วันนี้ ผมมีโอกาสได้พบกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นจากมังงะเรื่องเยี่ยมที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Ribon ช่วงปี 1989 ก่อนจะได้รับการถ่ายทอดในรูปแบบอะนิเมะที่ฉายในโรงหนัง ผ่านฝีมือการกำกับของ โยชิฟุมิ คนโด ในปี 1995 มันกลายเป็นหนึ่งในผลงานเรื่องจาก Studio Ghibli ที่ผู้คนจดจำ ก่อนที่เวลาจะล่วงมาถึงปี 2022 มังงะเรื่องนั้นได้ถูกหยิบมาถ่ายทอดอีกครั้งในแบบภาพยนตร์คนแสดง ผมกำลังหมายถึง ‘Whisper of the Heart’ หรือชื่อไทย ‘วันนั้น วันไหน หัวใจบรรเลง’ นั่นเองครับ
ครั้งนี้ หนังเรื่องนี้จะถูกกำกับโดย ฮิราคาวะ ยูอิจิโระ ผู้มีเครดิตจากการกำกับหนังอย่าง ‘The Promised Neverland’ และ ‘The Memory Eraser’ เดาความคิดของเขาไว้ว่า การจะทำใหม่ทั้งที จะให้เหมือนกับที่เคยเป็นมาก็คงใช่ที่ เขาจึงเลือกที่จะไม่เล่าแค่เรื่องราวความรักและความฝันของวัยรุ่น ที่มีทั้งหวานและขม แบบที่เคยเล่าเอาไว้ในเวอร์ชั่นมังงะและอะนิเมะเท่านั้น แต่ยังใส่เรื่องราวในช่วง 10 ปีหลังจากนั้นเข้ามาด้วย
นัยว่าเป็นการตีความเพิ่มขึ้นมาจากที่เราเคยได้รับรู้กันไปแล้วนั่นเอง
เรื่องย่อหนัง ‘Whisper of the Heart’
เริ่มต้นเลย มันคือ เรื่องราวการพบเจอกันของหนุ่มสาววัยมัธยม สึกิชิมะ ชิซึกุ (Runa Yasuhara) เด็กสาวที่รักในการอ่านหนังสือ ผู้ที่มองเห็นชื่อหนึ่งบนบัตรยืมหนังสือห้องสมุดเล่มแล้วเล่มเล่า เขาคือคนที่อ่านหนังสือก่อนหน้าเธอทุกเล่ม จนเธอเกิดสนใจ พยายามตามหาเจ้าของชื่อ จนได้พบเจอกับ อามาซาวะ เซย์จิ (Tsubasa Nakagawa) นักเรียนชายที่อยู่ในระดับชั้นและโรงเรียนเดียวกัน แม้ทีแรก ชิซึกุจะไม่ค่อยชอบขี้หน้าเขานัก แต่แล้วทั้งสองก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน เซย์จิใฝ่ฝันจะเป็นนักสีเชลโล ขณะที่ชิซึกุก็ค้นพบว่าตัวเองชอบการเขียนนิทานและฝันอยากเป็นนักเขียน
ก่อนที่ทั้งสองคนจะมีอันต้องจากกันไปนานถึง 10 ปี
10 ปีถัดมา ชิซึกุในวัยผู้ใหญ่ (Nana Seino/เซอิโนะ นานะ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Wood Job!’) กลายเป็นบรรณาธิการหนังสือเด็กในสำนักพิมพ์เล็กๆ แม้เธอจะต้องวุ่นวายคอยดูแลนักเขียน แต่เธอก็ยังไม่ละทิ้งความฝัน ยังคงเขียนนิทานส่งประกวดเรื่อยมา แม้จะไม่ค่อยสมหวังเลยสักครั้ง ขณะที่เซย์จิ (Tori Matsuzaka/มัตสึซากะ โทริ จากซีรีส์ ‘Perfect World ปาฏิหาริย์โลกใบนี้ที่มีเธอ’) เขาก็กำลังจริงจังอยู่กับการตั้งวงควอร์เทตอยู่ที่อิตาลี
ความรักระยะไกลกับความฝันที่กำลังเริ่มสั่นคลอน เมื่อฝ่ายหนึ่งเริ่มคิดยอมแพ้ ความรู้สึกทดท้อเข้าครอบงำ ขณะที่อีกฝ่ายดูจะยังคงมุ่งมั่น วันหนึ่งชิซึกุทำงานผิดพลาด จนทำให้ความฝันสั่นคลอนอย่างหนัก เธอกำลังเดินมาถึงทางแยก ที่ต้องเลือกระหว่างงานกับความฝัน
รีวิวหนัง ‘วันนั้น วันไหน หัวใจบรรเลง’
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นมังงะในปี 1989 สู่การเป็นอะนิเมะจิบลิในปี 1995 มาถึงภาพยนตร์คนแสดงในปี 2022 ผลงานที่มีความพยายามจะไม่ทำซ้ำของเดิม ด้วยการเพิ่มเติมเรื่องราวที่ยังไม่เคยถูกเล่าเข้าไป
ในเวอร์ชันอะนิเมะนั้น ‘Whisper of the Heart’ เล่าเรื่องของชิซึกุและเซย์จิในช่วงวัยรุ่นวัยเรียน กับวันเวลาที่ทั้งสองได้ทำความรู้จักและรักกัน พร้อมต่างฝ่ายต่างเหนี่ยวนำสร้างแรงบันดาลใจไฟฝัน และเมื่อฝ่ายหญิงรับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังจะไปเรียนเพื่ออนาคต ทั้งสองก็สัญญาว่าจะยังคงรักและเป็นแรงใจให้แก่กันตลอดไป
ในเวอร์ชันอะนิเมะจะบอกเล่าเรื่องราวของชิซึกุที่แม้จะชอบอ่านหนังสือแต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะโตขึ้นไปเป็นอะไร แต่โชคชะตาก็พาให้เธอบังเอิญไปพบกับร้านขายของเก่าที่ทำให้เธอได้เจอทั้งเซย์จิและคุณปู่ของเขา ทั้งสองคนช่วยทำให้เธอได้รู้ถึงความฝันของตัวเอง พร้อมๆ กันไปกับความสัมพันธ์ทั้งเธอกับเขาที่รุดหน้าไป ไอเดียที่น่าสนใจของมันคือการที่บอกกับวัยรุ่นว่า มันเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตน เหมือนอัญมณีที่แทรกตัวอยู่ในหิน ยังต้องผ่านการเจียระไนขัดเกลาอีกเยอะกว่าจะกลายเป็นอัญมณีที่มีมูลค่า แถมยังเล่าอีกด้วยว่า เพราะความรักนั่นแหละที่จะกลายเป็นพลังผลักดันให้ต่างฝ่ายต่างมุ่งมั่น ค้นหา และพัฒนาตนเอง
แต่ในเวอร์ชันหนัง Life-Action มีความเปลี่ยนแปลงอยู่หลายสิ่งหลายอย่าง
นอกจากหนังจะไม่มีฉากการแต่งเนื้อเพลงของชิซึกุแล้ว หนังก็ยังเปลี่ยนให้ความฝันของเซย์จิเปลี่ยนจากการทำไวโอลินไปเป็นการเป็นนักเชลโลอีกด้วย พอเข้าใจว่าน่าจะต้องการให้ความฝันมันดูจับต้องได้มากกว่า ขณะเดียวกัน หนังก็ไม่ได้เล่าแค่ชีวิตวัยรุ่นของทั้งสองคน หากยังเล่าต่อไปอีก 10 ปีหลังจากนั้นด้วยว่า เมื่อพวกเขากลายเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว ความฝันที่เคยเริ่มถักทอไว้มันจะเป็นไปอย่างไร
หนังจึงมีทั้งส่วนที่เคยถูกเล่าไว้แล้วในมังงะและอะนิเมะ และมีบางส่วนที่แต่งเพิ่มขึ้นมา ช่วงเวลาของการทำงานของชิซึกุที่ต้องประคับประคองความฝันให้ยังไม่มอดดับ การทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการที่ต้องดูแลนักเขียน ทำให้เธอพบเจอบางอย่างที่บั่นทอนจนคิดจะล้มเลิกความฝัน แต่ถ้ามองอีกด้าน มันก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่เข้ามาท้าทายเธอเช่นกัน ขณะที่ฝ่ายของเซย์จินั้น หนังดูจะไม่ค่อยใส่อุปสรรคอะไรเข้าไปนัก นอกจากบอกว่าเขามีความเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ มุ่งมั่นแต่เรื่องผลงานจนแทบจะลืมใส่ใจอีกฝ่ายที่ห่างไกลกัน สุดท้าย ระยะทางก็ดูจะกลายเป็นอุปสรรคของความรักไปอีกด้วย
ในอะนิเมะนั้นเล่าถึงเรื่องการพบกัน การต้องแยกจาก การรอคอยอย่างมีความหวัง ที่เป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ของคนสองคนเอาไว้ได้ค่อนข้างพอดี ทำให้คนดูอินได้พอประมาณ แต่ก็น่าเสียดายนิดหน่อยที่หลายๆ ปัจจัยใน ‘วันนั้น วันไหน หัวใจบรรเลง’ ดูไม่กลมกล่อม ไม่ชวนอินได้เท่า
เวอร์ชันหนังคนแสดงไม่ได้เล่าเรื่องราวในนิทาน(หรือนิยาย)ของชิซึกุให้เห็นเป็นภาพแฟนตาซีแบบในเวอร์ชันอะนิเมะ ก็ทำให้หนังไม่ต้องใช้ทุนสร้างมากเกินจำเป็น นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนเพลงหลักเป็นเพลงใหม่แตกต่างจากในเวอร์ชันอะนิเมะที่อบอวลไปด้วยเพลง ‘Take me home, country roads’ ทำให้คนดูที่คุ้นชินสามารถอินไปกับเรื่องราว
ด้วยตัวเรื่องราวแรกเริ่มนั้นมีความตั้งใจปลูกถ่ายเมล็ดพันธุ์แห่งความฝันไว้ให้กับเยาวชนที่ได้ดู มันจึงดูเหมาะดีกับการจะเล่าเป็นอะนิเมะ แต่ เวอร์ชันหนัง มันเล่าถึงช่วงเวลาที่วัยรุ่นคนเดิมโตเป็นผู้ใหญ่ ได้เผชิญกับชีวิตการทำงานจริงๆ ที่อาจกระเทือนถึงความฝัน เรื่องราวจึงดูค่อนข้างหนักกว่า ทำให้หนังเวอร์ชันนี้มีปัญหาในการจะเล่าให้กลมกล่อม แถมทีมนักแสดงเองก็ยังไม่ชวนเข้าถึงสักเท่าไหร่
กลายเป็นหนังที่ยากจะในการให้คะแนนเสียจริงๆ
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | Whisper of the Heart / วันนั้น วันไหน หัวใจบรรเลง |
กำกับ | Yuichiro Hirakawa/ฮิราคาวะ ยูอิจิโระ |
เขียนบท | Aoi Hiiragi (manga) |
แสดงนำ | เซอิโนะ นานะ, มัตสึซากะ โทริ |
แนว/ประเภท | ดราม่า, โรแมนติก |
เรท | ไทย/ทั่วไป |
ความยาว | 114 นาที |
ปี | 2022 |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
เข้าฉายในไทย | 8 ธันวาคม 2022 |
ผลิต/จัดจำหน่าย | Sony Pictures International Productions, มงคลภาพยนตร์, Shochiku |
Whisper of the Heart
พล็อตและบท - 6
การแสดง - 5.6
การดำเนินเรื่อง - 5.8
เพลงและดนตรีประกอบ - 6.4
งานถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษและโปรดักชัน - 6.1
6
วันนั้น วันไหน หัวใจบรรเลง
จากอะนิเมะที่บอกเล่าความรักที่ผลักดันแรงบันดาลใจในความฝันให้แก่กัน ถูกหยิบมาต่อเติมเล่าเรื่องราวหลังจากนั้นไปอีก 10 ปี กลายเป็นช่วงเวลาของการเผชิญหน้ากับความจริงในชีวิตการทำงานที่อาจส่งผลต่อความฝันและความสัมพันธ์ระยะไกล หนังมีแง่มุมที่ดีอยู่ แต่การเล่าทั้งพาร์ทของวัยรุ่นวัยฝัน กับวัยทำงาน อาจทำให้ยากจะควบคุมหนังให้กลมกล่อม แถมตัวนักแสดงเองก็ยังทำได้ไม่ถึงอีกต่างหาก จึงค่อนข้างเป็นเวอร์ชันที่น่าเสียดายอยู่หน่อยๆ