ในแต่ละปี ไม่ว่าจะคนรักหนังหรือนักดูหนัง ต่างก็จะได้ดูหนังที่สร้างเรื่องจริงหลายสิบเรื่อง ผู้กำกับมากมายสร้างหนังแนวนี้ออกมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย คงเพราะเรื่องจริงหลายๆ เรื่องมันเกี่ยวพันกับชีวิตคนจริง คนดูจึงเชื่อมโยงเข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังบอกเล่าบางสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกแต่อาจจะมีคนรู้เพียงหยิบมือ และสิ่งนั้นสมควรถูกรับรู้ในวงกว้าง อย่างเช่นเรื่องนี้ ‘Holy Spider’ หรือชื่อไทย ‘ฆาตกรรมเภณี เมืองศักดิ์สิทธิ์’
มันถูกสร้างมาจากเหตุการณ์จริงในปี 2000-2001 ที่เกิดเหตุฆาตกรรมหญิงโสเภณีในเมืองมัชฮัด เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศอิหร่าน รวมแล้วถึง 16 ราย เป็นเหตุที่สร้างความหวาดกลัวทั่วเมือง ขณะเดียวกันก็กลายเป็นที่ถกเถียงถึงสาเหตุของการฆ่า ช่วงเวลาการจับกุมและตัดสินคดีความ
สิ่งเหล่านี้ถูกหยิบจับมาเล่าเป็นหนังโดยผู้กำกับที่ชื่อ Ali Abbasi
เรื่องย่อหนัง ‘Holy Spider’
หลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญซ้ำแล้วซ้ำเล่า หญิงสาวชาวอิหร่านในเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างมัชฮัดที่ยากจน เธอเลือกจะเลี้ยงชีพด้วยการเป็นโสเภณี ท่ามกลางสังคมที่เคร่งศาสนาและยกให้ชายเป็นใหญ่ หลายคนติดยา และถูกมองว่าเป็นสิ่งโสโครกของบ้านเมือง จึงมีชายคนหนึ่งที่สังหารพวกเธอด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการกำจัดเสนียดออกไปจากสังคม เขาถูกเรียกว่า ‘ฆาตกรแมงมุม’
แต่ในสังคมนั้นก็ยังมีคนกล้าฝ่าลมแรง ราฮิมี (Zar Amir-Ebrahimi/ซาร์ อาเมียร์ เอบราฮิมี) นักข่าวสาวที่เข้าไปทำข่าวเพื่อสืบสาวหาตัวฆาตกรและได้เห็นการถูกสำเร็จโทษด้วยตาตนเอง
รีวิวหนัง ‘ฆาตกรรมเภณี เมืองศักดิ์สิทธิ์’
หนังจากผู้กำกับชาวอิหร่าน Ali Abbasi ที่สร้างงานที่ตีแผ่ความจริงในประเทศบ้านเกิดตัวเอง จนได้ข่าวว่าถูกอิหร่านแบน แต่หนังก็ได้กลายเป็นตัวแทนประเทศเดนมาร์กส่งชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม นอกจากนี้ หนังยังคว้ารางวัลใหญ่อย่าง ‘นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม’ จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทั้งหนังเองก็ได้เข้าชิง Palme d’Or ด้วยนะครับเนี่ย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างมัชฮัด เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศอิหร่าน ในช่วงปี 2000-2001 นั้นมี คนผู้ก่อเหตุรายหนึ่ง ตระเวณขี่มอเตอร์ไซค์ยามดึกออกไปชวนสาวโสเภณีซ้อนท้ายแล้วจัดการฆ่าก่อนนำศพไปทิ้ง เขาคิดว่านั่นคือการทำสิ่งดีและถูกต้อง เพราะเป็นการกำจัดคนบาปให้หมดจากท้องถนน แม้อีกด้านเขาจะถูกเรียกในหน้าหนังสือว่าฆาตกรก็ตาม
เอาจริงๆ ถ้าหนังเรื่องนี้ถูกสร้างในบริบทของคนอเมริกัน มันก็คือหนังอาชญากรรมของฆาตกรต่อเนื่องคนหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อมันเป็นหนังที่เกิดขึ้นในอิหร่าน มันจึงกลายหนังอีกแบบหนึ่งไปเลย ในโลกที่ศาสนายิ่งใหญ่สุดในสังคม สิ่งที่ศาสนาสั่งสอนกลายเป็นความเชื่อของผู้คน เมื่อนักข่าวอย่างราฮิมีคิดเปิดโปงเรื่องนี้ ทำให้พฤติกรรมของเธอดูจะเป็นสิ่งที่สวนกระแสสังคม
หนังเผยให้เห็นถึงสังคมที่ชายเป็นใหญ่และผู้หญิงกลายเป็นเบี้ยล่าง สามีพูดอะไร ภรรยาน้อมรับและคล้อยตาม ขีดคั่นกดให้ผู้หญิงต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทำให้นักข่าวอย่างราฮิมีที่ไม่เคร่งไม่สนกฎกลายเป็นขบถของสังคม แต่ดูเหมือนจะไม่สน สิ่งที่เธอแน่วแน่คือการจับตัวฆาตกรมาลงโทษให้สาสมต่างหาก
ภาพในหนังเผยแต่สิ่งที่โคตรแรงให้นายแพทได้เห็น ไม่ว่าฉากการฆาตกรรม หรือฉากที่ว่าด้วยเรื่องราวทำนองนั้น จนทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดมันจึงได้รับเรท ฉ20+ ในบ้านเรา การที่หนังเล่าเรื่องของโสเภณีก็ย่อมจะมีฉากทางเพศเข้ามาข้องเกี่ยว แถมอาชีพนี้ยังถูกมองเป็นของต่ำ แม้แต่ครอบครัวก็รับไม่ได้ ซึ่งหนังก็ทำให้เราได้เห็นมุมมองความคิดที่บิดเบี้ยว (ในความรู้สึกของเรา) ของผู้คนต่อการคร่าชีวิตผู้อื่น
หนังชวนตั้งคำถามในใจคนดูด้วยว่า การฆ่าคนนั้นยังควรเป็นสิ่งผิดอยู่ไหมหากฆาตกรนั้นบอกว่าตนทำไปเพื่อศาสนา การลวงหญิงโสเภณีไปสังหารเพราะอ้างว่าเป็นการกำจัดสิ่งโสโครกของสังคม สมควรได้รับการตัดสินอย่างไร หนังเล่าเรื่องไปถึงตำรวจที่ปล่อยปละเพราะมองว่าทำให้งานตัวเองลดลง เล่าไปถึงศาลที่ทำหน้าที่อย่างไม่ตรงไปตรงมา ร่ายยาวไปถึงการเข้ามาเกี่ยวข้องของเรื่องการเมือง แน่นอน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นดูคล้ายเจตนาจะขัดใจคนดูอย่างเราไปเสียหมด ทั้งความคิดของผู้คน ทั้งสังคมที่กดให้คนครึ่งหนึ่งต้องอยู่ต่ำกว่า ยอมรับเลยว่า เขาคัดเลือกนักแสดงมาได้ดี คนพวกนี้คงไม่ใช่ชาวอิหร่านผู้เคร่งศาสนาและกล้าจะท้าทายคนพวกนั้น แถมเดินเรื่องได้อย่างท้าทาย เปลี่ยนมุมมองตัวละครไปมาหลายหน
‘ฆาตกรรมเภณี เมืองศักดิ์สิทธิ์’ บอกเล่าทุกอย่างแบบโต้งๆ โจ่งแจ้ง ใส่ฉากแรงๆ สร้างความรู้สึกขุ่นมัวต่อความคิดคลั่งและเคร่งศาสนาของประเทศนี้ แทรกใส่บางฉากที่ชวนขำขื่น ก่อนทิ้งท้ายด้วยสามนาทีอันสุดแสนจะหดหู่และเลือดเย็น
แต่ยังไงก็ตาม หนังเรื่องนี้ถูกนำเสนอในลักษณะ ‘ได้รับแรงบันดาลใจาจากเรื่องจริง’ คงต้องมีการแต่งเติมรายละเอียดของเนื้อเรื่องบางส่วนไปบ้างเพื่อรับใช้สิ่งที่ผู้กำกับต้องการเล่า แถมหนังเรื่องนี้จะเรียกเป็นหนังอิหร่านก็คงไม่ได้ เพราะแม้เหตุการณ์ของหนังจะเกิดขึ้นในอิหร่านก็จริง และผู้กำกับก็อาจจะเกิดในเตหะราน แต่เขาก็ย้ายไปสวีเดนก่อนจะอาศัยอยู่ในเดนมาร์กในปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรมของอิหร่านเองก็ควันออกหูและรับไม่ได้กับหนังเรื่องนี้ แต่หนังก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในฐานะตัวแทนเดนมาร์กจนได้
จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าหนังจะแรงใส่อิหร่านขนาดนี้
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | Holy Spider / ฆาตกรรมเภณี เมืองศักดิ์สิทธิ์ |
กำกับ | Ali Abbasi |
เขียนบท | Ali Abbasi, Afshin Kamran Bahrami |
แสดงนำ | Zar Amir-Ebrahimi, Mehdi Bajestani, Arash Ashtiani |
แนว/ประเภท | Crime, Drama, Thriller |
เรท | ไทย/ฉ20+ |
ความยาว | 116 นาที |
ปี | 2022 |
สัญชาติ | เดนมาร์ก |
เข้าฉายในไทย | 6 ตุลาคม 2022 |
ผลิต/จัดจำหน่าย | Profile Pictures, ONE TWO Films, Nordisk Film Production |
Holy Spider
พล็อตและบท - 7.9
การแสดง - 7.8
การดำเนินเรื่อง - 8
เพลงและดนตรีประกอบ - 7
งานถ่ายภาพ เทคนิคพิเศษและโปรดักชัน - 7.3
7.6
ฆาตกรรมเภณี เมืองศักดิ์สิทธิ์
ยอมรับเลยว่า เขาคัดเลือกนักแสดงมาได้ดี คนพวกนี้คงไม่ใช่ชาวอิหร่านผู้เคร่งศาสนาและกล้าจะท้าทายคนพวกนั้น แถมเดินเรื่องได้อย่างท้าทาย เปลี่ยนมุมมองตัวละครไปมาหลายหน หนังบอกเล่าทุกอย่างแบบโต้งๆ โจ่งแจ้ง ใส่ฉากแรงๆ สร้างความรู้สึกขุ่นมัวต่อความคิดคลั่งและเคร่งศาสนาของประเทศนี้ แทรกใส่บางฉากที่ชวนขำขื่น ก่อนทิ้งท้ายด้วยสามนาทีอันสุดแสนจะหดหู่และเลือดเย็น