ภาพยนตร์

รีวิวหนัง The Salesman | ละครเวทีกับชีวิตจริง หนังชิงออสการ์

หนังอิหร่านอีกเรื่องของ Asghar Farhadi ที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม

ในทุกปี เวทีออสการ์จะประกาศหนังที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปีนี้ก็เช่นกัน ปีหนึ่ง เคยมีหนังอิหร่านที่เข้าชิงสาขานี้มาแล้ว และปีนี้ ผู้กำกับฯ​ คนเดิมก็พาหนังของเขาเข้าไปชิงอีกครั้ง The Salesman’ หนังอิหร่านจากผู้กำกับฯ ที่คอหนังรางวัลคุ้นชื่อกันดี อัสการ์ ฟาร์ฮาดี

The Salesman เดอะ เซลส์แมน
ภาพจากหนัง ‘เดอะ เซลส์แมน’

ผมเองเคยได้รู้จักกับผลงานของเขาคนนี้จากภาพยนตร์ระดับออสการ์เรื่อง ‘A Separation’ กลายเป็นผลงานระดับขึ้นหิ้งที่คอหนังต่างยกนิ้วให้ แถมยังเร่งเร้าให้ลองเสพด้วยสายตาตัวเองอีกต่างหาก ผมรู้สึกว่านั่นเป็นหนังที่ดีมากแล้ว แต่เมื่อมาพบกับหนังเรื่องนี้

ลีลาการเล่าของเขาเอาผมอยู่ยิ่งกว่าอีกครับ


เรื่องย่อหนัง ‘The Salesman’

มันเป็นเรื่องราวของสองสามีภรรยาคู่หนึ่ง อีหมัด (Shahab Hosseini) และรานา (Taraneh Alidoosti) พวกเขามีชีวิตอยู่ในอิหร่าน สามีเป็นครูสอนด้านภาษาและวรรณกรรม และมีชีวิตอีกส่วนเป็นนักแสดงละครเวทีร่วมกับภรรยาอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวมันอยู่ตรงที่พวกเขาจำเป็นต้องย้ายออกจากอพาร์ตเมนต์หลังเดิมที่กำลังมีรอยร้าวและเสี่ยงที่จะพังทลายลงมา ความฉุกละหุกทำให้พวกเขารีบร้อนในการค้นหาและได้อพาร์ตเมนต์แห่งใหม่จากการแนะนำของคนในคณะละคร

โดยที่ไม่รู้ว่า ห้องนั้นเจ้าของเก่ายังขนของออกไปไม่หมด

ตัวอย่างหนัง ‘เดอะ เซลส์แมน’ [ซับไทย]

ไม่กี่วันถัดมา เขาก็ต้องตกใจเมื่อได้รู้ว่าภรรยาโดยคนบุกเข้ามาทำร้ายเลือดอาบถึงในห้องพัก ไม่รู้คิดถูกหรือคิดผิดดีกับการที่เลือกไม่แจ้งความกับตำรวจ เพราะดูเหมือนเบาะแสบางอย่างจะยิ่งกดดันให้อดรนทนไม่ได้ ต้องหาให้เจอว่าผู้ร้ายเป็นใคร

และมันก็กำลังเลยเถิดไปเป็น “การล้างแค้น”


รีวิวหนัง ‘The Salesman’

ก่อนจะได้ดูหนัง บอกตามตรงว่าไม่มีความคาดหวังใดๆ มากไปกว่าเป็นงานของผู้กำกับฯ​ ชาวอิหร่านที่เคยทำหนังจนได้รางวัลออสการ์ ซึ่งนั่นก็มากเพียงพอแล้ว แต่เมื่อพบกับตัวหนังจริงๆ รู้สึกได้เลยว่า ผู้กำกับฯ คนนี้เขาเล่นกับเรื่องประเด็นครอบครัวได้แม่นจริงๆ

**บทความส่วนนี้ อาจจะมีสปอยล์บ้าง หากไม่ซีเรียสก็อ่านกันต่อได้นะครับผม

รอยร้าวของครอบครัวในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ สังคมอิเรเนียนคือสังคมของคนมุสลิมซึ่งมีความแตกต่างจากสังคมบ้านเราอย่างมาก

รานาที่เจอเรื่องแบบนี้ไม่ยินดีที่จะแจ้งความกับตำรวจ เพราะเรื่องราวของเธอจะถูกโจษจันไปทั่ว ในฐานะที่เธอเป็นคนปลดล็อคประตูและปล่อยให้คนร้ายเข้ามาทำร้ายเธอในขณะที่เธออาบน้ำอยู่ได้ มันคือความอับอายที่มากเกินกว่าจะเอาไปเล่าให้ใครเขาฟังได้

ซึ่งแตกต่างจากอีหมัดผู้เป็นสามีที่ไม่คิดจะปล่อยวาง เขารู้ว่าคนที่เคยเช่าก่อนหน้าเป็นหญิงสำส่อน หลังจากเขาเห็นเงินที่วางไว้พร้อมกับถุงยาง เขารู้ว่านั่นไม่ใช่เงินของเขา แถมรานาผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เอาเงินนั้นไปซื้อของมาทำอาหารให้เขากินอีก ความรู้สึกเหมือนถูกหมิ่นเกียรติอย่างร้ายแรง เขาเริ่มอดรนทนไม่ได้และต้องหาตัวผู้ร้ายมาประจานให้สาสม

มุมมองที่แตกต่างกันนี้ยิ่งมากยิ่งเป็นรอยร้าวในครอบครัว

The Salesman เดอะ เซลส์แมน
ภาพจากหนัง ‘เดอะ เซลส์แมน’

สังคมของคนรุ่นนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง สิ่งใหม่ๆ กำลังเข้ามา และพวกเขามีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับเปลี่ยนแปลงนั้น

สังคมของคนอิหร่านมักจะมองผู้ชายอยู่สูงกว่าผู้หญิง แม้ผู้หญิงจะตอบโต้ได้ด้วยคำพูดและการกระทำบางประการ แต่ในหนังเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่ามีบางอย่าง อีหมัดก็เลือกจะไม่ยอมฟัง ด้วยความดื้อรั้น หรือการยึดถือว่าตนเป็นผู้ชาย หรืออะไรก็แล้วแต่

หลังจากพูดคุยกันแล้วว่าจะไม่แจ้งความเพราะรานาอับอายที่จะเล่าเรื่องเยี่ยงนี้ให้คนอื่นฟัง อีหมัดเลือกที่จะสืบสาวราวเรื่องด้วยตัวเอง จนพบกับตัวการ แม้ว่ารานาจะทัดทานถึงขั้นยื่นคำขาด เขารับฟังแต่ในใจก็มีโทสะควบคุมอยู่ พลั้งเผลอทำบางสิ่งไปที่สะเทือนใจทั้งตัวเขาและผู้ชมอย่างเราๆ มาก

มันเป็นช่วงดราม่าที่แสนยาวนาน และบีบหัวใจเหลือเกิน

เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ แต่สะกดใจ อึ้งและอิน

ช่วงแรกนั้น เราไม่รู้เลยว่าหนังจะเล่าเรื่องอันใด เพราะเรารู้สึกระทึกในนาทีแรกที่หนังเริ่มต้นขึ้นมา อพาร์ตเมนต์ที่กำลังร้าวจนทุกคนต้องรีบเร่งอพยพออกจากตึกอย่างไว แต่ต่อมา เราก็รู้ว่าตึกมันแค่ร้าวเท่านั้น สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้พังลงมา

แต่ที่พังคือจิตใจของตัวละครต่างหาก

The Salesman เดอะ เซลส์แมน
โปสเตอร์หนัง ‘เดอะ เซลส์แมน’

ดูไปแล้วเรื่องราวในหนัง ‘เดอะ เซลส์แมน’ มันเป็นแค่เรื่องง่ายๆ ธรรมดาๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่ ผกก. คนนี้เขาเก่งในการหยิบมุมเล็กๆ มาสร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมในใจของผู้ชมได้อย่างประหลาด

ครอบครัวมิได้ประกอบไปด้วยแค่สามีและภรรยา ซึ่งนั่นเป็นรูปแบบครอบครัวที่เล็กที่สุดแล้ว หากมันยังมีพ่อตา แม่ยาย ลูกเขย ลูกสะใภ้ เมื่อครอบครัวใหญ่ขึ้น ความซับซ้อนก็ยิ่งมากขึ้น หากสมาชิกคนใดทำอะไรเสื่อมเสีย เขาก็คงอยากจะเก็บมันไว้เป็นความลับแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าจะมีใครมาเปิดโปง มันก็คือการประจานเขา ทำให้เขาอับอาย มันไม่ได้เป็นการทำร้ายแค่เขา และมันกลับทำลายไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวอีกด้วย

ช่วงสุดท้ายของหนังช่างยาวนาน ภรรยาของอีหมัดพยายามทัดทานเท่าที่จะทำได้แล้ว แต่ดูเหมือนความอยากล้างแค้นนั้นมีมากกว่า

ในใจของผมได้แต่ภาวนาในใจขอให้เขาหยุด เรากำลังอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาที่จิตใจคิดเห็นตรงข้ามกับตัวละคร หนังแสดงให้เห็นความเลวร้ายของการดึงดันจะทำลายเกียรติคนอื่น

โดยละลืมไปว่าเขากำลังทำลายเกียรติของตัวเองอยู่เช่นกัน

ละครเวที อวสานเซลส์แมน

อย่างที่ได้เล่าไป อีหมัด ผู้สามี และรานา ผู้ภรรยา กำลังจัดการแสดงละครเวที ‘Death of a Salesman (อวสานเซลส์แมน)’ ซึ่งด้วยรอยร้าวที่เกิดขึ้นในครอบครัว มันกระทบไปถึงละครเวทีของพวกเขาด้วย สาเหตุที่ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี เลือกละครเวทีเรื่องนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องมันต้องมีเหตุผลสักอย่างแน่ๆ

ผู้กำกับฯ​ The Salesman เดอะ เซลส์แมน
Asghar Farhadi ผกก. หนัง ‘เดอะ เซลส์แมน’

ถ้าเป็นคนที่เคยศึกษาหรือเคยดูหรืออ่านบทละครเวทีนี้มาก่อน ก็อาจเข้าใจได้ว่ามันเกี่ยวกับอะไรและมันสอดรับกับเหตุการณ์ที่ตัวละครเหล่านี้กำลังประสบพบเจอได้อย่าง เพราะหากไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็อาจไม่สามารถเชื่อมโยงหนังที่ซ้อนหนังเรื่องนี้ได้

บทละครนั้นว่าด้วยสามีผู้เป็นเซลส์แมน เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่เว้นแม้กระทั่งการโกหก แต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ต่อโชคชะตา และจำเป็นต้องฆ่าตัวตายเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเมียและลูกของตัวเอง

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ อีหมัดจะต้องรับมือกับเซลส์แมนเสียเอง


ชื่อภาพยนตร์: The Salesman / Forushande / เดอะ เซลส์แมน
ผู้กำกับภาพยนตร์: Asghar Farhadi
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Asghar Farhadi
นักแสดงนำ: Taraneh Alidoosti, Shahab Hosseini, Babak Karimi
ดนตรีประกอบ: Sattar Oraki
แนว/ประเภท: Drama, Thriller
ความยาว: 125 นาที
อัตราส่วนภาพ: 1.85 : 1
เรท: ไทย/, USA/PG-13
วันเข้าฉายในประเทศไทย: 16 กุมภาพันธ์ 2560
ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย/สตูดิโอ: Arte France Cinéma, Doha Film Institute, Farhadi Film Production

เดอะ เซลส์แมน

The Salesman - 8.7

8.7

The Salesman

ถ้าเป็นคนที่เคยศึกษาหรือเคยดูหรืออ่านบทละครเวทีนี้มาก่อน ก็อาจเข้าใจได้ว่ามันเกี่ยวกับอะไรและมันสอดรับกับเหตุการณ์ที่ตัวละครเหล่านี้กำลังประสบพบเจอได้อย่าง เพราะหากไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็อาจไม่สามารถเชื่อมโยงหนังที่ซ้อนหนังเรื่องนี้ได้ บทละครนั้นว่าด้วยสามีผู้เป็นเซลส์แมน เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่เว้นแม้กระทั่งการโกหก แต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ต่อโชคชะตา และจำเป็นต้องฆ่าตัวตายเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเมียและลูกของตัวเอง สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ อีหมัดจะต้องรับมือกับเซลส์แมนเสียเอง

User Rating: Be the first one !

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ