นับเป็นการรอคอยที่คุ้มค่าไม่เบาเลยเชียว วันที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายไม่ได้ไปดู ผ่านวันเวลาที่เจอคนขายหนังเรื่องนี้ไม่หยุดหย่อน จนมาถึงวันที่หนังกลับเข้ามาฉายใหม่อีกครั้งในธีม Pride Month แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องไหน สาวติดไฟ เอ้ย! ‘Portrait of a Lady on Fire’ ที่ชื่อไทยอย่างเพราะ ‘ภาพฝันของฉันคือเธอ’ นั่นเอง
นี่คืออีกผลงานจากผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส Céline Sciamma ที่ผมเองเคยได้เสพงานเขามาบ้างแล้ว จากเรื่อง ‘Petite maman’ นั่นไง ที่จริง มีอีกหลายงานที่โปสเตอร์บางเรื่องเคยผ่านตาไปบ้าง แต่ยังไม่มีโอกาสได้ดูสักที อย่างเช่น ‘Tomboy’, ‘Girlhood’, ‘Paris, 13th District’ และ ‘Water Lilies’ ไหนๆ มันก็กลับมาฉายในโรงอีกครั้ง จะไม่ไปดูก็กระไรอยู่
ไปดูคนเดียวก็ได้ วันนี้ จัดไป ที่โรง House Samyan!
เรื่องย่อหนัง ‘ภาพฝันของฉันคือเธอ’
เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคก่อนโน้น คริสตศตวรรษที่ 18 เรื่องราวที่เล่าถึง มาริยาน (Noémie Merlant จากหนังเรื่อง ‘Jumbo’ และ ‘Paris, 13th District’) จิตรกรสาวที่ถูกว่าจ้างให้ไปวาดภาพเหมือนของ เอลูอิส (Adèle Haenel จากหนังเรื่อง ‘Love at First Fight’ และ ‘The Unknown Girl’) หญิงสาวอีกคนที่เพิ่งจะออกจากคอนแวนต์และกำลังจะแต่งงานกับหนุ่มเมืองมิลาน
ความจริงแล้ว เธอไม่เคยรู้จักกับเอลูอิสมาก่อนเลย แถมเธอยังได้เงื่อนไขแปลกๆ อีก นั่นคือ ตัวเอลูอิสไม่ได้เต็มใจจะโพสท์ท่าให้วาดภาพ เธอป่วนเสียจนจิตรกรคนก่อนวาดไม่สำเร็จ งานนี้ มาริยานจึงต้องใช้วิธีลอบสังเกต จดจำแล้วนำมาวาดโดยไม่ให้เธอรู้ตัว
แต่การอยู่ด้วยกันเพียงระยะสั้นนี้ ก่อความสัมพันธ์อันลึกซึ้งให้เกิดขึ้นระหว่างคนทั้งสอง
รีวิวหนัง ‘Portrait of a Lady on Fire’
หลังได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2019 หนังก็ตระเวณฉายไปทั่วโลก ค่อยๆ เก็บรายได้ไปทีละประเทศ ขณะที่บ้านเรา เคยมีฉายไปตั้งแต่เมื่อปี 2020 แล้วก็วนมาฉายใหม่ได้อีกจนผมได้มานั่งดูเนี่ยแหละ ถือว่า การรอคอยเป็นผลสำเร็จ ได้ดูในโรงสมใจ มีซับไตเติลไทยให้พร้อม
เรื่องราวในหนังก็อย่างที่เล่าข้างบนนั่นแหละครับ เอาจริงๆ คือสั้นมาก แค่มาริยานเดินทางไปวาดภาพลูกสาวของคนจ้างแล้วทั้งสองก็ลึกซึ้งต่อกัน แค่นั้นเองเลย
เล่าเรื่องการดิ้นรนของหญิงในยุคเก่าก่อน
เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวในยุคโน้นที่โลกยังคงหมุนรอบผู้ชาย ลูกสาวที่เติบโตมาในบ้าน ต้องแต่งงานเข้าบ้านผู้ชายตามที่ผู้ใหญ่ตกลงกัน พี่สาวของเอลูอิสด่วนจากไปด้วยเหตุอันชวนสงสัย น้องสาวก็ไม่พ้นต้องแต่งเช่นกัน แม้เธอจะไม่อยากแต่งแค่ไหนแต่ก็ยากจะฝืนธรรมเนียมของสังคมสมัยนั้นไปได้
ทีนี้ ชายที่จะแต่งงานกับเธอดูจะชื่นชอบงานศิลปะ แม่ของเอลูอิสบอกว่า ถ้าเขาชอบภาพวาด เธอก็จะได้ไปมิลาน จิตรกรคนเก่าวาดไม่สำเร็จเพราะเธอเล่นไปป่วนซะ มาริยานจึงกลายเป็นจิตรกรสาวคนล่าสุด
เรื่องการเป็นจิตรกรนี่ก็เช่นกัน ในสมัยนั้นก็ยังคงเอาแต่เชิดชูจิตรกรชาย ทำให้เหล่าจิตรกรหญิงถูกกีดกันหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่อาจก้าวหน้าหรือมีโอกาสในการพัฒนาฝีมือได้เทียมเท่าเพศชาย เรื่องพวกนี้ก็สอดแทรกไว้ข้างในหนังทั้งสิ้น
หญิงสาวในโลกที่(แทบ)ไม่มีผู้ชายมาเกี่ยวข้อง
ต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้เงียบจนได้ยินเสียงแอร์และลมหายใจ ดนตรีประกอบน้อยมาก ใช้อยู่จริงจังแค่สองฉาก นอกนั้นแทบไม่ได้ยิน อีกส่วนหนึ่งก็คือ แม้ไม่สังเกตแต่ก็จะพบว่า ตัวละครเพศชายนั้นปรากฏอยู่น้อยมาก เวลาของหนังเกือบทั้งเรื่องให้ไปกับตัวละครเพศหญิง แถมแต่ละคนต่างเล่นกันอย่างเป็นธรรมชาติจนแทบจะไม่เหมือนแสดงอยู่
ในบ้านหลังนั้น เราไม่พบผู้ชายที่ปกติจะเห็นเป็นหัวหน้าครอบครัว คงเพราะที่นี่เหลือเพียงแม่กับเอลูอิสเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นสาวรับใช้อย่างโซฟี (Luàna Bajrami จากหนังเรื่อง ‘L’événement’) เมื่อมีมาริยานมาร่วมชายคาอีกคน เลยกลายเป็น 4 บางเวลาแม่ไม่อยู่บ้าน ก็เหลือกันอยู่ 3 คน แถมพวกเธอแต่ละคนต่างเกื้อกูลกัน ดูแลซึ่งกันและกันดี งานทุกอย่างหนักเบากลายเป็นผู้หญิงทำกันเองหมด กลายเป็นโลกที่แทบไม่ต้องมีผู้ชายเข้ามาเกี่ยวข้อง มาแค่เป็นตัวประกอบฉากเท่านั้น
แถมพวกเธอไม่มีเรื่องระหองระแหงกันเลย เรื่องแบบนี้น่าจะเป็นไปได้เพราะในสมัยนั้น ผู้ชายคือหินก้อนใหญ่ที่กดทับชีวิตพวกเธอ การอยู่ร่วมกันอยู่ผู้หญิงที่ศัตรูคนเดียวกันน่าจะอยู่กันแบบพันธมิตรมากกว่า
ขณะที่ความสัมพันธ์ของมาริยานกับเอลูอิส ดูจะพิเศษกว่าหน่อย
เรื่องรักของหญิง-หญิง ในโลกที่ถูกกดทับ
พวกเธอคงไม่ถึงกับอาจหาญและเป็นตัวของตัวเองได้อย่าง ‘Dickinson’ สิ่งที่พวกเธอจะทำได้คงมีเพียงเปิดเผยความสัมพันธ์อันพิเศษเฉพาะเวลา และการแสดงออกเหล่านั้นถูกส่งออกมาทั้งสีหน้าแววตาที่ผู้ชมจะมองแล้วเข้าใจว่าตัวละครกำลังคิดเห็นสิ่งใดอยู่ อีกส่วนหนึ่งสำคัญ คงเป็นไดอะล็อก-บทสนทนา ที่บางส่วนก็แฝงนัยยะบางอย่างให้ชวนฉุกคิด อาจจะมีบ้างที่ยังจับใจความไม่ทันจนอาจจะต้องดูอีกสักรอบเพื่อเก็บรายละเอียด
สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังดูละเมียดละไม เรื่องราวดูดำเนินไปแบบเรียบง่าย แม้ใครก็รู้ว่าเดี๋ยวสิ่งเหล่านั้นมันต้องเกิดขึ้น แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมตามไปเมื่อมันเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ จนนั่งสงสัยตัวเองเหมือนกันว่า นี่เราเห็นคล้อยตามกับความหลากหลายทางเพศไปแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ แม้กระนั้น บางฉากที่ตัวละครโอบกอดร้องไห้เราก็อาจได้เพียงเข้าใจและเศร้าใจ แต่น้ำตาไม่ได้ไหลตาม
ยกเว้นฉากสุดท้าย ไร้ถ้อยคำ หากเธอก็แสดงได้สื่อและบ่งบอกความรู้สึกได้เป็นล้านคำ น้ำตามันเอ่อออกมาได้จริงๆ
ในที่สุดก็ได้ดูแล้ว หนังที่อยากดูมานาน …ดูแบบมีซับไทยและในโรงหนัง ก่อนมาดูนี่ ติดใจกะคำว่า ‘สาวติดไฟ’ มาสักพักใหญ่ละ ส่วนถ้าใครสงสัยว่าชื่อนี้มันเกี่ยวกับหนังยังไง ก็ลองไปดูด้วยตัวเองนะครับ
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | Portrait of a Lady on Fire / ภาพฝันของฉันคือเธอ |
กำกับ | Céline Sciamma |
เขียนบท | Céline Sciamma |
แสดงนำ | Noémie Merlant, Adèle Haenel, Luàna Bajrami |
แนว/ประเภท | Drama, Romance |
เรท | R:18+ |
ความยาว | 121 นาที |
ปี | 2019 |
สัญชาติ | ฝรั่งเศส |
เข้าฉายในไทย | 20 กุมภาพันธ์ 2020 |
ผลิต/จัดจำหน่าย | Lilies Films, Arte France Cinéma, Hold Up Films, HAL Distribution |
ภาพฝันของฉันคือเธอ
พล็อตและบท - 8.8
การแสดง - 10
การดำเนินเรื่อง - 8.8
เพลงและดนตรีประกอบ - 8.8
งานถ่ายภาพและโปรดักชัน - 8.8
9
Portrait of a Lady on Fire
ภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่บอกเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงสาว คนหนึ่งเป็นจิตรกรที่ถูกว่าจ้างให้มาวาดภาพเหมือนของอีกคนที่กำลังจะได้แต่งงาน ก่อนที่สองคนจะรู้สึกต่อกันอย่างลึกซึ้ง หนังที่เงียบมากและใช้ประโยชน์จากการแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติเสียจนแทบจะไม่เป็นการแสดง หนังที่แทบจะตัดผู้ชายออกไปแล้วเหลือแต่ผู้หญิงไว้แสดง ฉากสุดท้ายคือหมัดเด็ด นักแสดงก็เล่นดีจริงๆ ไม่ต้องพูดอะไร บอกได้เป็นล้านถ้อยคำ