มันเป็นหนังไทยที่ได้ชิงรางวัลสุพรรณหงส์ถึง 8 สาขาด้วยกัน แม้ว่ามันจะไม่สามารถคว้ามาได้เลยสักสาขาเดียว แต่ก็ต้องถือว่าเป็นหนังไทยอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การกลับไปเก็บตกอีกครั้ง เมื่อโรง House RCA หยิบกลับมาฉาย มันก็เลยต้องกลับไปดูเสียหน่อย ‘มหาสมุทรและสุสาน (The Island Funeral)‘ หนังไทยที่เล่าเรื่องภาคใต้เรื่องนี้
จริงๆ หนังเรื่องนี้ก็คว้ามาได้หลายรางวัลอยู่ สี่รางวัลจาก Starpics Thai Film Awards ครั้งที่ 14 ได้เป็นหนัง Best Cinematography โดย BK Magazine
หนังไทยอีกเรื่องที่ถูกมองข้ามไปจนต้องมาตามเก็บทีหลัง
เรื่องย่อหนัง ‘The Island Funeral’
พล็อตของหนังมันก็มีเพียงประโยคสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องราวของสามวัยรุ่นที่ขับรถเดินทางจากกรุงลงใต้มาปัตตานีเพื่อหาป้าที่แทบไม่เคยเจอกัน
สามสหายที่พากันขับรถเดินทางลงใต้นั้น ก็มีไลลา (ศศิธร พานิชนก) พี่สาวที่ค่อนข้างจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับซูกู้ด (อุกฤษ พรสัมพันธ์สุข) น้องชายที่เป็นมุสลิมด้วยกัน ด้วยความหัวรั้นหรืออะไรไม่ทราบได้ พี่สาวที่เป็นคนขับจึงหลงทางตลอดเวลา และเธอเองก็คือคนที่ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าจะต้องลงมาเพื่อหาป้าที่ปัตตานีให้ได้ แม้ว่าน้องจะมองว่ามันดูอันตรายจากข่าวที่ได้ยินอยู่ทุกวี่วัน
น้องชายพาต้อย (ยศวัศ สิทธิวงค์) เพื่อนร่วมมหาลัยมาด้วยอีกคน เขาเป็นคนเดียวที่ไม่ใช่มุสลิม และค่อนข้างมีท่าทีกลัวต่อสิ่งที่คิดว่าอาจได้เจอเมื่อต้องลงใต้
แต่ยิ่งเดินทางไปลึกเท่าไร ก็ยิ่งพบความไม่น่าไว้วางใจ และความไม่ชอบมาพากลบางอย่างของดินแดนที่ห่างไกลบ้านเยี่ยงนี้ มีอะไรที่เราไม่รู้จักหลายอย่าง ทำให้เราเริ่มจะหวาดระแวงสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า
แล้วสิ่งที่ชื่อเรื่องบอกเราไว้ล่ะ มันคืออะไร ?
รีวิวหนัง ‘มหาสมุทรและสุสาน’
มันเป็นหนังที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งและไม่สงบสองที่ประเทศไทย ทั้งในกรุงเทพฯและในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนังเลือกให้ตัวละครเป็นคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ แต่กำลังจะเดินทางลงไปยังปัตตานี ชายแดนใต้ที่เราต่างก็รู้กันว่ามันไม่สงบ น่ากลัว ไม่น่าไว้วางใจ
สามคนที่ขับไปด้วยกันนั้นพกพาความรู้สึกเหล่านั้นลงใต้ไปด้วย
จริงๆ มันก็คือหนังสไตล์ Road Movie ดีๆ นี่เอง แต่แฝงเรื่องราวด้านความขัดแย้งในสังคมเข้าไปด้วย ถ้าจะแยกออกง่ายๆ บ้านเรามีความขัดแย้งอยู่สองสิ่งใหญ่ๆ นั่นคือ “การเมือง” และ “ศาสนา” แต่ถ้าลงใต้ความขัดแย้งที่เราจะมองออกก่อนก็เห็นจะเป็นเรื่องของศาสนา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคงเป็นเรื่องของการมองเห็นที่แตกต่างกันทาง “ความคิด” เสียมากกว่า
หนังอาจดูมีข้อเสียอยู่บ้าง ตรงที่การดำเนินเรื่องค่อนข้างเนิบนาบเชื่องช้า บางเวลาก็ให้ความสำคัญกับการเล่นกับภาพที่ทับซ้อน เหมือนว่าช่วงเวลาการเดินทางไปยังบ้านของป้าจะถูกใช้ไปมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบนเรือที่ล่องไปตามคลองก่อนจะถึงจุดหมาย
เหมือนหนังเลือกจะไม่มีบทสนทนาระหว่างผู้นำทางกับผู้ขับรถตาม ประหนึ่งต้องการเพียงความรู้สึกไม่น่าไว้วางใจแบบยาวๆ
หากแต่บทสนทนาบนโต๊ะอาหารถือว่า “คมสุดๆ”
ผมอาจจะอึ้งๆ ไปบ้างกับการขยับเขยื้อนและการพูดจาของป้า ที่เนิบนาบเกินปกติ แต่ก็ต้องยอมรับบทสนทนาบนโต๊ะอาหารนั้นเป็นหัวใจของหนัง เขาให้เวลาเราซึมซับกับความน่าสงสัยอันแสนยาวนานมาทั้งหมดนั้น
ก็อาจจะเพื่อให้เรามาเจอฉากนี้นี่เอง
การอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมากย่อมจะพบกับความขัดแย้งทางความคิด ที่ก็มักจะเลือกให้ความคิดกลุ่มของตัวเองเป็นสำคัญ มองความคิดด้านอื่นเป็นสิ่งไม่ถูกและพยายามกลบทับแนวความคิดที่แตกต่าง จริงๆ มันเรื่องของ “มุมมองที่แตกต่างและการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” เสียมากกว่า น่าเสียดายที่คนไม่เลือกข้างกลับกลายเป็นคนที่ข้างไหนก็มองเป็นศัตรู และไม่มีที่จะยืนอยู่ในสังคม เหมือนคนที่โดนไล่ไปเป็น “คนข้างนอก” โดยปริยาย
และการเปิดกว้างทางคิดกลายเป็นเรื่อง “impossible”
การถ่ายทำอาจจะใช้การด้นสดเป็นบางส่วน จึงทำให้มีบางจุดที่ดูโดดๆ อยู่บ้าง เหมือนตัวละครบางตัวแสดงออกมาได้แบบประดักประเดิดเล็กๆ ดูล้นๆ เกินๆ อยู่นิดหน่อย กับยังมีบางส่วนของหนังที่เหมือนจะยังไม่ถูกเฉลย และปล่อยให้เป็นความสงสัยไว้อยู่เช่นนั้น
รวมๆ ก็คือหนังไทยอินดี้ที่มีประเด็นน่าสนใจเรื่องหนึ่ง
ชื่อภาพยนตร์: มหาสมุทรและสุสาน / The Island Funeral
ผู้กำกับภาพยนตร์: พิมพกา โตวิระ (Pimpaka Towira)
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: พิมพกา โตวิระ, ก้อง ฤทธิ์ดี
นักแสดงนำ: ศศิธร พานิชนก, อุกฤษ พรสัมพันธ์สุข, ยศวัศ สิทธิวงค์, พัฒนพงษ์ ศรีบุญเรือง, วัลลภ รุ่งกำจัด, เกียรติสุดา ภิรมย์
ดนตรีประกอบ: อินสไปเรทีฟ, นพนันท์ พาณิชย์เจริญ
แนว/ประเภท: Drama
ความยาว: 105 นาที
อัตราส่วนภาพ:
เรท: ไทย/น15+, USA/
วันเข้าฉายในประเทศไทย: 28 ตุลาคม 2558
ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย/สตูดิโอ: Extra Virgin, มอสคีโทฟิล์มส์ดิสทริบิวชัน
มหาสมุทรและสุสาน
มหาสมุทรและสุสาน - 7.9
7.9
The Island Funeral
การอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมากย่อมจะพบกับความขัดแย้งทางความคิด ที่ก็มักจะเลือกให้ความคิดกลุ่มของตัวเองเป็นสำคัญ มองความคิดด้านอื่นเป็นสิ่งไม่ถูกและพยายามกลบทับแนวความคิดที่แตกต่าง จริงๆ มันเรื่องของ "มุมมองที่แตกต่างและการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน" เสียมากกว่า น่าเสียดายที่คนไม่เลือกข้างกลับกลายเป็นคนที่ข้างไหนก็มองเป็นศัตรู และไม่มีที่จะยืนอยู่ในสังคม เหมือนคนที่โดนไล่ไปเป็น "คนข้างนอก" โดยปริยาย และการเปิดกว้างทางคิดกลายเป็นเรื่อง "impossible"