
จะว่าไป วงไอดอลวงนี้ก็อยู่ในวงการเพลงไทยมากว่า 2 ปีแล้วนะครับ BNK48 มีซิงเกิลออกมา 6 ซิงเกิลเข้าไปแล้ว รวมเพลงต่างๆ ทั้งอยู่ในซิงเกิล ในอัลบั้มเต็ม และเพลงที่ใช้แสดงในเธียเตอร์รวมแล้วก็ราวเกือบสามสิบเพลง แต่ทว่า เพลงที่คนไทยรู้จักดีกลับมีเพียง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ เท่านั้น
ด้วยเหตุที่ติดตามวงไอดอลวงนี้มาราวปีเศษ เห็นถึงพัฒนาการของทั้งตัวเมมเบอร์เอง และออฟฟิศเชียลกันมาในระดับหนึ่งแล้ว ได้ศึกษาข้อมูลคอนเซ็ปต์ของวงพี่สาวน้องสาว 48 Group มาประมาณหนึ่งแล้ว ทำให้พอมองเห็นอะไรบางอย่างที่พอจะช่วยสนับสนุนได้ว่า BNK48 นั้นยากจะหาซิงเกิลใดที่จะสร้างปรากฏการณ์ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองได้อีก
ซึ่งก็ขอสรุปเอาไว้ได้ตามหัวข้อข้างล่างนี้ครับ
ท่วงทำนองดั้งเดิมเป็นเพลงญี่ปุ่น
หลังจากลองไล่ฟังเพลงของ AKB48 ในทุกๆ ซิงเกิล หากรวมเพลงพิเศษต่างๆ เข้าไปอีกก็คงต้องบอกว่า น่าจะยังฟังไม่หมด หากก็ยังพอจะประมวลผลได้อยู่ว่า เพลงของวงพี่สาวนั้นมีทั้งเพลงที่เพราะน่าฟังและเพลงที่รู้สึกเฉยๆ ซึ่งถ้าเป็นคนที่ชอบฟังเพลงญี่ปุ่นอยู่แล้ว ก็จะซึมซับท่วงทำนองของเพลงจากประเทศหมู่เกาะได้ในระดับหนึ่ง และเมื่อฟังมากขึ้นเรื่อยๆ ก็พบว่า แม้หลายเพลงจะเพราะและทำให้เราชอบได้
แต่เมื่อมองถึงตลาดเพลงของคนไทยซึ่งมักจะชอบเพลงช้าและมีท่วงทำนองเพราะๆ เมื่อเทียบกับเพลงของวงพี่สาวที่เน้นเพลงเร็วเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงหาเพลงช้าๆ ที่โดนใจคนไทยได้น้อยลงเข้าไปอีก และเพลงช้าๆ เหล่านั้นก็ยังดูจะมิมีเพลงไหนที่เข้ามาเกาะกุมหัวใจคนไทยได้ในระดับแมสได้อีกต่างหาก
และเมื่อมองว่า ‘Koisuru Fortune Cookie’ ที่เป็นเพลงสไตล์ดิสโก้ มีจังหวะกลางๆ ซึ่งจัดว่าเข้าถึงหูคนไทยได้ง่าย ก็ยังพบว่าเพลงในสไตล์นี้อยู่ไม่มากนัก
ภาษาญี่ปุ่นใช้คำเยอะกว่าไทย
เราจะสังเกตได้ว่า ชื่อเพลงภาษาญี่ปุ่นนั้นจะยาวๆ กันทั้งนั้น นั่นก็เพราะคำญี่ปุ่นนั้นใช้หลายพยางค์กว่าทำไทยมาก มันส่งผลมาถึงเนื้อเพลงด้วย
การที่เพลงมีคำเยอะในแต่ละวรรค ทำให้แต่ละคำถูกเปล่งเสียงออกมาสั้น และสั้นกว่าเพลงไทยมาก ทำให้น้องๆ จะต้องงับปากกันให้ทัน คนไทยที่ชินกับเนื้อเพลงสั้นๆ ก็จะฟังไม่ออกฟังไม่ทันว่าเนื้อมันว่ายังไง ยิ่งถ้าจะจดจำเพื่อให้ร้องตามยิ่งต้องใช้เวลามาก
ขณะที่ ‘Koisuru Fortune Cookie‘ ถือว่าใช้คำน้อยกว่าเพลงอื่น นอกจากท่วงทำนองที่ฟังง่ายแล้ว การมีคำน้อยย่อมเข้าใจเนื้อเพลงง่าย จดจำเนื้อได้ง่าย เป็นองค์ประกอบที่เสริมให้เพลงติดหู
ข้อจำกัดการแปลงเนื้อญี่ปุ่นเป็นเนื้อไทย
ด้วยข้อบังคับที่คนเรียบเรียงเนื้อเพลงภาษาไทยจะต้องทำงานภายใต้ขีดจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- ต้องถอดออกมาให้ตรงกันกับเนื้อความเดิมเป็นรายวรรค คนแปลงเนื้อก็จำเป็นต้องร่ำรวยในการใช้คำ ยิ่งจำนวนพยางค์เยอะก็ยิ่งต้องร่ำรวยให้มากขึ้นไปอีก
- คำภาษาญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ถูกกำกับโดยเสียงวรรณยุทธ์เช่นคำภาษาไทย คำเดียวกันจะอยู่ในคีย์ไหนก็ย่อมได้ ขณะที่เนื้อร้องภาษาไทยมิได้เป็นเช่นนั้น บางคำไม่เหมาะกับบางคีย์ แถมยังต้องเลือกคำให้ใช้กับคีย์นั้นๆ เพื่อไม่ให้เวลาร้องดูแปรงๆ อีกด้วย
จึงจะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะใช้คำอะไรก็ได้เพียงเพื่อให้ตรงกับเนื้อความดั้งเดิม
ล่าสุดก็เห็นว่า ในซิงเกิลที่หกจะมีเพลงรองที่เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ทั้งเนื้อร้องและทำนอง อย่างเพลง ‘Let You Go’ ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ ‘Where We Belong’ ที่สมาชิกของวงแสดงด้วย ก็นับเป็นเรื่องที่ดี หากว่าจะมีเพลงใหม่แบบนี้ออกมาเรื่อยๆ
วันหนึ่ง เราอาจจะได้เพลงดังเพลงใหม่โดยที่ไม่ต้องใช้เพลงดั้งเดิมของวงพี่สาวก็เป็นได้
ความเป็นจริงก็อยากจะหยิบยกประเด็นนี้มาเขียนถึงตั้งนานละ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้หยิบมาเขียนถึงสักที ไม่แน่ใจนักว่าจะมีคนมองประเด็นว่าอย่างไร จะเห็นด้วยกับสิ่งที่เขียนนี้แค่ไหน อาจเจอดราม่า กฐิน อะไรต่อมิอะไรสาระพัด แต่วันนี้ ตัดสินใจแล้วว่าจะลองเขียนดู
หวังว่าจะได้เปิดใจถกอภิปรายกันกับทุกคนนะครับ
3 คอมเมนต์