สดๆ ร้อนๆ เลยครับ วันนี้ ผมได้ไปดู ‘รักแห่งสยาม’ ถึงในโรงมาเรียบร้อย หลังจากปล่อยตัวเองจมกับกองงาน และให้ตะกอนต่างๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มันตกลงไปนอนก้นจนได้ที่
ช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผมได้รับข้อมูลจากหลายที่ จนพอรู้เป็นเลาๆ ว่าเรื่องราวมันจะเป็นแบบใด ไปในทางไหน ดีพอแก่การซื้อตั๋วเข้าไปดูหรือไม่ จนในที่สุด วันเวลาที่รอคอยก็มาถึง ในที่สุด ผมก็มีเวลาว่างที่จะไปดูหนังเรื่องนี้จนได้
‘รักแห่งสยาม’ หรือ ‘The Love of Siam’ หนังไทยที่โปรโมตตัวเองว่าเป็นหนังวัยรุ่นใสๆ หนังเรื่องความรักที่เกิดขึ้น ณ สยาม แหล่งท่องเที่ยวช้อปปิ้งพบปะของเหล่าวัยรุ่นเมืองหลวง แน่นอนว่า เรื่องรักหลายๆ เรื่องของวัยรุ่นก็มีจุดกำเนิดที่นี่ด้วยเช่นกัน นี่คือ เรื่องหนึ่งในบรรดาหลายๆ เรื่องเหล่านั้น
แต่เรื่องราวข้างในหนัง มันซับซ้อนเกินกว่าในหนังตัวอย่างหลายเท่าตัว แถมด้วยวาระซ่อนเร้นที่ทำให้แต่ละคนรู้สึกกับหนังกันไปต่างๆ นานา
หากคุณไม่อยากอ่านต่อ ก็ข้ามไปได้นะครับ เพราะผมอาจจะเขียนลึกไปถึงเรื่องราวในหนังบ้าง หากไม่ใส่ใจและยังไงก็อยากอ่าน ก็ขอเชิญอ่านต่อได้ตามอัธยาศัย…
หลายคนอาจรู้สึกแหยงๆ ที่ใครๆ หลายคนผู้เคยไปดูมาก่อนแล้ว ระบุว่า มันคือหนังเกย์เด็ก แต่น่าแปลกที่ผมกลับไม่รู้สึกลดความอยากดูลงหลังจากรู้เรื่องนี้ ผิดกับหนังทุกๆ เรื่องก่อนหน้า ทำไมกันนะ ก็พยายามตอบตัวเองอยู่เหมือนกัน…
- หนึ่ง อาจเพราะผมเริ่มจะเปิดใจยอมรับเรื่องนี้มากขึ้นเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน จากเดิมที่ผมเซ็งมากจากการถูกเกย์มอง ทุกวันนี้ ผมรู้สึกรำคาญน้อยลง ผมเริ่มมองพวกเขาในฐานะมนุษย์มากขึ้นหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ แต่ผมคิดว่า ผมรับได้มากขึ้นมากกว่า (ไม่ได้หมายความว่า ผมยินยอมพร้อมใจที่จะถูกมองนะ)
- สอง อาจจะเพราะว่า หนังเรื่องนี้เปิดตัวด้วยหนังตัวอย่าง ที่ตัดเรื่องราวชายรักชายออกไปจากมัน ภาพใสๆ ของหนังรักวัยรุ่นจึงยังลอยวนอยู่ในความรู้สึกผม นางเอกวัยรุ่นหน้าตาน่ารักยังชวนให้ผมอยากดูอยู่ รึว่านี่คือเกมการตลาดของหนังที่พูดเรื่องเกย์ แต่ไม่อยากแป้กเหมือนอย่าง “เพื่อน…”
- สาม ผมได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนมากมาย ที่บอกว่า มันเป็นหนังดี น่าดู เพียงแต่… ทุกคนบอกผมมาแบบนี้ ความอยากดูจึงไม่ลดน้อยอย่างที่มันเคยเป็น
- สี่ เรื่องนี้ มี พลอย เฌอมาลย์ เล่น ทำไมผมถึงจะไม่อยากดูขวัญใจผมเล่นล่ะ
ขอบอกว่า ผมไม่ได้ดูหนังตามกระแสแน่นอน ผมสะดุดมันมาตั้งแต่ก่อนหนังจะเข้าแล้วนะ
เรื่องราวในหนัง ผมว่า ถูกวางไว้ได้ดีทีเดียว มีจุดเล็กจุดน้อยให้เรามองเห็นในแต่ละฉาก ถ้าดูอย่างสังเกต ก็จะตามเรื่องและเข้าใจตามได้ง่าย ถึงไม่สังเกตก็ใช่จะตามไม่ทันนะครับ อย่างไรก็ตาม มันก็แสดงให้เห็นว่า ผู้กำกับฯ เขาพิถีพิถันกับรายละเอียดจริงๆ
ปัญหาของครอบครัว ก็คือ ปัญหาของสังคม การตั้งคำถามของตัวละคร ก็คือ การฉุดให้คนดูฉุกคิดตาม ไม่เว้น แม้แต่เรื่องความรัก และโดยเฉพาะการเลือกจะเป็น ผู้ชายที่รักผู้หญิง หรือผู้ชายที่รักเพศเดียวกัน
หลายครั้ง เราพบว่า เรื่องกำหนดให้ตัวเอกอย่าง “โต้ง” (มาริโอ้ เมาเร่อ) ต้องเลือก แรกๆ อาจจะไม่กล้าเลือก เพราะความรักที่มากเกินไปของผู้เป็นแม่ แต่พอถึงวันหนึ่ง เหตุการณ์ต่างๆ ประกอบกันจนทำให้แต่ละคนได้คิด และเปลี่ยนความคิด การเลือกของคนที่ไม่เคยกล้าเลือก จึงเป็นเหตุการณ์ที่แสนยากลำบากเมื่อถึงวันที่ต้องเคยเสียที
หนังบอกว่า ชีวิตคนมี “ทางเลือก” เสมอ
แม้แต่เรื่องราวในหนัง ในระหว่างที่มันยังไม่จบ คนดูสามารถคิดตอนจบได้หลายทางแล้วแต่ว่า คนดูเลือกจะให้มันเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับตอนจบในหนังเลยก็ได้ ตอนจบในหนัง เป็นแค่ทางเลือกทางหนึ่งที่คิดโดยผู้กำกับฯ เท่านั้นเอง
ประเด็นที่เด่นๆ ของหนังยังมีอีกหลายจุด ในความรู้สึกของผม ความรักอาจเป็นประเด็นหลัก แต่ปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้น(จากความรัก) ก็เป็นประเด็นที่แสนเขื่องยิ่งกว่ารักของเด็กหนุ่มเพศเดียวกันพอดู หนังเรื่องนี้ จึงไม่ใช่หนังที่ชูประเด็นความเป็นเกย์ หากแต่ชูประเด็นเรื่องรักหลากหลายรูปแบบที่พันเกี่ยวกัน มีรักบางรูปแบบมีปัญหา ก็เชื่อมโยงไปถึงรักในรูปแบบอื่นๆ ให้มีปัญหาไปด้วย รักระหว่างเพศเดียวกันจึงเป็นเพียงประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งเท่านั้น …
หากแต่มันเป็นเรื่องราวช็อกคนดู เพราะเขาคาดไม่ถึงว่าจะได้เจอนั่นเอง
[ ไม่แน่ ในอนาคต สังคมอุดมเกย์แห่งนี้ อาจจะมีหนังที่พูดถึงเกย์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำใจให้ยอมรับและเปิดใจเอาไว้ จะได้ไม่ตะขิดตะขวงหากต้องออกจากบ้านไปดูหนังเหล่านี้ ขออย่างเดียวว่า เวลาตัดหนังตัวอย่าง ช่วยบอกกันชัดๆ กว่านี้หน่อย คนดูจะได้ทำใจถูก :P ]ผมมีความรู้สึกว่า คุณมะเดี่ยว ผู้กำกับฯ ผู้มีเครดิตจาก ‘คน ผี ปิศาจ’ และ ’13 เกมสยอง’ กำกับการแสดงของตัวละครแต่ละตัวได้ดี โดยเฉพาะฉากขยี้หัวใจชายอย่างผมนั้น มีหลายฉากทีเดียว ที่ทำให้ลูกผู้ชายหัวใจอ่อนแออย่างผม ถึงกับต้องหลั่งน้ำตาให้ ทั้งแบบไหลเอ่อๆ ทั้งแบบล้นทะลักอย่างอั้นไว้ไม่อยู่
พาให้สงสัยในตัวเอง ว่า.. คนที่ครอบครัวไม่อบอุ่นอย่างผม เหตุใดถึงอินกับเหตุสะเทือนใจในครอบครัวของหนังเรื่องนี้นักนะ
โดยเฉพาะ ฉากที่ “กร” (กบ ทรงสิทธิ์) เห็นเมียตัวเองกินข้าว…นั่นอะ จี๊ดสุดๆ นี่ถ้าไม่กลัวเสียจริตต่อหน้าคนที่ไม่รู้จักในโรงหนังแล้วล่ะก็ มีได้ส่งเสียงสะอื้นกันออกมาบ้างล่ะ
ตัวแสดงก็แสดงกันได้ดีมากมาย มุกตลกมีพอหอมปากหอมคอ บางครั้งก็ขำไม่ออกด้วยซ้ำ ตัวเด่นๆ อย่าง สุนีย์ (สินจัย เปล่งพานิช) แม่ของโต้ง, กร พ่อของโต้ง, จูน (พลอย) สาวผู้หน้าตาเหมือนแตง พี่สาวของโต้งที่หายสาบสูญไป แม้แต่ อาม่าของมิว แสดงได้ดีมากมาย ขณะที่นักแสดงเด็กๆ ที่หน้าใหม่ล้วนก็ทำหน้าที่ของตนได้ดีเช่นกัน
เรื่องดี นักแสดงดี อย่างนี้ ไม่ให้ชมก็คงไม่ได้แล้วล่ะมั้งครับ
ในฐานะผู้ชาย ผมว่า โต้งในเรื่อง ดูดี หล่อ และไม่ดูเหมือนเกย์สักหน่อย ผิดกับมิว (พิช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงศ์กุล) ที่เหมือนเอามากๆ (จริงๆ นะ)
ถ้าถามในฐานะผู้ชายอีกเช่นกัน ว่า ชอบใครระหว่าง “หญิง” (ตาล กัญญา รัตนเพชร์) สาวน้อยกะเปิ๊บกะป๊าบผู้หลงรักมิว กับ “โดนัท” (เบสท์ อธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน) สาวน้อยหน้าใสสไตล์คุณหนู ผมคงเลือกตอบอย่างไม่ยากเย็นเลย…
ผมชอบแบบ “หญิง” มากกว่า แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา และน่ารักแบบซนๆ หน้าตาก็ชวนมองได้ทั้งวัน ไม่หวานและดูเลิศลอยอย่าง “โดนัท” ไม่รู้จะมีใครชอบเหมือนผมมั้ยนะ
สำหรับคนที่คิดสองจิตสองใจอยู่ในตอนนี้ ว่า จะไปดูดีหรือไม่ ก็ขอบอกว่า คุณไม่ผิดหวังแน่นอนครับ หนังดีแน่ๆ ดูแล้วรู้สึกได้เหมือนผมแน่ๆ ว่าหนังดีมากๆ คิดไม่ผิดที่มาดู
เพียงแต่คุณต้องพยายามเข้าใจหนังให้มากว่า เขากำลังจะบอกอะไรกับคุณ หรือให้คุณดูอะไร ฉากต่างๆ ที่มีอาจทำให้คุณรับไม่ได้ไปบ้าง ก็ให้คิดเสียว่า เป็นฉากที่ประกอบเข้ามาเพื่อบ่งบอกว่า เกิดอะไรขึ้นในเรื่อง อย่างที่ผมบอกแหละ นี่ไม่ใช่ประเด็นหลักของหนัง แค่เหตุการณ์ประกอบเท่านั้น (แต่ผมก็ยังได้ยินเสียงวี้ดว้ายของคนดูลั่นโรงเลยเชียวละ)
ผมว่านี่คือ สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้ ขณะที่เรื่องอื่นทำไม่ได้ นี่คือการนำเอาเรื่องรักเพศเดียวกันมา “ประกอบ” ในหนัง ขณะที่เรื่องอื่น คือการนำเอา “ยัดใส่” ในหนัง มันต่างกัน สังคมไทยอาจเปิดรับบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การหยิบมาใส่อย่าง “โต้งๆ” ไม่ทำให้คนดูยอมรับได้หรอก แถมยังถูกต่อต้านอีกต่างหาก ขณะที่การหยิบมาประกอบ ทำให้คนรู้สึกว่า มัน “เป็น” เรื่องจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น คนดูจึงทำได้เพียงดูมันเกิดขึ้น และไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้มันเกิดขึ้นแต่อย่างใด คนดูจึงยอมรับได้มากกว่า
แต่แน่นอน คงไม่ใช่ทั้งหมดหรอกครับ
ประเด็นเพลงประกอบในหนัง เขาทำได้อย่างกลมกลืน ไม่ใช่สักแต่ว่าใส่เข้ามาเพื่อสร้างอารมณ์อย่างที่ต้องการเท่านั้น แต่นี่คือเพลงที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่องอย่างแท้จริง แถมเพราะดีอีกต่างหาก
‘กันและกัน’ ในหนังที่วงออกัสร้องก็เพราะไปอีกแบบ ขณะที่ ‘กันและกัน’ ที่เราได้ยินกันทั่ว “สยาม” ก็โดนและซึมลึกเข้าไปทุกอณูหัวใจจนไม่รู้พูดยังไงแล้ว
ทุกอย่างที่ดีๆ มันประกอบกันขึ้นเป็นหนังเรื่องนี้จริงๆ รึนี่
ต้องบอกไว้ก่อน หนังยาวพอสมควร ขนาดฉี่ก่อนเข้าโรงแล้ว ยังต้องปวดฉี่จนจำใจต้องออกมาปลดทุกข์ระหว่างดู มันไม่ไหวจริงๆ อะครับ ผู้ชายนี่ปวดฉี่ง่ายกว่าผู้หญิงเนอะ ผมเห็นหลายคนลุกตามผมกันมาเป็นทิวแถวเลยเชียวละ ไม่ไหวเหมือนกันละสิ
มีเรื่องหนึ่งที่ออกจะขัดใจผมอยู่บ้าง ถึงแม้ว่า มันจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคมก็เถอะ ฉากที่จูนสูบบุหรี่ ฉากที่เด็กๆ สูบบุหรี่ ฉากพวกนี้ ผมอยากให้ตัดออกเสียจริงๆ แน่นอน ว่าหนังจงใจจะแสดงข้อความเตือนบนซอง แต่มันคงดีกว่านี้ ถ้าจะชูประเด็นปัญหาครอบครัว โดยไม่ต้องเอาบุหรี่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ก็แค่ความรู้สึกส่วนตัวอะนะ…
สรุปว่า วันนี้ ผมเขียนบล็อกยาวไปนิด ไม่รู้จะอ่านกันครบตัวอักษรกันหรือเปล่า แต่ตั้งใจเขียนน่าดู (แม้จะไม่ได้ร่างไว้เลยก็ตาม ร่างไว้ในหัวเท่านั้นเอง) คนที่ดูหนังแล้ว คงอ่านได้เต็มๆ คนที่ยังเนี่ย จะอ่านก่อน เพื่อให้ยอมรับฉากนั้นๆ ได้มากขึ้นก็ไม่เป็นปัญหานะครับ
ไปละ ได้เวลานอนเสียที แล้วอย่าลืมมาติดตาม “หนังในโรง” เรื่องถัดไปของผม
ปล. หนังเรื่องนี้ มี Nokia เป็นสปอนเซอร์รึเปล่านะ ทำไมมีแต่ Nokia ไม่เห็นมี Sony Ericsson บ้างเลย ได้ยินเสียง ตื๊ด ตื๊ด (เวลามีข้อความเข้า) กับริงโทนยอดฮิต(ในหนัง)ตลอดเรื่องเลยอะ
ปล.2 ดนตรีประกอบโดย ปวีณ สุวรรณชีพ อ้าว นี่มันพี่โป้ง Moderndog นี่หว่า ถึงว่า…
ปล. 3 ผู้กำกับฯ อะไรก็ไม่รู้ กำกับหนังดี เขียนบทก็เก่ง แต่งเพลงยังเพราะอีก นี่จะเอาหมดทุกอย่างเลยเรอะครับเพ่
ปล. 4 สิ่งที่เขียนทั้งหมด ผมว่า ยังมีบางเรื่องหล่นหายอีกมากมาย ผมไปอ่านเว็บโน้นกระทู้นี้ โอ้โห มีอีกหลายเรื่อง ที่ผมลืมเขียนถึง ขออภัย ถ้าไม่ได้เขียนถึงเรื่องที่ “โดน” หัวใจของคุณนะครับ แค่นี้ก็ยาวมากแล้วละ
ผมเองตอนแรกตั้งใจว่าจะไปดูหนังเรื่องนี้ด้วยว่าความที่มันเป็น “Season Change” เหมือนกันครับ
แต่หลังจากที่เสพข้อความรอบข้าง และสำเหนียกแล้วว่าหนังเรื่องนี้เป็นเยี่ยงไร ผมก็สองจิตสองใจ
และแล้วในคืนวันลอยกระทงผมก็ได้โอกาสเข้าไปดูรอบสุดท้ายที่โรงหนัง (กว่าหนังจะจบก็ซัดไป ตีสามครึ่ง)
แต่ว่าหนังก็ไม่ได้ทำให้ผมง่วงแต่อย่างใด
สิ่งทีี่่ผมชอบมากที่สุดในเรื่องก็คือ ลำดับภาพ กับ เพลงประกอบ ที่ทำได้ลงตัวมากมาก
ส่วนประเด็นเกย์ไม่เกย์นั้น
ผมมองว่าเป็นแค่ secondary line หรือ support line ที่วิ่งมา เสริมตัว main line ที่เป็นปัญหาครอบครัวของสุนียมากกว่าห์
ตัวหนังมีความสวยงามของมันเองอยู่แล้ว
ถ้าตัด bias ในส่วนที่เป็นเรื้่องชายรักชาย
กับตัดความรู้สึก โดนหลอก ของหนังตัวอย่างออกไปไ้ด้แล้ว
ผมว่าเรื่องนี้ให้อะไรดีๆ หลายอย่างครับ
ไปดูซะ
เอ่อ ได้เห็นรีวิวงี้ค่อยกล้าไปดูหน่อยฮะ!!
ความรักไม่มีแบ่งแยก มีแต่คนตั้งกฏแบ่งแยกกันเองว่าอันนี้ถูกอันนั้นไม่ถูก แต่คนอาศัยอยู่ในกรอบมานานมาก จนลืมไปแล้วว่าเป็นกรอบที่คนสร้างกันขึ้นมาเองทั้งนั้น…
หนังเรื่องนี้เนื้อเรื่องดีทีเดียว ถ้าจะติก็คงเป็นองค์ประกอบภาพกับการตัดต่อมั้ง มันดูไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นหนัง ช่วงแรกที่อยู่บ้านอาม่าภาพยังสวยอยู่ พอต่อมากลับเหมือนดูละครโทรทัศน์ช่องห้า -“-
ถ้าไม่เคยดู Love, actually มาก่อน … รักแห่งสยาม เป็นหนังดีสุดยอดเลยครับ
แต่ไม่เป็นไร หลังดูจบ รู้สึกประทับใจ เหมือนกับที่เคยรู้สึกได้ เมื่อดูเรื่อง แฟนฉัน หรือ เพือนสนิท ครับ
ที่ชอบเอามากๆ คือ หนังเรื่องนี้ ทำให้ ผม ได้มุมมองใหม่ ที่เกี่ยวกับ คำว่า boyfriend
ในขณะเดียว กรณีลูกสาวที่หายไป ไม่ว่า ผู้กำกับเจตนาให้เกิด talk of the town หรือไม่ก็ตาม … มันสำเร็จครับ
: )
เข้าใจว่าที่โดนด่าหนัก ไม่ใช่เพราะเกย์ไม่เกย์ ผมว่าเรายอมรับกันมากขึ้น ผมเองไม่ได้รังเกียจถ้าใครสักคนจะเป็นเกย์ แต่เรื่องของเรื่องคือหลอกคนว่าเป็นหนังรักวัยรุ่นหญิงชาย แล้วสุดท้ายเป็นชายรักชาย คนเลยเสียความรู้สึก เพราะโดนหลอก
ผมเข้าใจแบบนี้นะครับ แล้วคิดว่าคนที่ตำหนิเขาก็ไม่ผิด ส่วนหนึ่งเขาไม่ได้ต่อต้านเกย์ แต่ต่อต้านหนัง แบบหลอกกันนี่หว่า
เหมือนหนังไทยหลายเรื่องที่ผ่านมา ตัดมาแล้วน่าสนใจ พอไปดู ส่วนที่น่าดูทั้งหมดถูกตัดมาอยู่ที่หนังตัวอย่างหมดแล้ว ประมาณนี้ก็มีบ่อย
จนคนเขาว่า ทั้งหมดทั้งมวลของหนังไทยทำได้ดีสุดสองอย่าง หนังตัวอย่างกับโปสเตอร์
แต่ก็แปลกใจ บ่อยทีคนไทยชอบดูหนังคุณภาพต่ำของฝรั่ง
เรื่องจริงหรือครับ ผมไม่ทราบผมทราบแค่ว่าในเมืองไทยน่าจะหา เกย์ ตามนิยามของหนังยาก เห็นมีแต่กระเทยกับเสือใบ กระเทยคือผู้ชายที่ใจเป็นหญิง เสือใบส่วนมากเป็นผู้ชายที่บ้าเซ้กช์รักสนุกเลยชอบนอนกับกระเทยเพราะว่าให้ความสุขทางเพศรสได้มากกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ ทุกวันนี้ผมเห็นแต่พวกเสือใบหรือแมงดาเกาะกระเทยกินมากกว่านะครับ (เพื่อนที่เป็นกระเทยเพิ่งถูกตำรวจทิ้งไปเมื่อเร็วนี้ พร้อมเสียเงินหลายแสน) ยังไม่เคยเห็นเกย์หรือผู้ชายที่ชอบความเป็นชายเลยรักชายด้วยกัน อย่างที่ผู้ชายในแถบอิตาลีเป็นกันเลยครับ ดังนั้นผมว่าหนังมันขัดๆ มาตั้งแต่ เพื่อนกรูรักเมิงอ่ะแล้ว นั้นก็เรื่องของเกย์ตามอุดมคติ ซึ่งมันมีไหมครับ? มีไม่มีผมไม่ทราบ แต่เกิดมาหลายสิบปีไม่เคยพบเห็นในสังคมไทยครับ เทียบได้กับประมาณอารมณ์ผู้ชายดูหนัง L แต่เปลี่ยนเป็นกระเทย+ชะนีมาดูหนัง Y
หนัง Y มีโอกาสทางการตลาดสูงนะครับ เพราะหนัง Y นั้นผู้ชายจะหล่อแบบใสๆน่ารักๆเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ตุงติ้ง ดูสุภาพเรียบร้อย ได้ใจทั้งกระเทยและผู้หญิง (แนะล่ะผู้หญิงที่ไหนจะชอบกระเทยหรือกระเทยก็ไม่ชอบกระเทยด้วยกันหร๋อก) ซึ่งเป็นตลาดที่บริโภคอย่างบ้าคลั่งไร้สติ ดูได้จากกระแสของหนังเรื่องนี้ในปัจจุบัน
ส่วนเรื่องการที่ว่าหลอกนั้น ผมว่ามันเป็นหมาก 2 ชั้นน่ะครับ เพราะหนังถูกสร้างมาในสูตรอยู่แล้ว ว่าประสบความสำเร็จแน่นอนเพราะตลาดมีแน่นอน โดนด่าเท่าไหร่ก็ไม่ขาดทุน ดังนั้นเริ่มโดยหลอกไว้นิดนึง พอฉายรอบสื่อ พวกสมองน้อยในพันทิปก็ประโคมข่าวให้ในพันทิปสักพักก็ยิ่งดัง พวกกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงก็ตามมาดูสิครับ
ผนวกเรื่องครอบครัวลงไปสร้างน้ำหนักเอาไว้ ถ่ายแบบเกาหลี พระเอกเกาหลี นางเอกเกาหลี เพิ่ม Secondlineตามแนวนิยมให้คนดูหัวอ่อน ยอมรับได้ ขยายกลุ่มเป้าหมายได้อีกตั้งเยอะ ตอนหลังคนกลุ่มนี้จึงขยายความดีเล็กๆที่แอบไว้ในหนังออกไปให้ว่า ไม่ใช่แค่ Y นะ มีอย่างอื่นด้วยล่ะ อย่า Bias สิ (แล้วไมเมิงต้อง Y ล่ะไม่เห็นมีใครถาม)
สุดท้ายโกยเงินเข้ากระเป๋า
สุดยอดเลยครับคิดได้ไงเนี้ย ผมนับถือนะครับเป็นหนังที่ใช้การตลาดได้สุดยอด Producer ต้องเป็นยอดนักการตลาดของแท้เลยทีเดียวครับ
แต่ผม…หดหู่นะครับ เพราะผมหัวแข็งและอยากเห็นภาพยนต์ที่สร้างสรรสังคม แบบเรามาทำมาหากินกันเถอะ ให้ชาติสู้เวียดนาม เกาหลี จีน อย่าไปอยากเป็นนักร้องหรือดารากันเลยจนไม่ลืมหูลืมตากันเลยน่ะ :-
ยังไม่ได้ไปดูเลย… อ่านบทความนี้แล้ว ก็ว่าจะไปดู ว่าแต่ว่า มันลาโรงรึยังเนี่ยะ..
ยังไม่ได้ดูเลย…
ปล.เขียนดีครับ
..
ดูมา 2 รอบ ยังไม่รู้สึกเบื่อ จะมีหนังดรามาของไทยกี่เรื่องที่กล้าทำออกมายาว 2 ชั่วโมงกว่า ที่ดูแล้วไม่ง่วงแบบนี้อีก มะเดี่ยวเก่งจริงๆครับ
..
เขียนได้ดีจริงจัง ชอบหัวข้อบล็อกมากๆ
รักแห่งสยาม | หนังดี ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องเกย์ๆ
เพราะิคิดแบบนั้นเหมือนกัน
เกย์เป็นประเด็นหนึ่งในหนัง แต่ไม่ใช่ทั้งเรื่อง
คุณ “ผ่านมา” คะ
เกย์ไทยมีค่ะ มีแน่นอน (ศึกษาเอาตามเว็บสังคมเกย์ก็ได้)
เกย์ที่ไม่ใช่กระเทย ladyboy (ตัวชายใจหญิง อันนี้ให้มองเค้าเป็นผู้หญิงไปเลย) กับผู้ชายที่ชอบกระเทย (ซึ่งก็คงชอบในฐานะผู้หญิงด้วยแหละ)
ไม่ใช่อะไร รู้จักหลายคนค่ะ ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย เป็นแฟนกับผู้ชายน่ะ
เกย์บางทีก็เป็น both ค่ะ (ไม่ใช่ bi นะ แต่เป็น both ศัพท์นี้เพื่อนในวงการบอกมา หมายถึงอะไรไม่น่าจะเดายากนะคะ)
…
..
.
เขียนดีจนอยากไปดูเลยอ่ะ -*-
…
วัยอลวน 4 ที่ ลลนา สุลาวัลย์ แสดง ก็เด่นไม่แพ้กัน
คุณเขียนวิจารณ์เรื่องนี้ได้ดีจริงๆ จนถ้าคุณไม่บอกแล้วเรานึกว่าคุณเป็นเกย์ซะแล้ว
เราดีใจด้วยที่คุณได้ข้อคิดและสิ่งดีๆจากหนังเรื่องนี้ โดยที่คุณมองข้ามบางเรื่องเช่นการตลาดที่ไม่บอกและเรื่องเกย์
เราอ่านคำวิจารณ์ของคุณต่อหนังเรื่องนี้แล้วทำให้เรารู้ว่าคุณเข้าใจหนังเรื่องนี้
และยังเก็บรายละเอียดมาเล่าไว้ได้อย่างดี เราขอชื่นชมสำหรับคำวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ และขอบคุณที่คุณไม่รังเกียจหนังเรื่องนี้
ขอบคุณ ขอบคุณ
ผมว่าการที่ใครสักคนจะออกมายืดอกรับได้ว่าตัวเองเป็นเกย์ หรือนิยมผู้ชายด้วยกันนั้นมันทำได้ยากมากกว่าพวกที่เป็นสาวประเภทสองเสียอีก เพราะคนในสังคม หรือแม้กระทั่งพ่อแม่หรือไม่ก็คนในครอบครัวเราเอง ก็ยังไม่มีใครยอมรับันเลย ผมอยากให้มองว่าบุคคลเหล่านี้มีความสามารถและความรับผิดชอบมากว่า
ถ้ามองในเรื่องของ
การทำงานหรือหรือแม้กระทั่งความเป็นตัวของคน ๆ นั้นเอง จึงอยากให้สังคมไทยเรายอมรับตรงนี้ให้มากกว่าเดิม แล้วควรยกย่องเขามากกว่าไปเสียเวลาจับผิดหรือวิจารณ์เขาโดยทำให้
เขาเหล่านั้น้เสียหาย และตัวของเขาเองก็ควรเลิกปฏิเสธตัวเองและหันมายอมรับเพราะไม่มีใครรู้จักเราดี เเกินไปกว่าตัวของตัวเอง ต่อให้เป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เลี้ยงเรามาก็เถอะ เพราะท่านเลี้ยงเราได้แต่ตัวแต่จิตใจเราเป็นคนกำหนดนะครับ
นู๋ว่านะค่ะ
ความรักในเรื่องแบบนี้อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ก็เเล้วเเต่ตัวของตัวเองมากกว่าค่ะ
แต่นักแสดงอ่ะค่ะแสดงได้ดีมากๆๆๆๆๆ จนหนูอึ้งเลยค่ะ
พี่พิชเเสดงได้เหมือนเกย์(สุดๆๆ)เลยนะค่ะ
แต่ยังไงพี่พิชก็คือไอดอลของนู๋คร้และ
พี่มาริโอ้แสดงได้ดีนะค่ะได้ข่าวว่าจะเล่นอีกเรื่องเเล้วด้วย