หลังคว้ารางวัลเกียรติยศอันดับสองหรือ Grand Prix ในเทศกาลหนังเมืองคานส์มาแล้ว ‘Son of Saul‘ ก็ประกาศศักดาด้วยการเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 88 เรื่องราวความเลวร้ายของค่ายกักกันชาวยิวที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม
จะว่าไป หนังต่างประเทศที่ได้เข้าชิงออสการ์นี่เป็นอะไรที่หาดูในโรงหนังบ้านเรายากหน่อยนะ ส่วนใหญ่เรามักจะได้ดูหนังอเมริกันที่มีชื่อเข้าชิงเสียมากกว่า นั่นเพราะหนังต่างประเทศที่ไม่ใช่หนังฮอลลีวูด ไม่ใช่หนังเกาหลีญี่ปุ่นจีน มักจะมีโอกาสน้อยที่จะได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะยิ่งเป็นหนังรางวัลนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย
ที่เราจะได้ชมกัน ณ บัดนี้…
เรื่องย่อหนัง ‘Son of Saul’
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ค่ายกักกันในค่ายเอาชวิทซ์ ซอล ออสแลนเดอร์ (Géza Röhrig) คือนักโทษชายชาวฮังกาเรียน-ยิวที่ทำงานอยู่ที่นั่น ดูเหมือนเขาจะมีสังกัด มีพี่ใหญ่เป็นของตัวเอง ได้พบเห็นการขนนักโทษชายหญิงมาแล้วก็ฆ่าทิ้งด้วยการรมควัน เขาทำงานทุกอย่าง ทั้งขนศพ ทำความสะอาด และแม้กระทั่งตักขี้เถ้าทิ้งลงน้ำ
ไม่มีใครอยากอยู่เป็นนักโทษที่ไร้อิสรภาพเฉกเช่นนี้หรอก เพราะสำเหนียกได้ว่าวันหนึ่งก็อาจต้องลงเอยกลายเป็นศพเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ภารกิจของการเอาชีวิตออกจากที่นั่นกลับพันพัวอยู่กับเหตุการณ์ใหม่ที่เขากำลังสร้างขึ้นมาเอง นั่นคือ การที่เขาพบว่าลูกชายของตัวเองกลายเป็นศพหนึ่งในนั้น และเขาปรารถนาที่จะจัดการศพด้วยการฝังและมีแรบไบมาสวดให้มันถูกต้องตามพิธีการ
แต่เขาจะหาได้อย่างในสถานกักกันแห่งนี้
รีวิวหนัง ‘Son of Saul’
ดูๆ ไปแล้ว หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นคนกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด เพราะคนชอบดูหนังสงครามนั้นเป็นส่วนน้อย นี่ไม่ใช่หนังเพื่อความบันเทิง เพราะดูแล้วไม่ได้บันเทิงเริงใจใดๆ นอกจากความขึงขัง น่าอึดอัด และกดดัน ทุกอย่างดำเนินไปอย่างนั้นจวบจนหนังจบลง
ใช้งานภาพ สร้างความรู้สึกกดดัน
หนังถ่ายทำด้วยการใช้ภาพขนาดไม่ปกติสำหรับหนังในยุคสมัยปัจจุบัน สัดส่วนภาพ 1.37 : 1 นั้นนับว่าพบเห็นไม่บ่อยนัก แต่พอเข้าใจว่าทำไม ผกก. จึงเลือกจะใช้ภาพแบบนั้น (แถมยังเป็นภาพแบบขอบมนเสียด้วยสิ) มันทำให้เราเห็นเพียงมุมแคบ จำกัดการมองเห็นแค่ตัวพระเอกกับพื้นหลังอีกนิดหน่อย… เท่านั้น
เมื่อประกอบการดำเนินเรื่องที่ไร้ซึ่งเสียงดนตรีประกอบ มีแต่เสียงเรื่องราวรอบด้านที่อึงอลอยู่ และเราก็ไม่ได้รู้ข้อมูลมากไปกว่านั้น มุมมองการถ่ายเหมือนจะตั้งใจให้เราเป็นคนๆ หนึ่งที่เดินตามตัวเอก “ซอล” ไปตลอดเวลา ด้วยลักษณะของการถ่ายแบบแฮนด์เฮลด์และลองเทค ภาพสั่นไหวไปตามการกระทำของตัวเอก ยิ่งทำให้ทุกสิ่งดูเหมือนเป็นเหตุการณ์จริง หรือพูดง่ายๆ ว่า
“มันเรียลมาก”
แต่ด้วยการใช้ภาพและการเล่าเรื่องแบบนี้ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไปๆ อาจทำให้คนดูบางส่วนเกิดอาการหาวได้บ้าง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
นำเสนอแง่มุมร้ายๆ ของสงคราม แต่บางคำถามยังค้างคา
ด้วยวิธีการเล่าของหนังนี่แหละ ที่ทำให้เราพบว่า บางคำถามจะยังคงไม่มีคำตอบเมื่อหนังจบลง เพราะหนังจะได้แต่เดินตามพระเอกต้อยๆ ไปเจอกับทุกสิ่งที่เขากระทำ แต่ไม่ได้อธิบายบอกเล่าอะไรเสียทุกอย่าง สิ่งที่คนดูจะทำได้คือ การเดินตามพระเอกไปทุกที่ เฝ้าดูว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันจะไปได้ไกลแค่ไหน มันจะสำเร็จหรือไม่ ประมาณนั้น
เป็นธรรมดาของหนังสงครามที่มักนำเสนอแง่มุมร้ายๆ ออกมา แต่หนังเรื่องนี้แสดงให้คนดูรู้สึกเหมือนได้ไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งมันจะเครียดและกดดันกว่าการเป็นแค่ผู้ดู น่าทึ่งยิ่งกว่าคือนี่มันเป็นการกำกับหนังยาวครั้งแรกของ László Nemes ผกก. ชาวฮังกาเรียน ซึ่งเขาทำมันออกมาได้ดีมาก
ตัวประกอบมากมาย ต้องแสดงด้วยการแก้ผ้าและนอนตายไร้ชีวิต ถูกกองถมทับกันอย่างไร้ค่าทั้งก็มีคุณค่าเท่ากับชีวิตหนึ่งของคนอื่นๆ แต่เพราะสงครามมันแบ่งแยกคนต่างเชื้อชาติให้กลายชีวิตที่ไม่เท่าเทียม ไม่ใครก็ใครก็คงจะหวังจะหนีออกไปสู่ที่ที่มีอิสรภาพกว่า
แต่สิ่งที่ซอลเป็นมันมีมากกว่านั้น…
เด็กคนนั้นที่เขาอ้างว่าเป็นลูก ทำให้เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะจัดการศพอย่างถูกต้อง เขาตั้งหน้าตั้งตาที่จะค้นหาแรบไบ และฝังศพลูกชายทั้งๆ ที่อยู่ในภาวะสงครามและอยู่ในค่ายกักกัน ซึ่งมันขัดขวางต่อภารกิจการแหกค่ายหนีตายอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อดูๆ ไป เหมือนหนังกำลังบอกเราถึง “สัญญะ” อะไรบางอย่างเกี่ยวกับสงครามและความรุนแรง
เมื่อดูไปถึงท้ายเรื่องยิ่งมั่นใจว่ามันใช่แน่
ชื่อภาพยนตร์: Saul fia / Son of Saul
ผู้กำกับภาพยนตร์: László Nemes/ลาสโล เนเมช
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: László Nemes, Clara Royer
นักแสดงนำ: Géza Röhrig, Levente Molnár, Urs Rechn, Todd Charmont, Sándor Zsótér
ความยาว: 107 นาที
แนว/ประเภท: Drama, History, Thriller
อัตราส่วนภาพ: 1.37 : 1
เรท: ไทย/ท, MPAA/R
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย:
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: Laokoon Filmgroup, Hungarian National Film Fund
ซัน ออฟ ซอล
Son of Saul - 9
9
Son of Saul
ด้วยวิธีการเล่าของหนังนี่แหละ ที่ทำให้เราพบว่า บางคำถามจะยังคงไม่มีคำตอบเมื่อหนังจบลง เพราะหนังจะได้แต่เดินตามพระเอกต้อยๆ ไปเจอกับทุกสิ่งที่เขากระทำ แต่ไม่ได้อธิบายบอกเล่าอะไรเสียทุกอย่าง สิ่งที่คนดูจะทำได้คือ การเดินตามพระเอกไปทุกที่ เฝ้าดูว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันจะไปได้ไกลแค่ไหน มันจะสำเร็จหรือไม่ ประมาณนั้น