ภาพยนตร์

รีวิวหนัง Lost In Blue ระหว่างเราครั้งก่อน | หนังนักศึกษา 3-in-1

จากหนังสั้นนักศึกษา 3 เรื่อง ร้อยรวมเป็นหนังใหญ่ฉายโรง

การที่วันๆ ดูแต่หนังของพวกมืออาชีพบางทีเราก็อาจจะไม่เห็นแง่มุมที่สดๆ ใหม่ๆ จากความคิดของเหล่าวัยรุ่นนะ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้ลิ้มลองของสด แถมยังมีนักแสดงที่คุ้นเคยร่วมงานด้วย ก็เลยค่อนข้างมีแรงผลักดันให้เดินทางไปดูหนังทีสิสของเหล่านักศึกษา 3 เรื่องสั้นที่คัดสรรมาแล้วว่าโดดเด่นที่สุดในชื่อยาวๆ ประมาณว่า ‘Long Story Shorts: Lost In Blue ระหว่างเราครั้งก่อน’ ทำให้เราพบกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่เพราะทั้งหมดล้วนมาจากเด็กมหา’ลัย

จิรัศยา วงษ์สุทิน กับสองนักแสดงในหนังสั้นของเธอ
จิรัศยา วงษ์สุทิน กับสองนักแสดงในหนังสั้นของเธอ

หนังที่เล่าจากมุมมองของคนที่ยังเป็นวัยรุ่น เล่าเรื่องราวของชีวิตที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน ไม่ก็ยังคงอยู่ในช่วงชีวิตนั้น หยิบมุมมองที่คนเป็นวัยรุ่นมองตัวเอง มองเพื่อน มองพ่อแม่ ออกมาใส่ลงไปในหนังสั้นที่จะเล่าให้เราได้ชมกัน สามเล่าเรื่องจากสามผู้กำกับฯ และมีนักแสดงบางส่วนร่วมกัน

ที่ผมจะขอหยิบมาเล่าเป็นเรื่องๆ ไปเพื่อความเข้าใจนะครับ


‘ฝน’ กำกับโดย เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์

เรื่องราวของ ฝน (พริมริน พัวรัตน์) กับ หนึ่ง (ธนกร ศิริปัทมาธร) เด็กวัยมัธยมหนุ่มสาวแถบตอนใต้ของประเทศที่เพิ่งจะได้รู้จักกับความรักครั้งแรก พวกเขาพบกันในห้องเรียน และเพราะความอยากรู้อยากลอง จึงทำให้พวกเขาไปไกลกว่าสายตาพ่อแม่จะก้าวเข้าไปเห็น

ภาพจากหนังย่อยเรื่อง ฝน หนึ่งใน Lost In Blue ระหว่างเราครั้งก่อน
ภาพจากหนังย่อยเรื่อง ‘ฝน’

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันฝนตก เด็กสองคนเจอกันคุยกันและนำพาไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ หนังมีฉากเริ่มต้นที่ถ่ายมาสวยงามมาก แต่งแต้มด้วยลีลาที่ดูจะชูให้รู้สึกไปว่ากำลังจะเล่าเรื่องเซ็กซ์แรงๆ แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้แรงอะไรเท่าที่ปูไว้ หนังเล่าเรื่องมุมมองของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กวัยมัธยมฯ ที่เชื่อว่าหลายคนต้องเคยพบเจอ ชี้ให้เห็นถึงแง่มุมความคิดเกี่ยวกับครอบครัวได้ดี แถมยังเตือนวัยรุ่นวัยคะนองให้ระมัดระวังตัวเองเอาไว้ให้มากๆ

ตัวนักแสดงที่เป็นเด็กมัธยมแสดงกันได้ค่อนข้างดี แต่อาจมีปัญหาในส่วนของการแสดงผู้ใหญ่ที่ดูแข็ง ทำให้หนังดูนิ่งไปนิดจนเกาะติดกับหนังได้ลำบาก และจบลงอย่างปัจจุบันทันด่วนจนเกือบนึกว่าเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องถัดมา


วันนั้นของเดือน กำกับโดย จิรัศยา วงษ์สุทิน

สองสาวเพื่อนซี้อย่าง ก้อย (อรัชพร โภคินภากร) กับ ลี้ (จิราพร แซ่ลี้) ที่นั่งข้างกันในห้องเรียน กับบทสนทนาที่บอกได้ถึงความสนิทสนมที่รู้ใจกันมาก โดยเฉพาะเรื่องประจำเดือนของก้อยที่ไม่มาตามกำหนดและเป็นครั้งแรกที่มาไม่พร้อมกับลี้ เรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างแทบจะมีกันอยู่สองคนทั้งเรื่อง และเธอทั้งสองต่างก็แสดงบทบาทรับส่งกันได้ดี ทั้งสีหน้า ท่าทาง และอารมณ์ มันทำให้แม้ “วันนั้นของเดือน” จะเป็นเพียงหนังสั้นแต่ก็สะกดให้ทุกคนอยู่กับหนังได้ตลอดจนจบเรื่องราว

ภาพจากหนังย่อยเรื่อง วันนั้นของเดือน หนึ่งใน Lost In Blue ระหว่างเราครั้งก่อน
ภาพจากหนังย่อยเรื่อง ‘วันนั้นของเดือน’

สมกับเป็นหนังสั้นที่ล่ารางวัลมาแล้วมากมาย (โดยคว้ารางวัลชนะเลิศช้างเผือก (หนังสั้นยอดเยี่ยมระดับอุดมศึกษา) จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นกรุงเทพฯครั้งที่ 18 และรางวัล Special Jury Mention ในสาย International Competition จากเทศกาล Clermont-Ferrand International Short Film Festival 2015 ประเทศฝรั่งเศส) บทที่เขียนไว้อย่างลงตัว บอกเล่าสไตล์เพื่อนหญิงที่เล่าผ่านไปถึงปัญหาวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้องก่อนวัยเรียน การป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ แถมยังมีเรื่องราวสไตล์เลสเบี้ยนเล็กๆ ใส่เข้ามาด้วย

เล่นกันอยู่สองคนแต่เอาอยู่จริงๆ


Glowstick กำกับโดย ปภาวี จิณสิทธิ์

หนังสั้นเรื่องสุดท้ายใน ‘Long Story Shorts: Lost In Blue ระหว่างเราครั้งก่อน เล่าเรื่องราวระหว่าง พิม (วี วิโอเลต วอเทียร์) เเละโญ๋ (อรัชพร โภคินภากร) เพื่อนสนิทที่เช่าหอพักอยู่ด้วยกัน กับกิจกรรมห่ามๆ ที่หญิงสาวสองคนทำร่วมกัน และบทสนทนาที่บอกเล่าถึงความคิดจิตใจของคนที่อยู่ในวัยรุ่น หนังได้รับรางวัลชมเชยช้างเผือกปี (2015) จากเทศกาล Thai Short Film & Video เเละยังทำให้นักเเสดงนำอย่างก้อยได้รับรางวัลนักเเสดงดีเด่นในปีนั้นอีกด้วย

วี วิโอเล็ต และ ก้อย อรัชพร จากหนังย่อยเรื่อง Glowstick
วี วิโอเล็ต และ ก้อย อรัชพร จากหนังย่อยเรื่อง ‘Glowstick’

อีกเรื่องที่เน้นไปที่สองสาวเพื่อนซี้และกิจกรรม/บทสนทนาแบบ “หญิง-หญิง” บอกเล่าเรื่องความคิดและสิ่งที่เด็กวัยรุ่นจะต้องได้พบเจอ ใช้ Glowstick เป็นตัวแทนของบางสิ่งบางอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของหนึ่งในนั้น อีกเรื่องที่จุดเริ่มและจุดลงเอยมีความเกี่ยวโยงกัน เป็นหนังสั้นที่ทำให้หลายคนหันมามองนั่นเป็นเพราะได้สองสาวที่กำลังเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงอย่าง วี และก้อย เข้ามานำแสดงทั้งๆ ช่วงเวลาถ่ายทำนั้น พวกเธอยังไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่

ต้องยอมรับในเสน่ห์ของสองสาวเสียจริงๆ

โปสเตอร์รวมหนังสั้นนักศึกษา Lost In Blue ระหว่างเราครั้งก่อน
โปสเตอร์หนัง ‘Lost in Blue ระหว่างเราครั้งก่อน’

ทั้งสามเรื่องถือเป็นเหมือนการหยิบเอาหัวกะทิของนักศึกษาที่กำลังจะกลายเป็นกำลังสำคัญในวงการหนังไทยมาเรียงไว้ในหนังเรื่องเดียวกัน เรื่องแรกเน้นมุมมองหลายๆ มุมหน่อย ไม่ได้เน้นเฉพาะความคิดของวัยรุ่นอย่างเดียว แต่ก็ยังมีปัญหาในการกำกับการแสดงของผู้ใหญ่ กับการตัดต่อที่เรียบเรื่อยไป

ขณะที่สองเรื่องราวค่อนข้างลงตัว ด้วยเพราะเล่าเรื่องด้วยตัวละครหลักแค่สองตัว และนักแสดงก็สวมบทบาทกันได้ดี “วันนั้นของเดือน” อาจจะมีภาษีดีกว่า “Glowstick” นิดหน่อยตรงบทที่ลงตัวกว่า แต่ก็ถือว่าทั้งหมดมีโปรดักชั่นที่ดี ถ่ายภาพออกมาสวย และได้เห็นมุมมองที่ไม่เห็นในหนังไทยทั่วไปบ้าง


ชื่อภาพยนตร์: Long Story Shorts: Lost In Blue / ระหว่างเราครั้งก่อน
ผู้กำกับภาพยนตร์: จิรัศยา วงษ์สุทิน (วันนั้นของเดือน), เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ (ฝน), ปภาวี จิณสิทธิ์ (Glowstick)
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: จิรัศยา วงษ์สุทิน (วันนั้นของเดือน), เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ (ฝน), ปภาวี จิณสิทธิ์ (Glowstick)
นักแสดงนำ: วิโอเลต วอเทียร์, อรัชพร โภคินภากร, พริมรัน พัวรัตน์, จิราพร แซ่ลี้, ธนกร ศิริปัทมาธร
แนว/ประเภท: Drama
ความยาว: นาที
ประเทศ: ไทย
อัตราส่วนภาพ:
เรท: ไทย/ , USA/
วันเข้าฉายในประเทศไทย: 22 กันยายน 2559 (เฉพาะเครือ SF)
ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย/สตูดิโอ: HAL Distribution

ระหว่างเราครั้งก่อน

Long Story Shorts: Lost In Blue - 6.1

6.1

Long Story Shorts: Lost In Blue

ทั้งสามเรื่องถือเป็นเหมือนการหยิบเอาหัวกะทิของนักศึกษาที่กำลังจะกลายเป็นกำลังสำคัญในวงการหนังไทยมาเรียงไว้ในหนังเรื่องเดียวกัน เรื่องแรกเน้นมุมมองหลายๆ มุมหน่อย ไม่ได้เน้นเฉพาะความคิดของวัยรุ่นอย่างเดียว แต่ก็ยังมีปัญหาในการกำกับการแสดงของผู้ใหญ่ กับการตัดต่อที่เรียบเรื่อยไป

User Rating: Be the first one !

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ