กลายเป็นซีรีส์ Netflix Originals ที่ได้รับความนิยมไปอย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่น่าจะเป็นคนกลุ่มไม่ใหญ่ที่สนใจ แต่ถ้ามองไปอีกที ธุรกิจและไอทีเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ผู้เป็นเป้าหมายสำคัญของ Netflix รวมทั้งยังมีนักแสดงนำเป็น นัมจูฮยอก และซูจี นั่นจึงน่าจะทำให้ซีรีส์เกาหลีอย่าง ‘Start-Up สตาร์ทอัพ’ ติดลมบนได้ในช่วงนี้
บัดนี้ คงได้เวลาดีดีที่แพทโซนิคจะหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าจะมีส่วนส่งเสริมให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นที่นิยมของผู้คน เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยจากที่ค่อยๆ ดูทีละตอนสองตอน และมองเห็นอะไรบางอย่างนั้น
แล้วค่อยๆ หยิบมาเขียนเล่ารวมกันในบทความนี้
ผสมเรื่องรัก ครอบครัว บุญคุณ เข้ากับธุรกิจได้อย่างลงตัว
ถ้าใครได้ดูมาตั้งแต่ต้นก็จะพบว่า แม้ชื่อเรื่องจะตั้งใจบอกว่ามันคือซีรีส์ของเหล่าหนุ่มสาวที่สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ความจริงแล้ว คนเขียนบทยังคงหยิบองค์ประกอบสำคัญของซีรีส์เกาหลีมาใส่ไว้ทั้งยังทำให้มันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
เรื่องราวของครอบครัวก็มีทั้งปมของพี่สาวน้องสาวที่ขัดแย้งและแข่งขันกันโดยมีสาเหตุมาจากปมในอดีต พ่อแม่แยกทาง สองคนต้องแยกจาก คนหนึ่งเลือกแม่ที่ได้สามีใหม่ร่ำรวย กับอีกคนหนึ่งที่เลือกพ่อผู้มุ่งทำธุรกิจใหม่แต่ดันมาตายจากเสียก่อน ไม่พอยังมีเรื่องของพ่อหนุ่มน้อยที่คุณย่าของนางเอกเคยช่วยเหลือเอาไว้ในอดีต ก่อนจะเหินห่างและกลับมาพบกันใหม่ในวันที่เขากลายเป็นผู้ดูแลสตาร์ทอัพซึ่งหนึ่งในนั้นคือนางเอก
ไม่พอมันจะยังเล่าถึงเรื่องรัก เมื่อพ่อหนุ่มน้อยในอดีตของคุณย่า ได้มาพบกับนางเอกอีกครั้ง ในวันที่เขาเริ่มรู้สึกมีใจก็ได้พบว่าเธอมีคนข้างกายเป็นหนุ่มเนิร์ดที่อยู่ในบริษัทเดียวกับเธอ และเขายังต้องไปช่วยสนับสนุนธุรกิจของหนุ่มคนนั้น แถมยังมีความลับบางอย่างที่จำเป็นต้องปิดเพราะบุญคุณที่มีในอดีตและต้องการตอบแทน
ดูๆ ไปก็ได้แต่นั่งคิดว่า นางเอกกับนางรอง วันหนึ่งจับมือร่วมกันทำธุรกิจไหมนะ
ซับซ้อนหลายขมวด กับตัวละครที่เพิ่มมาเรื่อยๆ
ต้องชื่นชมความสามารถในการผูกเรื่องให้ซับซ้อนได้หลายขมวดของมือเขียนบทจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พ่อของนางเอกคือคนที่เคยมาขอทุนทำธุรกิจกับประธาน ก่อนประธานจะนำแนวคิดนั้นมาสร้าง Sand Box หลังเขาจากไป แล้ววันหนึ่ง ลูกสาวของเขาทั้งสองก็ต้องมาแข่งขันในเชิงธุรกิจใน Sand Box
หรือการที่พระรองเคยได้รับความช่วยเหลือจากคุณย่าของนางเอก ก่อนที่จะห่างเหินไปแล้วกลับมาเจอกับคุณย่าอีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่าเขาต้องเป็นทั้งผู้ที่โอบอุ้มสนับสนุนธุรกิจที่นางเอกเข้าไปเป็นประธาน ทั้งยังต้องตอบแทนบุญคุณของคุณย่าด้วยการปิดบังความจริงกับนางเอกต่อไป ทั้งยังต้องกลายเป็นคู่แข่งหัวใจกับเด็กหนุ่มที่เจ้าของธุรกิจอีกด้วย
ไม่พอ คนเขียนบทยังคงใส่ปมเข้ามาชวนสงสัยอยากติดตามไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของข้อความปริศนาที่ต้องการเข้ามาใน Sand Box เพื่อ “การแก้แค้น” เจ้าของดอกไม้สีขาวบนสะพานที่ประธานแซนด์บ็อกซ์มาเห็น ตัวละครอย่างอเล็กซ์ ชายเกาหลีในบริษัทยักษ์ต่างชาติที่สนใจในตัวพระเอก เขาจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในอนาคต หรือเพื่อนของพระเอกที่นางเอกติดรถไปด้วยนั้นจะเป็นใคร
นอกจากนี้ ยังมีความลับอีกหลายอย่างที่เปิดเพิ่มเข้ามาและค่อยคลี่คลายความลับก่อนหน้าไปอีกด้วยนะ
ความหลอกลวงที่สร้างกับดักให้กับตัวเอง
เรื่องของความลับมักชักชวนให้เกิดความอยากรู้ว่า วันใดมันจะถูกเปิดเผย ในเรื่องนี้เพียงผ่านไปครึ่งเรื่องก็มีทั้ง ความลับของจดหมายในวัยเด็กที่นางเอกได้รับผ่านทางคุณย่า เมื่อโตมาก็ได้พบเจอกับทั้งคนที่เขียนมันกับคนที่ถูกอ้างชื่อ ทั้งสองต้องร่วมกันปกปิด/ปลอมตัว/หลอกลวงนางเอกแต่ในใจกลับต้องรู้สึกผิด เมื่อคิดจะเปิดเผยความจริงก็มีเรื่องอาการป่วยของคุณย่าเพิ่มเติมเข้ามาอีก
ทำให้พูดความจริงไม่ได้สักที
เมื่อเรื่องราวผ่านไป ปริศนาก็ค่อยๆ เปิดเผยไปทีละชั้น ทำให้ยิ่งน่าติดตาม เช่น นางเอกจะรู้ไหมว่าคนที่เขียนจดหมายจนกลายเป็นรักแรกนั้น แท้จริงเขาคือใคร ความลับของคุณย่าที่ทั้งพระเอกพระรองต้องช่วยกันเก็บซ่อนเอาไว้ มันคืออะไร และอีกหลายต่อหลายอย่างที่ทำให้ผู้ชมต้องตามลุ้น
พระเอกกับพระรองมีศักดิ์ศรีความดีเท่ากัน
เริ่มต้นเรื่องมานี่ ซีรีส์เน้นเรื่องไปที่พระรองก่อนเลย คุณความดีในตัวเขานี่ทำให้หลายคนยืนเชียร์บอกว่า เขาควรเป็นพระเอก ขณะที่พระเอกกลับปรากฏตัวขึ้นทีหลัง เหมือนจะกลายเป็นคนที่หยิบชิ้นปลามันไปกินก่อน เพราะเป็นคนที่ได้ใจนางเอกไปขณะที่พระรองก็งกๆ เงิ่นๆ อยู่ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักที ได้แต่ทำให้ตัวเองดิ้นไม่หลุดต้องช่วยเหลือพระเอกที่กลายเป็นหอกข้างแคร่ให้กับตน
คนเขียนบทก็พยายามเหลือเกินที่จะให้พระรองที่เพิ่งจะรู้สึกตัวทีหลังว่าหลงรักนางเอก ยังคงมีหวังจะได้ใจนางเอกมาครองในบั้นปลาย ด้วยคำพูด สายตาหรือการกระทำ บวกกับการใส่ลักษณะนิสัยที่ดีแสนดีเข้ามา ทำให้ผู้ชมมากมายที่เลือกจะรักพระรองมาก ถึงขนาดเข้าใจผิด ไม่ก็อยากให้เขาเป็นพระเอกแทนด้วยซ้ำ
แต่คนดูก็ยังคงต้องเหมือนคนรักพี่เสียดายน้องอยู่ร่ำไป ยิ่งนานวัน เรายิ่งได้เห็นความดีของทั้งสองคน ความดีงามในความรู้จักบุญคุณคน เห็นพระรองที่ยังคงกลับมาดูแลคุณย่าไม่ได้ขาด ฉากพระรองผูกรองเท้าให้คุณย่ามันฟูใจมาก ขณะที่เราได้เห็นจิตใจที่ดีงามของพระเอก เขาเคยโกงข้อสอบจนคว้าเหรียญแต่กลับจมจ่อมอยู่กับความผิดหวังในตัวเองจนถึงตอนโต
และอีกมากมายที่ต้องติดตามดูเอาเอง
เล่าเรื่องให้เข้าใจธุรกิจ สตาร์ทอัพ แต่ย่อยให้เข้าใจง่าย
ในแต่ละตอนของซีรีส์เรื่องนี้จะมีรายละเอียดบางส่วน คำพูดบางคำที่เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้ในวงการสตาร์ทอัพ ซึ่งจำเป็นพอประมาณสำหรับผู้ชมที่ต้องการจะดูให้รู้เรื่องจำต้องศึกษาข้อมูลคำศัพท์เพิ่มเติม เพื่อเสริมความเข้าใจ
เท่าที่เห็นในชื่อตอนเองก็จะบ่งบอกรายละเอียดและปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับคนที่อยู่ในวงการนี้ และนี่คือตัวอย่าง…
ตอน 1 Start-Up – 1. เริ่มต้น 2. ธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆ – เรื่องราวของจุดเริ่มต้นของตัวละครหลักอย่างพระรองและนางเอกที่พบเจอกันผ่านตัวอักษร และชีวิตครอบครัวที่แตกแยกกับพ่อผู้ต้องการจะสรรค์สร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง
ตอน 2 Family Friends Fools – มีเพียงครอบครัว เพื่อน คนโง่ เท่านั้นที่กล้าลงทุนให้กับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ – เรื่องราวของธุรกิจที่ครอบครัวเป็นคนลงทุนให้
ตอน 3 Angel – นักลงทุนที่ให้คำแนะนำทางธุรกิจและสนับสนุนเงินให้สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น – ได้เวลาที่เหล่าคนผู้มีความฝันอยากจะตั้งธุรกิจของตนเอง จะได้พบกับพื้นที่ที่จะโอบอุ้มพวกเขาให้เติบโตผ่านการเข้ามาลงทุนแล้วล่ะ
ตอน 4 Sand Box – 1. สนามเด็กเล่นที่เททรายไว้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ 2. สภาพแวดล้อมเพื่อการทดสอบและพัฒนา 3. ระบบที่ช่วยยืดเวลาจนกว่าสินค้าจะถูกปล่อยออกมา – เราได้รู้จักต้นกำเนิดและที่มาขององค์กรที่ทำตัวเหมือนสนามเด็กเล่นที่มีทรายเป็นสิ่งรองรับการล้มของธุรกิจ
ตอน 5 Hackathon – คำผสมระหว่าง ‘แฮกกิ้ง’ และ ‘มาราธอน’ กิจกรรมที่ผู้แข่งขันรวมทีมกัน สร้างโมเดลธุรกิจในเวลาจำกัด – งานกิจกรรมแข่งขันสร้างธุรกิจที่เคยเกิดขึ้นแล้วในไทยช่วงที่สตาร์ทอัพกลายเป็นเทรนด์ใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง
ตอน 6 Key Man – บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในองค์กร – ตอนนี้จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องของสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ควรจะเป็นในธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องสู่การมีอำนาจตัดสนใจในองค์กรและต้องรองรับการมาของผู้ลงทุนด้วย
ตอน 7 Burn Rate – อัตราการเผาผลาญเงินในการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพ – เมื่อได้เงินทุนมาต้องมีการจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้ทุนหมดไปอย่างรวดเร็วก่อนจะถึงวันเดโมเดย์
ตอน 8 Back Up – การคัดลอกข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่ต้นฉบับเสียหาย – ตอนนี้นอกจากเล่าเรื่องของการแบ็กอัพข้อมูลแล้ว ก็ยังจะเล่าเรื่องของไอเดียธุรกิจของนางเอกซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับคนใกล้ชิดของเธอ
ตอน 9 Risk – ความเสี่ยงที่ขึ้นอยู่กับการลงทุน ผลที่ออกมาอาจดีหรือร้าย – ไม่ว่าไอเดียของธุรกิจจะดีหรือน่าสนใจอย่างไร หลายไอเดียก่อผลเสียของบางสิ่งติดตามมา อาจเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องคำนึงถึง
… แปะไว้แค่นี้ก่อนก็แล้วกัน เผื่อหลายคนที่อยากจะดูซีรีส์เรื่องนี้จะได้ติดตามส่วนที่เหลือเอาด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ในแต่ละตอน ถ้ามีคำศัพท์บางคำที่ใช้กันในเชิงธุรกิจและมีตัวละครพูดคุย ทางทีมงานก็จะขึ้นคำอธิบายบอกกำกับไว้ด้วยเสมอ ใส่ใจในรายละเอียดมากเลยทีเดียวนะ
อาจมีตกหล่นหรือไม่ครบถ้วนบ้าง หรืออาจจะใส่ข้อมูลเยอะไป เหมือนจะเป็นสปอยล์สำหรับคนที่ไม่ได้ดูบ้าง (แต่ไม่เขียนถึงก็เหมือนแตะเรื่องเพียงเบาๆ แต่จะไม่รู้อะไรเลย) แต่ถ้านึกได้ก็มาเพิ่มเติมอีกทีนะครับ