หลายคนคงแปลกใจว่า เหตุใดนายแพทจึงเพิ่งมาเขียนถึงอัลบั้มชุดนี้ ทั้งที่ก็วางจำหน่ายไปเนิ่นนานจนกระแสเริ่มซาแล้วแท้ๆ จริงๆ มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า ช่วงนี้ อยากจะเขียนเรื่องเพลงให้มันเยอะขึ้น ประกอบกับอัลบั้มชุดนี้ เคยซื้อไว้ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวอยู่แถวแม่ฮ่องสอน แต่ดันลืมไว้ในรถเพื่อน ไปๆ มาๆ เลยได้แต่ฟังเพลงจากไฟล์เสียงที่ rip มาจากแผ่นของน้องมาฟํงอีกที ไม่ได้นั่งอ่านปกอย่างเป็นจริงเป็นจังสักที
จนวันที่มีปกอัลบั้มอยู่กับตัวแล้ว ก็ยังไม่ได้มีเวลานั่งเขียน วันนี้ คงถึงเวลาเสียทีที่จะหยิบมาพิจารณาและนั่งเขียนถึงมัน อัลบั้ม “5” ของ Palmy
Palmy หรือ อีฟ ปานเจริญ นักร้องสาวลูกครึ่งไทย-เบลเยียม ที่มีผลงานในอดีตอย่าง Palmy (2544), Stay (2546), Beautiful Ride (2549) มาถึงชุดนี้ 5 (Five) ที่วางแผงไปเมื่อ 9 ธันวาคม 2554 กับการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการทำงานและในแง่ของตัวผลงานให้กับตัวเอง สไตล์ดนตรีในอัลบั้มนี้ได้รับอิทธิพลมาจากยุค 60s-70s เธอได้ร่วมงานกับคนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็o ก้อ ณฐพล ศรีจอมขวัญ มือเบส หัวหน้าวง และโปรดิวเซอร์ของ Groove Riders มารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอัลบั้มนี้
ยังรวมไปถึงคนดนตรีหลายหน้าที่เข้ามาร่วมงานด้วย อย่าง ต้า พาราด็อกซ์, บอย ตรัย ภูมิรัตน, กอล์ฟ Ynot7, อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร (เล็ก Greasy Café), วิชญ The Photo Sticker Machine, แสตมป์ อภิวัชร์ และ Erlend Øye นักร้องนักแต่งเพลงแห่ง Kings of Convenience ที่มาร่วมร้องและแต่งเพลงในอัลบั้มนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้นักดนตรีชื่อดังมาอัดเสียงดนตรีให้ เช่น T-Bone, ธีร์ ไชยเดช, ฉ่าย สมชัย ขำเลิศกุล เป็นต้นครับ
การเรียงเพลงของอัลบั้มนี้มีความแปลกอยู่สักหน่อย เพราะขึ้นต้นมา มีแต่เพลงสนุกๆ มีจังหวะจะโคนอยู่มากมาย สลับกับเพลงช้านิดหน่อย ขณะที่ครึ่งหลังแทบจะเป็นเพลงช้าต่อๆ กันไป เริ่มกันที่ “Rock Star Syndrome” ร็อกแอนด์โรลที่ว่าด้วยการหยิบชีวิตของร็อกสตาร์มาหยอกเล่นมากมาย เป็นเพลงที่มีชิ้นดนตรีเยอะ และเป็นหนึ่งเพลงที่ปาล์มมี่ร้องไม่ค่อยชัดเจนนัก “กา กา กา” เต้นแร้งเต้นกากันให้สนุกสนานกับเสียงดนตรีที่ดูมัวๆ ให้อารมณ์เก่าๆ เรียบเรียงสไตล์ลูกผสมระหว่างร็อกแอนด์โรลและคันทรี อีกเพลงที่มีรายละเอียดเครื่องดนตรีค่อนข้างเยอะ ได้ข่าวว่า เพลงนี้ถูกส่งไปอัดเสียงฮาร์โมนิกาถึงแคนาดาเลยเชียว
ลดจังหวะลงมาหน่อยแต่ยังถือเป็นเพลงเร็วกลางๆ “คิดมาก” เพลงโปรโมตเปิดหัวสำหรับอัลบั้มชุดนี้ ผลงานการแต่งของพี่ก้อกับสไตล์โมทาวน์ มีเสียงเครื่องสายเข้ามาร่วมบรรเลงด้วย มันได้กลายเป็นเพลงฮิตสุดของอัลบั้มชุดนี้ไปแล้ว
คิดมาก – Palmy [ Official MV ]
มาถึง “Shy Boy” การทำงานของ 3 ประสาน ก้อ แต่งทำนอง บอย แต่งคำร้อง ส่วนกอล์ฟเรียบเรียง ไม่มากไม่น้อยเกินไป เป็นเพลงที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าค่อยข้างลงตัวที่สุดในบรรดาเพลงเร็วแล้วล่ะ มาถึงเพลงถัดมา “Crush” เพลงสากลเพลงเดียวที่ได้ Erlend Øye แห่ง Kings of Convenience ที่รู้จักกันทั่วโลก มีเสียงผิวปากเพราะๆ เนื้อร้องสวยๆ กลายเป็นเพลงรักที่โรแมนติกที่ฟังแล้วมีความสุข เพลงนี้ได้ Henrik Algren มาเรียบเรียงให้ด้วยนะ
Crush – Palmy Feat. Erlend Øye [ Official MV ]
“Cry Cry Cry” อีกหนึ่งเพลงโปรโมต แต่คราวนี้เป็นเพลงช้า ผลงานการแต่งเนื้อร้อง/ทำนองของ ต้า Paradox เป็นช้าอารมณ์เศร้าสร้อย แม้ว่าเนื้อเพลงจะพูดถึงการคร่ำครวญถึงความสูญเสีย แต่ฟังแล้วกลายเป็นเพลงเพราะๆ ที่ไม่ชวนให้ร้องไห้ตามได้เลย ขณะที่ “ทุ่งสีดำ” ผลงานการแต่งของพี่เล็ก อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร เพลงช้าเอื่อยๆ ที่มีทั้งเสียงกีตาร์อะคูสติก (บรรเลงโดยพี่โอ๋ ธีร์ ไชยเดช) ที่สอดประสานไปกับเสียงเครื่องสาย เศร้าสร้อยและทำน้ำตาไหลตามได้ง่ายๆ อารมณ์ยังคงเศร้าต่อด้วยเพลงถัดมา “นาฬิกาเรือนเก่า” อีกเพลงที่แต่งเนื้อโดย บอย ตรัย หากแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย กอล์ฟ เนื้อเพลงที่เปรียบเทียบความรักกับนาฬิกาโบราณเก่าๆ ตัวหนึ่ง ที่แม้มันจะผ่านไปนานเท่าไร มันยังคงอยู่ในความทรงจำ อีกเพลงที่เศร้าจนน้ำตาไหลตาม
ปาล์มมี่ยังคงทำให้คนอุดหนุนผลงานของเธอจมดิ่งอยู่กับอารมณ์อันหม่นหมอง หมดแรงเอนกายลงแผ่อยู่บนพื้น หลับตาแล้วจินตนาการถึงผีเสื้อตัวหนึ่งที่เป็นตัวแทนของเธอเอง ปีกผีเสื้อที่ฉีกขาด แต่ไม่ทำให้มันหยุดบิน
“บาดแผลมากมายที่เรานั้นมี สุขทุกข์มากคราวเป็นเพียงสายลม ที่จะผ่านเข้ามาและจากไปไม่นาน”
ด้วยท่วงทำนองที่หม่นเศร้าและด้วยเนื้อเพลงที่กินใจของ อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร ด้วยการเรียบเรียงที่ล่องลอยพริ้วไหวของ วิชญ วัฒนศัพท์ และด้วยเสียงร้องอันอ่อนไหว เพลงนี้แม้จะเป็นเพลงที่ให้กำลังใจ หากเป็นเพลงที่ทำให้เรายังจมอยู่กับความหม่นเศร้า
มันยังไม่จบ ความหม่นเศร้ายังคงดำเนินมาจนถึงเพลงสุดท้าย “Private Sky (demo version)” ผลงานของพี่เล็กคนเดิม แต่เรียบเรียงโดยโปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม เพลงนี้เหมือนหนังลึกลับเรื่องหนึ่งที่เต็มไปด้วยภาพในจินตนาการสีสันแปลกๆ จินตนาการถึงความสวยงามที่ไม่อาจเป็นเจ้าของ ฟังทุกครั้งได้แต่บอกตัวเองในใจว่า มันใช้สำหรับฟังส่วนตัว และไม่อาจใช้เป็นเพลงโปรโมตอะไรได้เลยจริงๆ
Song List:
- Rock Star Syndrome
- กากากา
- คิดมาก
- Shy Boy
- Crush
- Cry Cry Cry
- ทุ่งสีดำ
- นาฬิกาเรือนเก่า
- Butterfly
- Private Sky (Demo Version)
มันคงดูแปลกปลอมที่นายแพทจะมาเขียนอะไรถึงอัลบั้มนี้ในตอนนี้ แต่มันอยู่ในใจมาตลอด บล็อกแห่งนี้จะขาดบทความแนะนำอัลบั้มชุดนี้ไปไม่ได้ วันนี้ มันได้เป็นจริงแล้ว อัลบั้มอีกชุดที่น่าสนใจ กำเนิดจากคนที่อยู่ข้างนอกแกรมมี่ แต่กลับมาได้รับโปรโมตในสังกัดแกรมมี่เหมือนเช่นทุกครั้ง นาทีที่ต้องบอกว่า อัลบั้มที่อินดี้และอินดีก็อยู่ในค่ายใหญ่ได้เช่นกัน
กา กา กา – Palmy [ Official MV ]
——————————-
อัลบั้ม: 5 (Five)
ศิลปิน: Palmy (อีฟ ปานเจริญ)
โปรดิวเซอร์: ณฐพล ศรีจอมขวัญ
โคโปรดิวเซอร์: Palmy
Mixed by: Henrik Algren, Except Rock Star Syndrome mixed by รุ่งโรจน์ ผลหว้า, กา กา กา Mixed by พีท ตันสกุล
Mastered by: พีท ตันสกุล