เมื่อวันก่อน 5 กันยา 2555 จะเรียกว่าผมมีโชคและโอกาสที่ดีก็คงจะเรียกได้ เมื่อได้รับตั๋วชมคอนเสิร์ตจากศิลปินแจ๊สระดับโลกอย่าง Larry Carlton ที่มาเล่นสดๆ ให้ดูถึงเมืองไทย ในแบบ 4 ชิ้นในคอนเสิร์ตที่ชื่อ ‘The Larry Carlton Quartet Live in Bangkok’ ซึ่งจัดขึ้นที่ Bangkok Convention Center ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
เป็นคอนเสิร์ตที่เริ่มเลทน้อยกว่าที่เคยพบพานอยู่มาก 20.20 น. การแสดงก็เริ่มขึ้นแม้ว่าจะยังมีผู้ชมบางส่วนทะยอยเดินเข้ามาก็ตาม เสียงรบกวนจากตรงประตูดังขึ้น กระนั้น เจ้าของคอนเสิร์ตก็ยังอารมณ์ดีปล่อยมุขแล้วเล่นต่อ
บรรยากาศในงานคอนเสิร์ต ‘The Larry Carlton Quartet Live in Bangkok’
เริ่มต้นด้วยการบรรเลงกีตาร์เดี่ยวๆ ของ Larry Carlton ก่อนจะที่เริ่มแนะนำนักดนตรีทีละคนทีละเพลงจนครบสี่ กลายเป็นวงควอร์เท็ต กีตาร์ เบส กลอง และคีย์บอร์ด ต่อด้วยการเล่นทีละเพลงๆ ที่บรรเลงได้สุดยอดมาก ทำให้นายแพทได้เห็นชัดๆ เลยว่า เขานำเอาสไตล์เพลงที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น แจ๊ส ฟังก์ หรือจะเป็นบลูส์ มาเล่นได้สนุกและน่าสนใจ
ที่น่าประทับใจ คือช่วงอิมโพรไวส์ของแต่ละคน มือกลอง Gene Coye เทพสุดๆ ทั้งที่อายุเพียง 28 ปีเองเท่านั้น มือเบส Travis Carlton เป็นลูกชายของเขาเอง ซึ่งเมื่อนั่งดูฝีมือการเล่น ก็นับได้ว่าเยี่ยมทีเดียว เชื้อไม่ทิ้งแถวกันจริงๆ ขณะที่ Dennis Hamm มือเปียโนคีย์บอร์ดฝีมือฉกาจสมกับที่ได้รับความไว้วางให้มาเล่น
ช่วงอังกอร์หลังเสียงปรบมือกึกก้องยาวนาน The Larry Carlton Quartet ก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวเลยทีเดียว ต่อด้วย ‘What a Wonderful World’ ไพเราะมากๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลงดังๆ ที่คุ้นหู แล้วคอนเสิร์ตก็จบลงอย่างสวยงามน่าประทับใจ แม้โปรดักชั่นจะไม่อลังการ แต่ลีลาและฝีมือการแสดงสดนั้นสุดยอดมาก
กลับมาบ้านด้วยความอิ่มเอม วันนี้ได้ชมคอนเสิร์ตที่สุดยอดมือกีตาร์แจ๊สของโลกด้วยเฟ้ย!
ไล่เรียงดูผลงานของ Larry Carlton ผู้ชายหัวใจแจ๊ส
Larry Carlton เกิดที่เมือง Torrance รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1948 เขาเริ่มกีตาร์ตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ และสนใจในดนตรีแจ๊สอย่างจริงจัง เขารู้จักเพลงแจ๊สในช่วงที่เรียนระดับจูเนียร์ไฮสคูลหลังจากได้ฟังอัลบั้ม ‘Moment of Truth’ ของ The Gerald Wilson Big Band ที่มี Joe Pass เป็นมือกีตาร์ ก่อนที่เขาจะได้ทำความรู้จักกับดนตรีบลูส์ ในช่วงอายุ 16 ปี เขาเริ่มใช้เทคนิคการดันสายที่มีเมโลดี้ในแบบของตัวเองก่อนที่จะได้รู้จักดนตรีคันทรีเสียอีก
ในปี 1968 เขาก็ได้บันทึก ‘With a Little Help from My Friends’ ผลงานเดี่ยวชุดแรกให้กับค่าย Uni จนงานของเขาเริ่มชุกมากขึ้น เมื่อ Carlton กลายเป็นผู้ควบคุมดนตรี (musical director) ให้กับ Mrs. Alphabet รายการเด็กทางช่อง NBC ที่ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอมมี่ เขาได้บันทึกผลงานจำนวน 13 ชุดกับทางวง Crusader และมีงานเดี่ยวอีกครั้งในอัลบั้ม Singing/Playing ในปี 1973 กับทางค่าย Blue Thumb พร้อมมีคิวเดินสายมากมาย
จวบจนปลายปี 1976 เขาก็เริ่มลดงานบันทึกเสียงและการเดินสายลง หันมาสร้างห้องบันทึกเสียงที่บ้าน Room 335 (เขาตั้งชื่อห้องบันทึกเสียงตามการเลือกใช้กีตาร์ Gibson รุ่น ES-335) เซ็นสัญญากับ Warner Bros ออกอัลบั้มเดี่ยว 6 ชุดด้วยกัน เริ่มจากผลงานชุด Larry Carlton ในปี 1978 ก่อนย้ายไปยังสังกัด MCA ออกผลงานชุด ‘Alone, but Never Alone’ (ปี 1986) ที่เป็นอัลบั้มอะคูสติกชุดแรก และเคยขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต Billboard Jazz ด้วยนะ
ที่เยี่ยมยอดยิ่งกว่านั้น เขาได้รับรางวัลแกรมมี่จากการคัฟเวอร์เพลง ‘Minute by Minute’ ในอัลบั้ม Discovery (ปี 1987)
แล้วเหตุแย่ๆ ก็เกิดขึ้นกับ Carlton จนได้ ในเดือนเมษายนปี 1988 เมื่อมีคนบุกรุกบ้านและก่อเหตุยิงเขาที่คอ ทำให้เขาบาดเจ็บทางร่างกายมากมายซึ่งรวมถึงเส้นเสียงทางด้านซ้ายด้วย แต่ก็ยังกลับมาทำอัลบั้มชุดใหม่ของตัวเองได้สำเร็จ ทั้งยังยังก่อตั้ง Helping Innocent People (HIP) กลุ่มหน่วยงานปราศจากการแสวงหากำไรที่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุความรุนแรงจากการใช้งานอาวุธปืนอย่างไม่มีเหตุผลในปี 1988 อีกด้วย
ผ่านมาถึงยุค 90’s เขายังคงมีผลงานอัลบั้มออกมาอีกหลายต่อหลายชุดในหลากหลายสังกัด ร่วมงานกับทั้ง Lee Ritenour, Steve Lukather เดินสายแสดงร่วมกับ Stanley Clarke and Friends และ Fourplay ซึ่งก็รวมทั้งได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาบรรเลงและขับร้องใหม่แนวแจ๊สในอัลบั้ม ‘The Jazz King’ เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 ปี ในปี 2550
ประวัติของ Larry Carlton นี่ช่างยาวดีจริงๆ เลย ก็เขามีเครดิตอัดเสียงกีตาร์ให้กับศิลปินชื่อดังมามากมายนี่นา ไม่ว่าจะเป็น Joni Mitchell, Steely Dan, Herb Alpert, Michael Jackson, Quincy Jones, John Lennon, Linda Ronstadt, Ray Charles, Dolly Parton, Bobby Bland และอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในฐานะศิลปินเดี่ยวถึง 19 ครั้ง คว้ารางวัลมาครองได้ 4 ครั้ง มีผลงานในสตูดิโอกว่า 30 ชุด และเครดิตอีกมากมาย อัลบั้มล่าสุดของ Carlton คือ ‘Plays The Sound Of Philadelphia’ ในปี 2011 เอกลักษณ์พิเศษของ Carlton ก็คือ สำเนียง วิธีเล่น และลักษณะของเสียงกีต้าร์ การผสมผสานในดนตรี Jazz และ Blues ทำให้ดนตรีของเขามีเสียงที่ซับซ้อน แต่ก็มีการเกลาให้สมดุลด้วยความเข้าใจในดนตรี การเล่นสำเนียง Blues ของ Carlton จะมีเสียงประสานในลักษณะที่ไม่ธรรมดา
เรียกได้เต็มๆ เลยว่า Larry Carlton เป็นมือกีตาร์แจ๊สที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของโลก
การเรียบเรียงบทความนี้ จะสำเร็จลงมิได้เลย หากไม่ได้รับข้อมูลแน่นๆ จากหลากหลายเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น Thai Ticket Major, Singhasquare และ เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Larry Carlton