ ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ท้องร้องขึ้นมาทันที ที่ได้เห็นฉาก “ยายทอดไข่เจียว” นั่น
ชื่อภาพยนตร์ : ความสุขของกะทิ
บทประพันธ์ : งามพรรณ เวชชาชีวะ (นิยายสั้นรางวัลซีไรท์ ปี 2549)
บทภาพยนตร์ : เจนไวยย์ ทองดีนอก, งามพรรณ เวชชาชีวะ
กำกับภาพยนตร์ : เจนไวยย์ ทองดีนอก
อำนวยการสร้าง : สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมงานสร้าง : จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ, สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา
บริษัทภาพยนตร์ : ภาพยนตร์ชูใจ
นักแสดง : สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, จารุวรรณ ปัญโญภาส, กฤษฎา สุโกศล แคลปป์,
เข็มอัปสร สิริสุขะ, ไมเคิล เชาวนาศัย, รัชนก แสง-ชูโต, นิธิศ โค้วสกุล, ภัสสร คงมีสุข
อ่านและดูแล้วเหมือนกัน อีก 2-3 วัน จะมาคุยด้วยครับ
: )
เคยอ่านหนังสือมาก่อนแล้ว ยังคิดๆ อยู่ว่าจะไปดูดีไม๊ (กลัวโดนจินตนาการของตัวเองทำลายหนังเข้า) ในหนังสือก็ดำเนินเรื่องแบบนี้ล่ะค่ะ ช้าๆ เรื่อยๆ เหมือนประตูห้องที่ค่อยๆ เปิดออกทีละบาน :-)
อยากไปดูเรื่องนี้เหมือนกันอะคะ แต่ว่ายังไม่มีเวลาเลย = =
เรื่องนี้ให้ความรู้มากมายหลายชนิดชอบเรื่องนี้มากเลย
หวังว่าเด็กไทยจะชอบอ่านหนังสือนะ
สนุกมากๆ เลยนะเรื่องนี้ชอบน้องพลอยมากๆ เลยคับ