กระแสของเคซอมบี้มีมาสักพักใหญ่แล้ว แม้ระยะหลังเหมือนจะซาๆ ลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีการสร้างออกมาอย่างต่อเนื่อง และแต่ละครั้งก็จะพยายามฉีกแนวออกไป ไม่ให้ซ้ำทางเดิม เมื่อโลกนี้มีซอมบี้บนรถไฟแล้ว ซอมบี้โชซอนก็มีแล้ว ซอมบี้ในอพาร์ทเมนต์ก็มีแล้ว คงได้เวลาที่จะเล่าเรื่องซอมบี้ที่ระบาดในโรงเรียนกันบ้าง วันนี้ จึงได้มีซีรีส์เกาหลีใต้ที่ชื่อว่า ‘มัธยมซอมบี้’ หรืออีกชื่อ ‘All of Us Are Dead’ ไงล่ะครับ
ใช่แล้ว เรื่องราวซอมบี้ระบาดหนนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง จากเหตุเล็กๆ จากคนๆ เดียว ก่อเกิดเหตุการระบาดอันน่าสะพรึงกลัวไปทั่วเมืองฮโยซัน ผลงานซีรีส์ที่กำกับโดย Kim Nam Soo/คิมนัมซู ที่ดัดแปลงเว็บตูนผลงานของ Lee Jae Kyu/อีแจคยู มาสร้าง โดยได้นักแสดงวัยรุ่นมากหน้ามารับหน้าที่ตัวเดินนำ และมีกลุ่มนักแสดงวัยผู้ใหญ่ [ที่คุ้นหน้า] มาเสริมให้เรื่องราวมีหลากหลายแง่มุมขึ้น
หลังจากรอมาแรมเดือนก็ได้เวลานั่ง-นอนดูกันเสียที
เรื่องย่อซีรีส์ ‘All of Us Are Dead’
เหตุมันเกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมฮโยซันในเมืองฮโยซัน ที่จู่ก็เกิดเหตุระบาดของไวรัสซอมบี้ขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ชีวิตวัยเรียนอันสดใสของพวกเขาต้องพังทลายลง เมื่อต่างคนที่เหลือชีวิตอยู่ต้องเอาตัวให้รอดไปจากดงซอมบี้ที่คือโรงเรียนของพวกเขาแห่งนี้
ก่อนเหตุระบาด นัมอนโจ (Park Ji Hu/พัคจีฮู จากซีรีส์ ‘Beautiful World’ และหนัง ‘Fabricated City’) คือเด็กสาวที่แอบชอบ อีซูฮยอก (Park Solomon/โรมน จากซีรีส์ ‘Sweet Revenge’) หนุ่มสุดหล่อร่วมชั้น ถึงขั้นสารภาพรักบวกขอคบ โดยไม่รู้เลยว่า ซูฮยอกนั้นมีใจให้กับหัวหน้าห้องสาวสวยอย่าง ชเวนัมรา (Cho Yi Hyun/โจอีฮยอน จากหนัง ‘Metamorphosis’ และซีรีส์ ‘Hospital Playlist’) และอนโจก็ไม่ได้ระแคะระคายเลยว่า อีชองซอน (Yoon Chan Young/ยุนชานยอง จากซีรีส์ ‘Do You Like Brahms?’ ) เพื่อนสนิทข้างบ้านนั้นแอบชอบเธอ รักสี่เส้าจึงได้เกิดขึ้นก่อนวิกฤติซอมบี้ และยังคงเกิดขึ้นต่อไปในระหว่างวิกฤตินั้น
เมื่อคุณครูวิทยาศาสตร์อีบยองชาน (Kim Byung Chul/คิมบยองชอล จากซีรีส์ ‘Sisyphus: The Myth’) กักขังลูกศิษย์สาวไว้ในห้องวิทย์ จากนั้น เหตุอันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
การขอความช่วยเหลือจากตำรวจดูจะไม่เป็นผล และผู้คนในโรงเรียนต่างก็ติดเชื้อมากขึ้นทุกที เหล่านักเรียนที่ยังเหลืออยู่เพียงหยิบมือต้องเลือกว่า จะรอความช่วยเหลือที่มองไม่เห็นวี่แวว หรือจะฝ่ามันออกไปแม้โอกาสรอดริบหรี่เต็มที
รีวิวซีรีส์ ‘มัธยมซอมบี้’
เริ่มต้น หนังก็จัดใส่เข้ามาทันที เรื่องราวที่มักเกิดขึ้นในวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่าน การแสวงหาตัวตนและการยอมรับ หลายคนเลือกจะโดดเด่นด้านการเป็นหัวโจก กระทำการอันชั่วช้า ส่วนหนึ่งอาจเพื่อปกปิดความขี้แพ้ของตนเอง แต่นั่นก็อาจก่อให้เกิดเหตุอันไม่คาดคิด ในที่นี้ ก็คือ วิกฤติซอมบี้นั่นยังไงล่ะครับ
แต่ละแง่มุมของแต่ละคาแร็กเตอร์เด็กมัธยม
ซีรีส์นำพานักแสดงที่คุ้นหน้ามาอย่างน้อยสองคน หนึ่งคือ Lee Yoo Mi/อียูมี (จากซีรีส์ ‘Squid Game’) ที่หนนี้เล่นเป็นอีนายอน หญิงสาวที่ปากร้าย ขี้โวยวายและเห็นแก่ตัว หลายคนชื่นชมในลีลาการแสดงของ อียูมี กับการพลิกบทบาทมันเป็นหญิงวัยรุ่นขี้เหวี่ยงขี้วินแถมเห็นแก่ตัวสุด คนดูคงหมั่นไส้จนอยากโหวตออก คงรำคาญจนอยากเขวี้ยงมือถือใส่
กับอีกคนคือ Jung Yi Seo/จองอีซอ (จากซีรีส์ ‘Snowdrop’, ‘Mine ธาตุแท้’ และหนังเรื่อง ‘Parasite ชนชั้นปรสิต’) ที่หนนี้เล่นเป็น คิมฮยอนจู ผู้ที่ถูกครูวิทยาศาสตร์ล่ามไว้ในห้องวิทย์เหตุเพราะเธอถูกหนู[แฮมสเตอร์]ทดลองกัด และเธอก็กลายเป็นคนที่แพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ
ต้นเหตุของไวรัสซอมบี้ระบาดครั้งนี้ แตกต่างจากที่แล้วมา เมื่อครูหนุ่มมองเห็นลูกที่กลายเป็นเด็กขี้แพ้จึงเลือกทดลองสร้างไวรัสที่ดึงสัญชาตญาณดิบเถื่อนของมนุษย์ขึ้นมาและทำให้ลูกตัวเองติดเชื้อ เผื่อว่าลูกตนจะกลายเป็นคนกล้าสู้คนขึ้นมาบ้าง ช่างเป็นความคิดสุดโต่งเสียจริงๆ แถมยังทำให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็นโลกของซอมบี้ไปอีกต่างหาก
แง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ของหลายตัวละครก็นับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของการบูลลี่ในโรงเรียน เด็กบางคนมองตนเป็นคนขี้แพ้ ยอมให้พวกกากเดนกดหัว ยอมให้พวกมันถ่ายคลิปเปลือยท่อนบน แล้วบังคับให้อีกคนถ่าย ขู่ว่าจะอัปคลิปประจาน
นอกจากนี้ ก็เป็นความรักในช่วงวัยรุ่น รักสามสี่เส้า การแอบรัก อะไรแบบนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นกันได้ทั่วไปในซีรีส์เกาหลี แต่ก็มีมุมของความเป็นเพื่อนสนิทอยู่ในนั้นด้วย เมื่อพบว่าเพื่อนต้องกลายเป็นซอมบี้ คงจะทำใจรับได้ยากแต่ก็จำเป็นต้องยอมรับให้เร็ว
การตอบสนองต่อวิกฤติไวรัสซอมบี้…ในแบบเด็กมัธยม?
การตัดสินใจของตัวละคร บางทีก็แปลกๆ น่าจะทำแบบนั้นแต่ก็ไปทำอีกแบบ เป็นต้น ทำให้รู้สึกว่า นี่เขาจะสื่อว่ามันเป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องความคิดและการตัดสินใจในแบบเด็กมัธยมฯ ใช่หรือไม่
อาจเพราะทีมงานมองว่าทุกคนต่างก็เป็นแค่นักเรียน ไม่ทันคิดหรือแม้จะดูหนังหรือซีรีส์ซอมบี้มามาก พอถึงเวลาจริงอาจคิดอะไรไม่ค่อยออก จึงแก้ปัญหาไปตามที่ตนพึงจะคิดได้ บางตัวก็อ่อนไหวเกิน ในขณะที่ซอมบี้กำลังจะไล่กัดจะถึงอยู่รอมร่อ ก็ยังมัวนิ่งอึ้งกลายเป็นตัวภาระของเพื่อน บวกกับความโหดในใจยังไม่มากพอ ไม่อาจแข็งใจฆ่าเพื่อนนักเรียนที่กลายร่างเป็นซอมบี้ไปแล้วได้ ส่วนใหญ่จึงมักทำได้เพียงปัดป้อง ทำให้ซอมบี้พวกนั้นแทบมิได้ลดจำนวนลง
จะว่าไปก็เปลืองแรงมิใช่น้อยเลย
อันที่จริง ก็ไม่เพียงขัดใจในการตอบโต้สถานการณ์วิกฤติในแบบเด็กมัธยมหรอกนะ แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ทำอะไรชวนขัดใจไม่แพ้กัน ผู้ปกครองของเด็กบางคนที่เห็นลูกไม่กลับบ้าน ก็ไม่ดูตาม้าตาเรือ ขนาดรู้ข่าวว่ามีการระบาด ก็ยังเดินดุ่ยๆ มือให้ซอมบี้กัดซะอย่างนั้น
ถ้าดูเอาบันเทิงก็ถือว่าเป็นซีรีส์ที่ดูเพลินๆ ได้อยู่ ภายในนั้นก็อาจจะทำให้มองเห็นวิธีการรับมือกับภัยซอมบี้ระบาดได้พอควร
สิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็น ในซีรีส์ ‘มัธยมซอมบี้’
บางช่วงของซีรีส์ ดูมีความโดดเด่นในการสร้างและถ่ายทำ บางครั้งก็ใช้วิธีลองเทคในช่วงของการวิ่งหนีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ซอมบี้วิ่งไล่ครั้งแรกๆ ในโรงเรียน ซึ่งก็สร้างความตื่นเต้นและตื่นตาได้มากทีเดียว นอกจากนั้น ก็ยังอีกหลายสิ่งที่นึกออก อย่างเช่น
ขยายเรื่องราวไปไกลกว่าแค่ในโรงเรียน
เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาในโรงเรียน นักเรียนย่อมคาดหวังในตัวอาจารย์เป็นลำดับแรก แต่ก็ตามเคย ผอ. มักตัดสินใจปิดข่าวเอาไว้ก่อน และเลือกจะแก้ไขกันเองภายใน แต่สุดท้ายก็เห็นอยู่ว่าไม่รอด เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหวังถัดไปก็คงเป็นตำรวจและทหาร ซึ่งก็ดูเหล่านักเรียนที่เหลือรอดจะมีบางคนที่ไม่เชื่อว่าสองเหล่านี้จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
คนใหญ่คนโตอย่าง ส.ส. ดูจะได้รับการปฏิบัติอย่างดี แตกต่างจากประชาชนคนธรรมดาราวฟ้ากับเหว เรื่องการช่วยเหลือก็เหมือนกัน พวกเขามักจะเลือกเอาเฮลิคอปเตอร์มารับคนใหญ่คนโตและละเลยไม่สนใจเหล่าเด็กนักเรียน ทั้งๆ ที่ในสังคมนั้น จำเป็นต้องมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่กลับกลายเหมือนว่า สังคมจะเลือกเก็บผู้ใหญ่ไว้ แต่ไม่สนใจเด็กๆ ที่เป็นความหวังซะอย่างนั้น
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สอดแทรกเอาไว้
- อาจมีบางประโยคที่ชวนสะกิดใจ ในภาวะที่ทุกสิ่งรุมเร้าจนแทบมองไม่เห็นความหวัง หากคิดไปแล้วว่าสิ้นหวัง นั่นคงเป็นความสิ้นหวังที่แท้จริง, จะยากดีมีจน ก็สามารถพบเจอกับอุบัติเหตุได้ทั้งหมด เพราะอุบัติเหตุมันไม่เลือกฐานะนี่นา
- ซีรีส์บอกเล่าเบาๆ ถึงโลกในเกาหลีที่ยังมีเรื่องชนชั้นแทรกซึมอยู่ เด็กบางคนที่พ่อแม่ได้เบี้ยเลี้ยง จะถูกมองเป็นคนที่ชนชั้นต่ำกว่า เป็นสิ่งที่พาให้อีกคนดูถูกดูแคลนและยกตนเป็นชนที่เหนือกว่า ส่วนคนใหญ่คนโตอย่าง ส.ส. ก็ยังคงเป็นพวกที่มีอภิสิทธิ์แม้ในยามวิกฤติโรคระบาด
- ไอเดียของการสร้างไวรัสซอมบี้กลายเป็นการดึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ขึ้นมาแทนที่จะเก็บกดมันไว้ และคาดหวังว่าจะเกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งและล่าล้างพันธุ์เก่า
- ความขัดแย้งระหว่างช่วงวัย เด็กที่ไม่เชื่อใจผู้ใหญ่ มองว่าพวกตนคือความหวัง เมื่อเจอวิกฤติ กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะคิดว่าพวกเขาเป็นแค่เด็กนักเรียน
โดยรวมๆ ก็แล้วกัน
ส่วนตัวนั้น มองว่า การถ่ายทำ การเคลื่อนและมุมกล้องนั้น มัธยมซอมบี้ ทำได้ดี ส่วนการเมกอัพต่างๆ ก็ทำได้ไม่เลว ขณะที่ดนตรีประกอบก็โอเค ชวนเร้าใจกับเหตุการณ์ได้ นักแสดงแต่ละคนที่มีบทต้องเล่นเป็นซอมบี้ก็ทำหน้าและท่าทางชักกระตุกได้ดี จะมีก็แต่บทที่ดูเหมือนพยายามจะแตกต่างจากหนัง/ซีรีส์เรื่องอื่นๆ แต่ก็ไม่แตกต่างมากเท่าไหร่ มีตัวรำคาญพอให้รู้สึกบ้าง แต่พฤติกรรมและความคิดตัวละครต่างๆ ดูจะชวนขัดใจอยู่ไม่น้อย บางทีก็เหมือนจะจงใจเพื่อให้เกิดซีนเท่ๆ ที่ต้องการ ผสมกับบทบางส่วนที่ดูไม่น่าเชื่อสักเท่าไหร่
แต่อะไรก็คงไม่ขัดใจเท่ากับการที่เขาเขียนบทให้ตัวร้ายมักได้สกิลดีๆ ไป ไวรัสซอมบี้ในเรื่องนี้กลายพันธุ์บ๊อยบ่อย และก็มักจะเป็นตัวร้ายที่ได้มันไป
รายละเอียดเกี่ยวกับซีรีส์
ชื่อซีรีส์ | All of Us Are Dead / มัธยมซอมบี้ / Now at Our School / 지금 우리 학교는 |
ผู้กำกับ | Lee Jae Kyu, Kim Nam Soo (เจ้าของผลงานอย่าง ‘The King 2 Hearts’, ‘Beethoven Virus’) |
ผู้เขียนบท | Joo Dong Geun (webcomic), Chun Sung Il |
นักแสดง | Park Ji Hoo/พัคจีฮู, Yoon Chan Young/ยุนชานยอง, Cho Yi Hyun/โจอีฮยอน, Park Solomon/โรมน, Yoo In Soo/ยูอินซู, Lee Yoo Mi/อียูมี, Yoo In Soo/ยูอินซู |
แนว/ประเภท | Drama, Action, Fantasy, Horror, Sci-Fi, Thriller |
จำนวนตอน | ซีซัน 1: 12 ตอน |
ช่องทางรับชม | Netflix |
ผู้ผลิต/เจ้าของลิขสิทธิ์ | Film Monster Co., JTBC Studios, Kimjonghak Production Co., Netflix |
คะแนนซีรีส์ มัธยมซอมบี้
บทและพล็อต - 6.4
การแสดง - 7.5
การดำเนินเรื่อง - 7.1
ดนตรีประกอบ - 7.4
โปรดักชั่นและเทคนิคงานภาพ - 7.6
7.2
All of Us Are Dead
ซีรีส์ที่เล่าเรื่องวิกฤติซอมบี้บุกโรงเรียนมัธยม กับการแก้ปัญหาในแบบเด็กนักเรียน ใส่คาแรกเตอร์เด็กหลายแบบที่สร้างให้เกิดทั้งปัญหาและการแก้ไขสถานการณ์ เดินเรื่องด้วยวิธีการอันหลายหลาก เล่นทั้งลองเทค เล่าแม้กระทั่งยูทูบเบอร์ที่ทำทุกอย่างเพื่อยอดวิว แต่ซีรีส์ชวนปวดหัวเพราะความยุ่งเหยิงของเหล่าเด็กนักเรียนกลุ่มตัวเอก อาจสร้างความรู้สึกรำคาญใจแต่ก็ยังพอจะมีแรงเฉื่อยให้ติดตามไปจนจบเรื่อง