รีวิวหนัง สยามสแควร์ | มากกว่าหนังผีวัยรุ่นเดินสยาม

หนังผีวัยรุ่นที่ใช้สยามเป็นเบื้องหลัง เน้นเรื่องเพื่อน มิตรภาพ และการมองตัวเอง

สัปดาห์ใหม่ผ่านมาถึง ก็เดินหน้าเข้าโรงหนังอีกครั้งไปพบกับหนังไทยเรื่องใหม่ที่หน้ามันคือหนังวัยรุ่นวัยใสๆ ที่มีชีวิตส่วนใหญ่อยู่แถวสยาม มันคือหนังไทยเรื่อง ‘สยามสแควร์’ ผลงานเรื่องใหม่ของผู้กำกับฯ​ ชายไทยที่ชื่อ ไพรัช คุ้มวัน ที่เคยร่วมกำกับฯ​ ‘รักจัดหนัก’ (2011) เขาเคยกำกับภาพใน ’36’ (2012), ‘Mary is happy, Mary is happy’ (2013) มาอีกด้วยนะครับ

ภาพจากหนัง ‘Siam Square’

หนังไทยที่หยิบเอาช่วงเวลาของวัยรุ่นที่ผูกพันกับสถานที่อันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของวัยรุ่นมาหลายสิบปี จนเริ่มมีคนคิดว่า “แล้วจริงๆ สยามสแควร์มันมีผีมั้ยหว่า” ถ้าจะหยิบพล็อตผีใส่สถานที่สักแห่งที่เข้าถึงกลุ่มคนดูหนังวัยรุ่นได้ ก็น่าจะเป็นที่นี่แหละ

แล้วหนังสยองขวัญของเด็กสยามก็ถือกำเนิดขึ้น!

เรื่องย่อหนัง ‘สยามสแควร์’

เด็กสยามจริงๆ มันก็คือเด็กวัยรุ่นที่ชอบมาเดินเล่น ช้อปปิ้ง กินข้าว หรือมีกิจกรรมพิเศษที่ต้องทำร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งในที่นี้ก็คือ การมานั่งเรียนพิเศษในห้องเรียนเก่าๆ

ที่เราไม่รู้ว่ามันผ่านอะไรมาบ้าง

ตัวอย่างหนัง ‘Siam Square’

ตัวละครในหนังเรื่องนี้ รุ่นราวคราวเดียวกัน ส่วนใหญ่เรียนอยู่ด้วยกัน เรื่องราวของวัยรุ่นก็ไม่พ้นความสนุกของการอยากรู้อยากลอง เมื่อพวกเขาพบเรื่องที่ถูกเล่าขาน เรื่องราวของผีเด็กหญิงคนหนึ่งที่ยังคงเดินวนเวียนเพื่อหาทางกลับบ้าน และถ้าเธอมาเข้าฝันใคร พวกเขาจะถูกผูกข้อมือด้วยด้ายสีแดง

และไม่นาน คนๆ นั้นก็จะไม่รอดชีวิต!

แล้วก็ได้เวลาสืบหาเรื่องราวที่เล่าขานกันมา ค้นหาว่าความจริงของมันคืออะไร เหตุไฟดับทั้งสยามส่งผลอะไรต่อเรื่องราว และเด็กสยามที่ผ่านเหตุการณ์นี้มา พวกเขาจะเป็นอย่างไร


รีวิวหนัง ‘สยามสแควร์’

สังเกตได้ว่า ผมไม่ได้กล่าวถึงตัวละครใดๆ เลยสักตัวในเรื่องย่อหนัง สาเหตุก็เพราะ มันมากเกินที่จะมานั่งสาธยายให้หมดจดถ้วนทั่วทุกตัวนักแสดง ชื่นชมในการแสดงของหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เบสต์ ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ ที่เล่นได้โดดเด่นโดยเฉพาะบทฮา อีกคนที่เด่นก็คงเป็น พลอย ศรนรินทร์ ขณะที่เรื่องความน่ารักคงหนีไม่พ้นสองคนนี้ อุ้ม อิษยา ฮอสุวรรณ และ เหม่เหม ธัญญวีร์ ชุณหสวัสดิกุล

หนังผีที่ไม่ถึงกับชวนขนลุก แต่ชวนค้นหาความจริง

ดูจากตัวอย่าง อาจจะมองว่าเป็นหนังที่มีแง่มุมแค่ความรักประสาวัยรุ่น แต่เมื่อไปดูจริงๆ กลับได้พบว่ามันมีมากกว่านั้น เพราะมันได้ใส่เรื่องราวของวัยที่ยังไม่ประสากับชีวิตมากนัก บางครั้งก็ทำอะไรโดยไร้ความยั้งคิด ไร้การตริตรองจนถึงขั้นสร้างผลร้ายทิ้งไว้ให้กับใครบางคน

หนังยังเล่าเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างเพื่อนฝูง ที่มักสั่นคลอนเอาได้ง่ายๆ ด้วยเรื่องราวเล็กนิดเดียว และมันอาจส่งผลใหญ่โตไปจนคาดไม่ถึงก็เป็นไปได้

โปสเตอร์หนัง ‘สยามสแควร์’

การดำเนินเรื่องของหนังเรื่องนี้ เหมือนพยายามจะชักชวนให้ขวัญผวาอยู่บ่อยครั้ง เล่นมุกตกใจไม่ถึงกับบ่อย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับชวนขนหัวลุกแต่อย่างใด (ในกลุ่มเป้าหมายที่กลัวผีอยู่เป็นทุน นั่นก็คงเป็นข้อยกเว้น) แต่คนตัดต่อพยายามอย่างยิ่งที่จะเล่าเรื่องให้มีชั้นเชิง

ด้วยการตัดสลับบางเหตุการณ์เอาไว้นึกสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วย้อนกลับไปเล่าเรื่องก่อนหน้าเพื่อมาบรรจบกับเรื่องปัจจุบัน ส่งผลให้คนดูต้องครุ่นคิดปะติดปะต่อเรื่องราว

มันจึงไม่ได้เป็นแค่หนังผีทั่วไป หากมีความเป็นหนังลึกลับผสมอยู่ด้วย

ภาพจากหนัง ‘Siam Square’

พร้อมกับสอดใส่พฤติกรรมของมนุษย์วัยรุ่นเดินสยามในปัจจุบันเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นติดเล่นมือถือ แชทกับคนแปลกหน้า สนใจยอดวิวที่เอาไปแลกตังค์ได้ อะไรพวกนี้เป็นต้น

ตัวละครมากเกินไปนิดๆ เล่าเรื่องตะหงิดอยู่หน่อยๆ

อย่างที่ผมว่าไปก่อนหน้านี้ ด้วยตัวละครที่ล้นเรื่องไปนิด ทำให้ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการจดจำและทำความรู้จักกับแต่ละตัว นอกเหนือไปจากการติดตามและซึมซับเรื่องราว หากลดจำนวนตัวละครลงไปหน่อย ก็น่าจะช่วยให้ไม่ต้องสับสนและใช้เวลาไปเรื่องพวกนี้

แม้หนังจะมีหลายสิ่งให้ชวนค้นหา แต่หนังก็ยังมีบางจุดที่ดูล้นเกินอยู่บ้าง 

ภาพจากหนัง ‘Siam Square’

อย่างเช่น เสียงที่ของผีที่กระซิบเสียจนไม่ชวนขนหัวลุก แต่ชวนแปลกใจว่าจะเล่นกันเบอร์นี้เลยหรือ รวมไปถึงความน่าเชื่อถือบางอย่างที่คนดูอาจสงสัยว่าถ้าตัวเองอยู่ในหนัง คงจะไม่เลือกทำแบบตัวละครเป็นแน่

ความที่หนังเลือกจะเล่าเรื่องในหลายประเด็น หยิบจับทุกอย่างที่อยากเล่าเคล้ามารวมกันโดยอาศัยการเล่าเรื่องที่ทำให้งุนงงในช่วงแรก ก่อนจะค่อยๆ คลี่คลายในเวลาต่อมา ก็อาจจะทำให้หนังยังดูไม่สุดสำหรับคนที่คาดหวังความเป็นหนังผี เพราะหนังก็ให้พื้นที่กับเรื่องรักในวัยรุ่นมากพอควร หนังอาจมีบางจุดที่ยังเล่าได้ไม่กลมกล่อมพอ

แต่กับปมดราม่าถือได้ว่า “น่าสนใจ”

มนุษย์สยามผู้ดิ้นรนในทะเลถ้อยคำของคนอื่น

หนังมีการผูกปมและเดินเรื่องได้ซับซ้อนกว่าหนังไทยหลายๆ เรื่อง เมื่อเขาหยิบเอาปมปัญหาวัยรุ่น มาผสมกับการมองตัวเองจากปากคนอื่น

มนุษย์สยามผู้อ่อนไหวต่อคำติฉินนินทา หลายคราก็ไม่ได้สนใจจะใฝ่หาความจริง และทำให้ใครบางคนต้องหมองหม่นไปตลอดชีวิต เรื่องราวของผองเพื่อนที่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ประสบการณ์ที่น้อยนิดอาจไม่ทันคิด (แม้ว่าบางคน โดแล้วก็อาจจะยังมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่) ว่าสิ่งนั้นอาจทำร้ายใครสักคน

เราต่างต้องอยู่ในสังคมที่เรื่องของเราถูกละเลงสีจากคำพูดของคนอื่นๆ ทำให้เรากลายเป็นอีกคนในจิตใจของคนอื่น เราถูกตัดสินด้วยความคิดต่างๆ นานาของผู้คน มีใครบ้างที่จะมองเห็นตัวตนจริงๆ ของเรา ดูหนังแล้วสามารถแคะประเด็นออกมาได้เต็มกระบุง

มันจึงไม่ใช่หนังผีที่คิดแต่จะเล่นแต่กับเรื่องผีๆ

ยังไงดี เมื่อเราโดนเพื่อนเท?

มันหยิบเอาบรรยากาศทั้งเก่าและใหม่ของ ‘Siam Square’ มาใช้ได้ค่อนข้างโอเค พร้อมกันนี้ก็หยิบเอาบรรยากาศของอดีตที่เคยพบเจอให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

ผมเองก็เคยเซ็นสมุดเฟรนด์ชิปให้เพื่อน เคยนั่งเขียนตัวอักษรกลับด้านกัน แม้จะไม่ค่อยได้เรียนพิเศษเหมือนคนอื่นๆ แต่ก็พอจะซึมซับได้จากภาพข่าวที่ได้เห็นมา ชวนรำลึกความหลังได้ไปพร้อมๆ กับมองเห็นปัจจุบันของสถานที่ที่เดินไปเดินมากว่ายี่สิบปี

เสน่ห์ของตัวละครถูกส่งออกมาโดดเด่นหลายตัว ถ้าลดทอนจำนวนลงไปบ้าง กับตัดต่อเส้นเรื่องให้เฉียบคมกว่านี้

หนังคงโดดเด้งมากกว่าเดิมอีกเป็นเท่าตัว


ชื่อภาพยนตร์: สยามสแควร์ / Siam Square
ผู้กำกับภาพยนตร์: ไพรัช คุ้มวัน
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Homsap Chanchana, Eakarach Monwat, Petchsri Teepanun
นักแสดงนำ: อิษยา ฮอสุวรรณ, ธนบดี ใจเย็น, ปุริม รัตนเรืองวัฒนา, ธัญญวีร์ ชุณหสวัสดิกุล, มรกต หลิว, พลอย ศรนรินทร์,​ ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์
ความยาว: 111 นาที
แนว/ประเภท: Horror
อัตราส่วนภาพ:
เรท: ไทย/น15+, MPAA/
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: 30 มีนาคม 2560
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, เวลดัน มีเดียมแรร์

คะแนนหนัง สยามสแควร์

สยามสแควร์ - 6.2

6.2

Siam Square

ความที่หนังเลือกจะเล่าเรื่องในหลายประเด็น หยิบจับทุกอย่างที่อยากเล่าเคล้ามารวมกันโดยอาศัยการเล่าเรื่องที่ทำให้งุนงงในช่วงแรก ก่อนจะค่อยๆ คลี่คลายในเวลาต่อมา ก็อาจจะทำให้หนังยังดูไม่สุดสำหรับคนที่คาดหวังความเป็นหนังผี เพราะหนังก็ให้พื้นที่กับเรื่องรักในวัยรุ่นมากพอควร หนังอาจมีบางจุดที่ยังเล่าได้ไม่กลมกล่อมพอ

User Rating: Be the first one !
Exit mobile version