นี่คือหนังไทยเรื่องแรกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Documentary Club ผมจึงสนใจอยากจะลองไปพิสูจน์มันด้วยสายตาตัวเองในโรงสักครั้ง และวันนี้ก็คือวันนี้ ผมได้พบกับ ‘Railway Sleepers’ สารคดีที่ผู้กำกับฯ ใช้เวลาในการเก็บภาพยาวนานถึง 8 ปีเต็ม
หนังเรื่องนี้เคยถูกรับคัดเลือกไปฉายในเทศกาลหนังนานาชาติมาหลายที่ ทั้งที่เบอร์ลิน ปูซาน และบางกอก จึงน่าจะไปลองพิสูจน์ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร น่าประทับใจสักแค่ไหน กับเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นบนรถไฟไทย
…เรื่องนี้!
เรื่องย่อหนัง ‘Railway Sleepers’
เรื่องราวที่ไม่ต้องเล่าอะไรมาก เพราะมีเป็นสารคดีของการถ่ายทำเก็บภาพของชีวิตบนรถไฟ ที่เก็บมาหลายปี ทุกสายทุกขบวนทั่วไทย นำมาตัดต่อรวมกันในหนังเรื่องเดียว
เราจะได้เห็นทิวทัศน์ของประเทศไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทั้งภูเขา ต้นไม้ ทุ่งนา ได้ชีวิตของคนรอบๆ รางรถไฟ เห็นภาพในมุมสวยๆ
ที่เราอาจจะไม่ได้สัมผัสมันมานานแล้ว
รีวิวหนัง ‘หมอนรถไฟ’
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งเลย ในระหว่างที่ได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ‘หมอนรถไฟ’ ให้ความรู้สึกสองอย่าง เด่นชัดแต่ขัดกันอย่างสิ้นเชิง สองสิ่งนี้ยังอยู่แม้เรื่องราวจะจบลงไปแล้ว.. ก็ตาม
สิ่งแรกนั้นคือ ความเนิบช้าของการเดินเรื่องราว เสมือนหนึ่งจะตอกย้ำให้เราได้รู้สึกและรู้ซึ้งว่า การเดินทางด้วยระบบรางอย่างรถไฟไทยที่มีประวัติมายาวนานกว่าร้อยปีนั้น มีแต่ชีวิต slowlife เท่านั้นที่จะอยู่ร่วมกับมันได้
แม้เรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเป็นรถไฟความเร็วสูงในอีก…ไม่นาน
หลังจากเริ่มเล่าเรื่องด้วยพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 และช่วงที่มีภาพตัดกลับไปยังช่วงเวลาเริ่มสร้างทางรถไฟ ก็ไม่ปรากฏการบอกเล่าใดๆ อีกเลย นอกจากปล่อยผู้ชมให้นั่งมองชีวิตของผู้คนต่างๆ บนรถไฟขบวนต่างๆ ที่ก็ไม่มีการบอกเล่าอีกเช่นกันว่าขบวนนั้นกำลังไปไหน การเดินเรื่องแบบเอื่อยๆ ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ชมเริ่มกระสับกระส่าย ขยับเปลี่ยนที่นั่ง บ้างก็หาว
เป็นหนังที่ต้องการสมาธิและความอดทนจากคนดูเป็นอย่างยิ่ง
ความไม่ชัดเจนของภาพไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการต่อสู้ของคนดูที่พยายามจะตื่นตัวอยู่กับเรื่องราวที่เนิบช้าและไม่มีระดับขึ้นลงของการดำเนินเรื่อง
ก่อนที่หนังจะเข้าสู่ช่วงท้าย เริ่มมีบทสนทนาที่เป็นชิ้นเป็นอัน มากกว่าเสียงขายของที่ซ้ำไปซ้ำมา แต่บทสนทนาก็ทำหน้าที่เพียงสื่อสารให้คนดูได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการรถไฟไทยกับฝรั่งสักคนที่คนเกือบทั้งโรงคงไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ยังดูหนุ่มแต่กลับบอกเล่าราวกับตนคือผู้ร่วมบุกเบิก
แล้วหนังก็จบลงไป
อีกสิ่งที่ได้จากหนัง คือ การมองเห็นผู้คน วิถีชีวิต และความทรงจำเก่าๆ ที่กลับคืนมาอีกครั้ง ยอมรับเลยครั้งยังเป็นเด็ก ผมเป็นคนที่ต้องเดินทางโดยสารรถไฟทุกปี ใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟยาวนานข้ามวันข้ามคืน โตมาจึงเดินทางด้วยวิธีนี้น้อยลง ด้วยเพราะเราเริ่มมีรถขับใช้เอง ประกอบกับการเดินทางด้วยวิธีอื่นดูน่าสนใจกว่า และไม่ได้เห็นพัฒนาการเกิดขึ้นมากนักกับการคมนาคมชนิดนี้ (แม้ปัจจุบันจะเริ่มการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม)
‘หมอนรถไฟ’ เป็นเหมือนการเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ชีวิตที่เคยคุ้น ภาพของม้าเหล็กที่สร้างขึ้นมาจากเหล็กเกือบจะทุกส่วนของมัน ทุกอย่างดูปราดเดียวก็รู้ว่าถูกใช้งานมานานปี มีแต่ผู้คนที่ใหม่
สำหรับขบวนตู้นอน มันคือสถานที่ที่โคลงเคลงไปมาพาให้ง่วงงุน ผู้คนที่นั่งกันอยู่บนตู้ชั้นสาม ที่นั่งไม่สบาย มีแต่พัดลม ไร้แอร์ เมื่อรถไฟจอดมีคนมาขายสินค้าสารพัดชนิด
สิ่งเดียวที่เป็นความสุข คือ การนั่งมองทิวทัศน์สองข้างทาง
บนรถไฟมันคือสังคมที่ย่อส่วนลงไปจากโลกทั้งใบ ทุกคนต่างที่มา ต่างศาสนา ต่างสาขาอาชีพ ต่างฐานะ และต่างวัย มาอาศัยอยู่ในยานพาหนะขบวนเดียวกัน
ทุกคนได้มาอยู่ร่วมกันบนโลกใบเล็กๆ ที่ขยับเคลื่อนไหวไปบนรางในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่พวกเขาจะต้องเดินจากกันไป…คนละทิศคนละทาง
เท่าที่เฝ้ามองดู ผมรู้สึกได้ว่า ผกก. น่าจะเก็บฟุตเทจมามากมายทีเดียวกว่าจะคัดเลือกมาเพื่อบรรจุลงในหนังสารคดีเรื่องนี้ น่าเสียดายตรงการนำเสนอที่ไม่ประนีประนอมต่อคนดูมากนัก สำหรับหลายคน…
มันอาจกลายเป็นหมอนชั้นดีที่หนุนเมื่อไหร่ก็หลับได้ทันที
ชื่อภาพยนตร์: Railway Sleepers / หมอนรถไฟ
ผู้กำกับภาพยนตร์: สมพจน์ ชิตเกษรพงค์
ผู้เขียนบทภาพยนตร์:
นักแสดงนำ:
ความยาว: นาที
แนว/ประเภท: Documentary
อัตราส่วนภาพ:
ประเทศ: ไทย
เรท: ไทย/, MPAA/
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: 20 เมษายน 2560
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: Documentary Club
หมอนรถไฟ
Railway Sleepers - 6
6
Railway Sleepers
บนรถไฟมันคือสังคมที่ย่อส่วนลงไปจากโลกทั้งใบ ทุกคนต่างที่มา ต่างศาสนา ต่างสาขาอาชีพ ต่างฐานะ และต่างวัย มาอาศัยอยู่ในยานพาหนะขบวนเดียวกัน ทุกคนได้มาอยู่ร่วมกันบนโลกใบเล็กๆ ที่ขยับเคลื่อนไหวไปบนรางในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่พวกเขาจะต้องเดินจากกันไป...คนละทิศคนละทาง