ภาพยนตร์

รีวิวหนัง Moonlight มูนไลท์ | คนผิวสีภายใต้แสงจันทร์

เรื่องราวซับซ้อนของคนผิวสี ชีวิตที่ถูกแบ่งเป็น 3 ช่วง

ย่ำค่ำคืนวันหนึ่ง ผมเร่งรุดเดินทางมายังจุดหมาย ที่นี่ผมจะได้พบกับหนังเข้าชิง 8 ออสการ์ปีนี้ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนผิวดำล้วนๆ หน้าหนังอาจดูไม่มีอะไร แต่อยากลองดูเนื้อในสักครั้ง แล้วก็ได้พบกัน ‘Moonlight’ หนังที่เปิดให้คนดูได้สำรวจตัวเองไปพร้อมๆ กัน

ภาพจากหนัง Moonlight มูนไลท์
ภาพจากหนัง ‘มูนไลท์’

ผลงานของผู้กำกับฯ ชาวผิวสีอย่าง Barry Jenkins ที่ตัวผมเองไม่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับงานของเขามาก่อน เขาเคยมี ‘Medicine for Melancholy’ ในปี 2008 แต่นอกนั้นก็เป็นหนังสั้น แถมโผล่มาทำหนังยาวได้เพียงเรื่องสองก็บินสูงเข้าชิงออสการ์หลายสาขากันเลยเชียว

ขึ้นต้นมาขนาดนี้ มันคงต้องไปพิสูจน์ด้วยตากันแล้วล่ะ


เรื่องย่อหนัง ‘Moonlight’

เรื่องราวของไชรอน (Ashton Sanders) หนุ่มผิวสีชนชั้นล่างในไมอามีที่ถูกบอกเล่าแบ่งเป็นสามช่วงวัย ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ที่มาพร้อมกับประสบการณ์และการค้นหาตัวตนจากทุกสิ่งที่แวดล้อมตัวเขา

เริ่มต้นในช่วงวัยเด็กที่มีแม่ติดยา เป็นเด็กแหยๆ ไม่สู้คนในโรงเรียน ยินยอมให้ตัวเองถูกรังแกโดยไม่โต้ตอบ แต่ได้พบกับฮวน (Mahershala Ali) และภรรยา เทรีซ่า (Janelle Monáe)

คนดีๆ ที่ช่วยเหลือเขาไว้

ตัวอย่างหนัง ‘Moonlight’ [ซับไทย]

เติบโตเป็นเด็กวัยรุ่น ไชรอนก็ยังคงกลายเป็นคนที่มักถูกรังแกเช่นเดิม ก่อนเรื่องราวของเขาจะถูกเล่าอีกครั้งเมื่อเติบโตเป็นชายในวัยผู้ใหญ่

เปิดเผยให้เห็นสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาเลือกจะเป็น


รีวิวหนัง ‘มูนไลท์’

หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำมาก่อน ก่อนจะคว้ารางวัล Screen Actors Guild Awards ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม แถมยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 สาขา เป็นรองเพียง ‘La La Land’ เท่านั้นครับ

เล่าเรื่องโดยแบ่งเป็นสามช่วงวัย

อย่างที่บอกแหละครับ หนังเรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าด้วยการแบ่งเป็น 3 ช่วง แต่ละช่วงคือช่วงวัยทั้งสามของตัวละครไชรอน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นว่าตัวไชรอนมีชีวิตที่หล่อหลอมเขามาอย่างไร และสุดท้ายแล้ว เขาเลือกจะใช้ชีวิตในแบบไหน

Moonlight มูนไลท์
Mahershala Ali ในหนัง ‘มูนไลท์’

วัยเด็กของเขาดูไปแล้วก็น่าสงสารมาก มีชีวิตอยู่ในระดับชนชั้นล่างของสังคมแถมยังเป็นคนผิวดำ พ่อไม่รู้ไปไหน เหลือแต่แม่ที่ติดยางอมแงม ขณะเดียวกัน เพื่อนๆ ในโรงเรียนก็เอาแต่รุมแกล้งเขา ซึ่งเขาก็ไม่เคยจะตอบโต้อะไร เรื่องราวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยการแปะชื่อช่วงคั่นบอกไว้ในหนัง ทั้งชีวิตเหมือนเขาจะมีเพื่อนคนเดียว

และเป็นเพื่อนคนเดียวที่เขาจะได้พบเจอทั้งสามช่วงวัย

เดินเรื่องละมุนละไม ตั้งคำถามหาคำตอบ

เหมือนเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม ว่าคุณจะโตไปเป็นคนแบบไหน หนทางใดที่คุณจะเลือกเป็น การเป็นตัวเองนั้นเหมือนจะไม่ยาก แต่ระหว่างทางของการค้นหาตัวเอง อาจต้องเจอกับอะไรหลายๆ อย่างที่จะหล่อหลอม หรือชักชวนให้เรารวนเรหลงทาง จนวันนึง เราก็อาจพบว่าตนเองได้เดินมาอยู่บนถนนอีกสายหนึ่ง

ที่ไม่ใช่ถนนเดิมที่เคยเดินเมื่อครั้งยังเยาว์วัย

Moonlight's poster
โปสเตอร์หนัง ‘มูนไลท์’

เรื่องราวในหนังเหมือนจะเป็นการก้าวผ่านพ้นวัย เพียงแต่การเติบโตไปเป็นผู้ชายอาจจะไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ดีอย่างตั้งหวังไว้ ตัวหนังบอกเล่าอะไรไว้หลายอย่างโดยไม่บีบเค้น ไม่เร่งเร้า บางครั้งมีความอ่อนไหวแทรกซึม ใส่อารมณ์ละมุนให้เราได้ซึมซับ หลายช็อตที่พาให้นึกไปถึงหนังของ หว่องกาไว

เมื่อหนังหยิบยกเอาเรื่องราวความเป็นเกย์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในหนังมีฉากหนึ่งซึ่งจะกลายเป็นที่จดจำของคนดูไปอีกนาน ความสับสนของทุกสิ่งที่รายรอบทำให้ผู้ชายคนนึงต้องตกอยู่ในเงาของแสงจันทร์ เนิ่นนานจนกว่าจะถึงวันที่เขาได้รับรู้ ยอมรับ และเข้าใจใน “ความเป็นตัวเอง”

สังคมคนผิวสี ดูพวกเขาจะไม่ยอมรับความเป็นเกย์สักเท่าไหร่ ใครที่เป็นก็จำต้องกดทับมันเอาไว้ แล้วไปปลดปล่อยในด้านอื่นทดแทน ไม่พอ ฐานะทางสังคมที่ย่ำแย่ ทำให้หลายคนเลือกเส้นทางที่ผิดๆ เพียงเพื่อต้องการยกระดับตัวเองขึ้นมา

ตัวละครอย่างไชรอนที่ดูไม่สู้คนในตอนแรก กลับกลายเป็นอีกคนในตอนท้าย เขาเคยเป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวติดยา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี แม้แต่คนที่ช่วยฟูมฟักก็ยังพัวพันอยู่กับสิ่งมัวเมา เขาจะเติบโตมาเป็นคนเช่นไร

คล้ายดั่งวังวนนี้ ไชรอนไม่อาจหนีพ้น

วิจารณ์หนัง มูนไลท์
ภาพจากหนัง ‘มูนไลท์’

ในความรู้สึกของผม ผมว่า “มูนไลท์” เป็นหนังที่ดี มีไอเดียความคิดที่ผสานกันไปกับงานภาพ ให้แง่มุมความคิดได้ดี เป็นสากลโดยแม้จะตัดเรื่องคนผิวดำออกไป หนังก็ยังเล่าเรื่องได้หนักแน่นเช่นเดิม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะอินกับเรื่องเหล่านี้ หนังอาจต้องการคนดูที่มีแนวคิดร่วมกับพวกเขา หรือมีจิตใจที่ใกล้เคียงกับคนในตัวละคร

ถึงจะอินได้มากอย่างหนังตั้งความหวัง


ชื่อภาพยนตร์: Moonlight / มูนไลท์
ผู้กำกับภาพยนตร์: Barry Jenkins
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Barry Jenkins (screenplay), Tarell Alvin McCraney (story by)
นักแสดงนำ: Mahershala Ali, Ashton Sanders, Duan Sanderson, Alex R. Hibbert, Janelle Monáe, Jaden Piner, Naomie Harris, Trevante Rhodes
ดนตรีประกอบ: Nicholas Britell
แนว/ประเภท: Drama
ความยาว: 111 นาที
อัตราส่วนภาพ: 2.35 : 1
เรท: ไทย/, USA/R
วันเข้าฉายในประเทศไทย: 9 กุมภาพันธ์ 2560
ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย/สตูดิโอ: A24, Plan B Entertainment

มูนไลท์

Moonlight - 8

8

Moonlight

เรื่องราวในหนังเหมือนจะเป็นการก้าวผ่านพ้นวัย เพียงแต่การเติบโตไปเป็นผู้ชายอาจจะไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ดีอย่างตั้งหวังไว้ ตัวหนังบอกเล่าอะไรไว้หลายอย่างโดยไม่บีบเค้น ไม่เร่งเร้า บางครั้งมีความอ่อนไหวแทรกซึม ใส่อารมณ์ละมุนให้เราได้ซึมซับ หลายช็อตที่พาให้นึกไปถึงหนังของ หว่องกาไว

User Rating: Be the first one !

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ