พล็อตฆาตกรต่อเนื่องมักถูกหยิบมาเล่าอยู่บ่อยครั้งในซีรีส์เกาหลี บางครั้งก็ให้เป็นตัวร้าย บางรายก็เลือกให้เป็นตัวเอก แต่คงไม่มีครั้งไหนก็สร้างเรื่องตัวเอกที่กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่สังหารแต่เหล่าฆาตกรต่อเนื่องเช่นนี้ ‘A Killer Paradox’ ชื่อไทย ‘หน้ากากความยุติธรรม’ ซีรีส์เกาหลีที่รีเมกจากเว็บตูนและเป็นออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์ ตีแผ่ด้านมืดของจิตใจมนุษย์ และเชือดเฉือนความยุติธรรมในสังคม ยาว 8 ตอนเท่านั้น ดูวันเดียวก็จบ เลยหยิบมาเขียนบอกเล่าให้อ่านกัน
ความคิดเห็นส่วนตัวของนายแพท
เมื่อหนุ่มนักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์ร้านสะดวกซื้อ เกิดเผลอไปฆ่าคนตาย ก่อนที่เรื่องจะยิ่งบานปลายเพราะมีตำรวจมือดีเข้ามาพัวพัน ซีรีส์เกาหลีที่เริ่มต้นเล่าอย่างปั่น มีทั้งเรื่องจริง เรื่องฝัน เรื่องคิดไปเอง สลับไปมาซึ่งต้องใช้สมาธิในการดูพอสมควรไม่งั้นมีงงและหลงทาง แต่ต่อมาก็หันมาเล่าจริงจังมากขึ้น เรื่องเดินอย่างไม่ยืดเยื้อทำให้น่าติดตาม น่าสนใจที่เขาตั้งคำถามว่า ถ้าคนเรามีพลังในการพิพากษาชีวิตคนชั่วแทนกฎหมาย เขาจะเป็นพระเจ้าหรือแท้เป็นคนบาป
ซีรีส์เปิดให้ชเวอูซิกได้เล่นเป็นคนจนอีกครั้ง ทั้งได้เล่นเป็นชายหนุ่มโทรมๆ ที่แทบไม่เหลือเค้าความหล่อ และต้องมาเจอกับซนซอกกูที่เป็นสายสืบไว้เคราเฟิ้ม ไม่เท่านั้นก็ยังจะได้เจอกับ อีฮีจุน ผู้เป็นอดีตตำรวจมีบุคลิกดาร์กๆ ที่ทำให้เรื่องราวคาดเดายากขึ้นไปอีกขั้น
เรื่องย่อซีรีส์ ‘A Killer Paradox’
อีทัง (Choi Woo Sik/ชเวออูชิก จากซีรีส์เรื่อง ‘Our Beloved Summer’ และหนังเรื่อง ‘The Witch: Part 1. The Subversion’) เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ทำงานพาร์ทไทม์อยู่ในร้านสะดวกซื้อ ที่บังเอิญไปอยู่ในเหตุต่อสู้กันของคนเมาสองคน ก่อนจะพลั้งมือฆ่าหนึ่งในสองนั้นอย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งส่งผลให้เขาตายสนิท อีทังคิดว่าชีวิตนี้คงแย่แล้ว แต่ปรากฏว่า ชายคนนั้นเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ตำรวจกำลังตามจับมานานถึง 4 ปี
จากนั้น อีทังก็เริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความสามารถพิเศษในแยกแยะได้ว่าคนไหนเป็นคนร้ายผู้ที่สมควรตาย ไม่นาน อีทังก็พบว่าตัวเองได้กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องหลังสังหารคนเลวครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่มีทางเล็ดรอดจากสายตาของตำรวจสายสืบมือฉมังไปได้ สายสืบจางนันกัม (Son Suk Ku/ซนซอกกู จากเรื่อง ‘My Liberation Notes’ และ ‘D.P. Season 2’) ผู้รับผิดชอบสืบคดีการตายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในละแวกที่อีทังพักอาศัยอยู่ ด้วยสัญชาตญาณนักสืบพาเขาไปพบกับผู้ต้องสงสัยอย่างอีทัง ขณะที่อดีตสายสืบอย่าง ซงชน (Lee Hee Jun/อีฮีจุน จากซีรีส์เรื่อง ‘Mouse’ และหนังเรื่อง ‘Badland Hunters’) ก็กำลังไล่ล่าอีทังอยู่เช่นกัน
รีวิวซีรีส์ ‘หน้ากากความยุติธรรม’
“โทษอาชญากรรมจะเบาลงมั้ยนะ ถ้าเป็นการฆ่าโดยนังเอิญ” เป็นคำถามของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เกิดไปพลั้งพลาดก่ออาชญากรรมเข้าโดยไม่ตั้งใจ หลังเดินกลับบ้านผ่านเหตุชายสองคนทะเลาะกัน แล้วชายคนหนึ่งในนั้นก็ปรี่มาทำร้ายเขา ค้อนในมือที่กะจะยืมเจ้านายกลับไปตอกตะปูแขวนรูปในห้อง กลายเป็นอาวุธสังหารไปเสียฉิบ
แต่เวลาต่อมา การณ์กลับเป็นว่า ชายคนที่เขาฆ่าดันเป็นฆาตกรไซโคพาธ แถมค้อนที่ควรจะเป็นของกลางที่สาวเอาผิดมาถึงตัวเขาได้ มันกลับหายไป การพ้นผิดแบบงงๆ นี่เกิดขึ้นได้ยังไง ไม่มีใครรู้ แต่ว่ามันก็ไม่ได้เกิดขึ้นในครั้งเดียว มันเกิดขึ้นซ้ำๆ จนชายหนุ่มมองว่า เขามีความสามารถพิเศษที่จะแยกแยะคนร้ายออกจากคนดีได้ เมื่อไหร่ที่เขาฆ่า ผู้ตายจะต้องเป็นอาชญากรที่ทำความชั่วอะไรไว้สักอย่าง และต้องมีเหตุให้เขาไม่ต้องรับโทษเพราะไร้ซึ่งหลักฐาน แต่การลอยนวลเช่นนี้เป็นสิ่งถูกต้องงั้นหรือ?
ซีรีส์ที่เปิดให้ ชเวออูชิก ได้เล่นเป็นคนจนอีกครั้ง ทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ร้านสะดวกซื้อ ที่ได้รับสิทธิพิเศษในการสังหารคนชั่ว
แน่นอนว่า งานนี้ คนเขียนเขาคงไม่ปล่อยให้คนๆ นึงทำตัวเป็นพระเจ้าได้อยู่นานนักหรอก เพราะบทได้ส่งตำรวจสายสืบมาคอยไขคดีที่น่าสงสัยนี้ไปพร้อมกันด้วย ท่ามกลางความโชคเข้าข้างอย่างเหลือเชื่อของฆาตกรผู้ลอยนวลเพราะไร้หลักฐาน ก็ยังมีสุนัขจมูกดีที่เชี่ยวชาญการตามกลิ่นและกัดไม่ปล่อยมาเป็นคู่ปรับที่พาเรื่องให้ชวนติดตาม
ซนซอกกู ในเรื่องนี้ไว้หนวดเครา เป็นสายสืบจางที่ชอบอมหมากฝรั่ง คาแรกเตอร์เท่ๆ นี่ต้องยกให้เขาแหละ
แต่ภายในนั้นก็แทรกเอาเหตุอาชญากรรมหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลีเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการฆ่าพ่อแม่ของตนเอง ไม่ก็ฆ่าทั้งครอบครัวของคนอื่นเพื่อเอาเงินประกัน การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนแต่กลับโตมามีชีวิตที่ดี เรื่องของวัยรุ่นเลวที่กระทำย่ำยีเหยื่อ จนทำให้ได้อีกมุมมองว่า บางทีเหยื่อก็เป็นผู้กระทำได้เหมือนกัน นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องการฆ่าตัวตาย การทำร้ายประชาชนของตำรวจ การกระทำผิดกฎหมายของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และการถูกขู่แบล็กเมล์ด้วยรูปหรือคลิปโป๊จนต้องหลบลี้ไปมีชีวิตใหม่ในที่อื่น
ในด้านการดำเนินเรื่อง ซีรีส์เรื่องนี้อาจถูกใจบางคน และก็อาจจะไม่โดนต่อมใครบางเช่นกัน 2-3 ตอนแรกเน้นเล่าเรื่องช่วนปั่นประสาท เดินเรื่องด้วยช็อตสั้นๆ ที่บางทีก็เป็นแค่ความคิด จินตนาการ บ้างก็เป็นความฝัน มันเลยเป็นความจริงบ้าง ความมั่วบ้าง สลับกันไป ดูท่าทางคนตัดต่อคงกำลังมันมือ ต่อฉากได้สร้างสรรค์ดี เอาสองเหตุการณ์ที่อาจเป็นของคนละคนมาต่อกันได้ซะอย่างนั้น และถ้าดูแบบไม่โฟกัส ดูไปเพื่อหวังแค่ฆ่าเวลา ก็อาจจะมีมึนงงได้
ช่วงแรกนั้นถือว่าปั่นเก่งอยู่ แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ลีลาการปั่นก็ค่อยๆ ห่างออก แม้จะยังมีอยู่บ้างประปราย ทว่า เรื่องราวก็เดินไปอย่างเข้มข้น พอประมาณ และยังอยู่ในระดับน่าติดตามไปอย่างตลอดรอดฝั่ง ดูเหมือนตัวละครต่างๆ โดยเฉพาะตัวหลักต่างก็มีปมในอดีตเป็นของตนเอง ที่ผลักดันให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไรในเวลาปัจจุบัน
โดยรวม แม้จะชอบใจที่มันเดินเรื่องแบบปั่นๆ ดีในช่วงแรก แต่ก็ยังพอจะเข้มข้นอยู่บ้างในช่วงถัดๆ มา พล็อตก็ดูแปลกใหม่ดีที่สร้างให้ตัวเอกมีพลังในการมองเห็นคนชั่ว และตั้งคำถามถึงการใช้พลังนั้นเพื่อพิพากษาเอาชีวิตโดยไม่สนใจกฎหมายบ้านเมือง จริงๆ ก็อยากเห็นซีรีส์เกาหลีเดินเรื่องแบบนี้บ่อยๆ ไม่เน้นปล่อยซีนยาวจนต้องใช้เวลา 12-16 ตอนทั้งที่มันสั้นกว่านั้นได้นะครับ
รายละเอียดเกี่ยวกับซีรีส์
ชื่อซีรีส์ | A Killer Paradox / หน้ากากความยุติธรรม / Murder DIEary / 살인자ㅇ난감 |
ผู้สร้าง | Ggomabi |
ผู้กำกับ | Lee Chang Hee |
ผู้เขียนบท | Ggomabi (webcomic), Nomabi (webcomic), Kim Da Min |
นักแสดง | Choi Woo Sik/ชเวอูชิก, Son Suk Ku/ซนซอกกู, Lee Hee Joon/อีฮีจุน, Hyun Bong Sik/ฮยอนบงชิก, Kim Yo Han/คิมโยฮาน |
แนว/ประเภท | ระทึกขวัญ, อาชญากรรม, คอมเมดี้ |
จำนวนตอน | 1 ซีซัน: 8 ตอน |
ช่องทางรับชม | Netflix |
เริ่มออกอากาศ | 9 กุมภาพันธ์ 2024 |
ผู้ผลิต/เจ้าของลิขสิทธิ์ | Let’s Film, Showbox, Netflix |
คะแนนรีวิวซีรีส์ หน้ากากความยุติธรรม
พล็อตและบท - 8
การแสดง - 8
การดำเนินเรื่อง - 7.9
เพลงและดนตรีประกอบ - 7.9
งานภาพ เทคนิคพิเศษ โปรดักชั่น - 7.7
7.9
A Killer Paradox
เมื่อหนุ่มนักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์ร้านสะดวกซื้อ เกิดเผลอไปฆ่าคนตาย ก่อนที่เรื่องจะยิ่งบานปลายเพราะมีตำรวจมือดีเข้ามาพัวพัน ซีรีส์เกาหลีที่เริ่มต้นเล่าอย่างปั่น มีทั้งเรื่องจริง เรื่องฝัน เรื่องคิดไปเอง สลับไปมาซึ่งต้องใช้สมาธิในการดูพอสมควรไม่งั้นมีงงและหลงทาง แต่ต่อมาก็หันมาเล่าจริงจังมากขึ้น เรื่องเดินอย่างไม่ยืดเยื้อทำให้น่าติดตาม น่าสนใจที่เขาตั้งคำถามว่า ถ้าคนเรามีพลังในการพิพากษาชีวิตคนชั่วแทนกฎหมาย เขาจะเป็นพระเจ้าหรือแท้เป็นคนบาป