ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่หนังเทศกาลจะได้เฉิดฉายในโรงหนังบ้านเราครับ ก่อนที่จะถึงวันประกาศผล Academy Awards นั้น หนังเรื่องไหนที่ได้มีชื่อเข้าชิง เป็นหนังที่ขายยาก มีคนดูกลุ่มเล็ก และยังไม่ได้ฤกษ์ฉายโรงในบ้านเราสักที ก็จะเข้าโรงกันในช่วงนี้แหละครับ หนึ่งในนั้น คงไม่พ้น ‘Tár’ หนังที่ดูหน้าแล้วท่าจะขายยากเรื่องหนึ่งในปีนี้เลย
ด้วยความที่มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องของวาทยากรหญิงในแวดวงดนตรีคลาสิก มันจึงไม่ใช่หนังที่คนดูส่วนใหญ่จะสนใจ แต่เพราะมันเป็นหนังที่เข้าชิงถึง 6 รางวัล มีนักแสดงนำเป็นดารามีชื่ออย่าง Cate Blanchett สองข้อรวมกันจึงพอจะได้เข้าฉายในช่วงเวลานี้ อีกส่วนหนึ่ง มันเป็นหนังที่กำกับโดย Todd Field เจ้าของผลงานโดดเด่น ทั้งเรื่อง ‘Little Children’ และ ‘In the Bedroom’ ผู้ที่ทั้งเขียนบทและกำกับ
คอหนังสายรางวัลย่อมจะไม่มีพลาดกับหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว
เรื่องย่อหนัง ‘Tár’
หนังเรื่องนี้ เล่าเรื่องของ Lydia Tár (Cate Blanchett จากหนังเรื่อง ‘Blue Jasmine’, ‘Nightmare Alley’ และ ‘Carol’) คอนดักเตอร์หรือวาทยกรหญิงผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือ ทั้งในด้านความสามารถและชีวิตส่วนตัว เธอกลายเป็นวาทยกรหญิงคนแรกของวงออร์เคสตร้าเลื่องชื่ออย่าง Berlin Philharmonic ทั้งเป็นผู้ที่มีความหลงใหลอย่างแรงกล้าในเส้นทางที่เพศชายคือผู้แสดงหลัก
เธอก็มีชีวิตส่วนตัวที่สังคมให้ความสนใจ อย่างรสนิยมที่ชมชอบให้เพศเดียวกัน เธออยู่กินกับนักดนตรีหญิงในวงและมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ขณะที่ในด้านชีวิตการงาน เธอเดินเข้าหาความท้าทายด้วยงานบันทึกเสียงเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของ Gustav Mahler ภารกิจอันหนักอึ้งนี้ผลักดันความลับอันดำมืดบางอย่างให้ออกมาทำงาน และพัดพาให้ราชินีผู้หยิ่งทะนงต้องตกลงจากบัลลังก์
รีวิวหนัง ‘ทาร์’
นับว่าเป็นความกล้าหาญชาญชัยของทั้งตัวผู้กำกับ นักแสดงนำ และตัวค่ายหนังจริงๆ ที่เลือกจะทำหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องเล่าถึงตัวเอกที่เป็นวาทยกรที่เป็นเพศหญิง กับพล็อตหนังที่เล่าถึงวงการดนตรีคลาสิกและวงออร์เคสตร้า เอาจริงๆ มันเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ แต่มันก็เป็นอะไรที่ท้าทายว่าจะมีกลุ่มคนมากสักเท่าใดด้วย
เห็นได้ชัดว่า สำหรับ เคท บลันเชตต์ ไม่ว่าบทไหนก็เอาอยู่
และเพราะผู้กำกับเองที่เจาะจงว่าบทนี้ต้องเป็นของ Cate Blanchett ถ้าเธอไม่รับเล่น หนังเรื่องก็คงไม่มีวันเกิดขึ้นมา และเพราะว่าเธอรับบทเป็นลิเดีย ทาร์ มันจึงทำให้เราได้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงความสามารถด้านการแสดงที่น่าทึ่ง ด้วยเพราะเธอทำได้ทุกอย่างอย่างแนบเนียน จนเหมือนว่าเธอคือ อัจฉริยะวาทยกรหญิงแห่งแวดวงดนตรีคลาสิกจริงๆ ไม่ใช่นักแสดงคนหนึ่งที่มาสวมบทบาท เธอสามารถท่องบทยาวๆ ที่เต็มไปด้วยภาษาของคนที่ช่ำชองในดนตรีคลาสิก เธอสามารถแสดงท่วงท่าของวาทยกรที่ควบคุมนักดนตรีวงออร์เคสตร้าทั้งวงได้อย่างสมบทบาท ทั้งยังเล่นเปียโนได้เอง จนไม่มีใครเชื่อแล้วว่า เธอเป็นแค่นักแสดง
เธอต้องกลับไปฝึกซ้อมเปียโนใหม่ ต้องฝึกพูดภาษาเยอรมันจนคล่องปาก ทั้งต้องเลียนท่าทางคอนดักเตอร์ให้เหมือนจนแยกไม่ออก แถมบทที่เธอได้รับก็มีทั้งเรื่องส่วนตัวที่เจอทั้งซีนร้องไห้ ซีนบ้าบอ ซึ่งก็ทำได้เนียนทุกจุด ความสามารถระดับนี้ ถ้าจะได้รางวัลออสการ์ในฐานะนักแสดงนำหญิงอีกครั้ง ก็คงไม่มีใครรู้สึกขัดใจ แต่คงจะบอกด้วยซ้ำว่า ‘สมมงแล้ว’ ด้วยซ้ำ
เล่าเรื่องราวของอัจฉริยะผู้ต้องเผชิญหน้ากับ Cancel Culture
อัจฉริยะอย่างลินดา เอ้ย ลิเดีย ทาร์ ก็อาจคล้ายกับอัจฉริยะอีกหลายคนบนโลก ที่มีลักษณะอุปนิสัยแบบที่ไม่น่าเข้าใกล้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหากจะมองกันลึกๆ ให้ถ่องแท้ แต่เพราะท่าทีของอัจฉริยะพวกนี้นี่แหละที่ก่อปัญหาให้ผู้คนรอบข้างและผู้คนทั่วไปรู้สึกต่อพวกเขาในด้านลบ
แม้คนดูที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงดนตรีคลาสิก คงมีปัญหาไม่น้อยกับบทสนทนาที่ต้องใช้ความเป็นวงในเท่านั้นจึงจะเข้าถึง แต่ในพาร์ตของเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของวาทยกรหญิงนั้นน่าจะซึมซับได้บ้าง เพียงแต่วิธีการเล่าเรื่องก็ไม่ได้เข้าถึงง่ายนัก
มันคือชีวิตของอัจฉริยะแห่งวงการคนหนึ่งที่ทะเยอทะยานเดินเข้าหางานที่ท้าทาย แต่ความเป็นตัวเองก็พาให้ชื่อเสียงของเธอเสียหายครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าสิ่งที่คนร่ำลือนั้นจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร แต่มันก็พาให้ชีวิตของลิเดียถึงคราตกต่ำ เมื่อเธอถูกกล่าวหาและนำไปสู่การคว่ำบาตร มันจึงกลายเป็นหนังที่พาสำรวจ Cancel Culture ที่เกิดกับคนในวงการศิลปะ
ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้
เป็นหนังที่ค่อนข้างเรียกร้องความสนใส่ใจของคนดู วิธีการเล่าของหนังมีสองเนื้อเหมือนจะรวมแต่ก็แยกกันอยู่ในที บางส่วนก็ดูเหมือนย่อยง่าย เข้าใจง่าย แต่ขณะเดียวกัน บางส่วนก็เหมือนคนที่อยากเล่าเรื่อง แต่มีจริตในแบบส่วนตัวที่เลือกจะไม่เอาใจใคร เปิดให้เห็น แต่ก็ไม่ยอมให้โจ่งแจ้ง จึงอาจเป็นหนังที่เข้าถึงยากไปบ้างสำหรับบางคน แต่ถ้าหนังเจอคนดูที่อยากจะเข้าใจจริงๆ การดูในรอบที่สองที่สามอาจเกิดขึ้นกับพวกเขา แต่คำถามคือ จะเหลือคนจำพวกนั้นอยู่สักเท่าไหร่นี่สิ
ถ้ามองไปในความคาดหวังของตัวเองในช่วงที่ยังเปิดดูตัวอย่างหนัง ก็ยังคิดไปว่า เขาคงจะเล่นกับคำว่า ‘ทาร์’ ที่เป็นสารที่อยู่ในควันบุหรี่ ทั้งที่ความจริงแล้ว ‘ทาร์’ เป็นนามสกุลของตัวละครนำ อาจมีความหมายเป็นนัยๆ ได้ว่า ลักษณะหรือความเป็นตัวตนของ ‘ทาร์’ นั่นเองที่เป็นพิษ ทำร้ายทั้งตัวเธอเองและเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง
ในด้านงานภาพ มองเห็นได้อย่างแจ่มชัดเลยว่า เรื่องนี้อุดมไปด้วยงานภาพที่เนี้ยบสุดๆ ทุกช็อตมาอย่างคม จัดวางอย่างประณีต จัดแสงดีเด่น ไม่พอในพาร์ทของการอัดเสียงดนตรีคลาสิก ด้วยความที่เราไม่มีปัญหากับเสียงเพลงจากวงออร์เคสตร้าทำให้รู้สึกชอบมากกับเสียงดนตรีที่ทั้งวงบรรเลงประสานกัน คือมันเพราะมากจริงเมื่อได้ฟังในโรงหนัง โดยเฉพาะเสียงเชลโลของนักแสดงและนักเชลโลสาว Sophie Kauer นี่คืองานเดบิวต์ของตัวเธอ
และจัดว่าเป็นสิ่งดีอีกอย่างของหนังเรื่องนี้
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | Tár |
กำกับ | Todd Field |
เขียนบท | Todd Field |
แสดงนำ | Cate Blanchett, Noémie Merlant, Nina Hoss, Sophie Kauer, Mark Strong, Sylvia Flote |
แนว/ประเภท | ดราม่า, ดนตรี |
เรท | R |
ความยาว | 158 นาที |
ปี | 2022 |
สัญชาติ | สหรัฐอเมริกา |
เข้าฉายในไทย | 9 กุมภาพันธ์ 2023 |
ผลิต/จัดจำหน่าย | Focus Features, Standard Film Company, EMJAG Productions, United International Pictures (UIP) |
Tár
พล็อตและบท - 7.5
การแสดง - 8.9
การดำเนินเรื่อง - 7.1
เพลงและดนตรีประกอบ - 8.1
งานถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษและโปรดักชัน - 8
7.9
Tár
หนังที่เล่าเรื่องราวของวาทยกรหญิงแห่งวงออร์เคสตร้าเบอร์ลิน แต่เรื่องราวส่วนตัวของเธอกำลังเล่นงาน กับบทบาทการแสดงของ Cate Blanchett ที่ถ่ายทอดความเป็นวาทยกรอัจฉริยะได้อย่างเข้าถึงในทุกจุด ราวกับเธอมีความสามารถในด้านนี้จริง งานภาพเนี้ยบ ดนตรีคลาสิกดีงาม เสียงในโรงหนังถือว่ายอดเยี่ยม แม้วิธีการเล่าเรื่องอาจเป็นตัวเองมากไปนิดก็ตาม