ได้เวลาของหนังเรื่องที่สองของสัปดาห์นี้แล้วสินะ ออกเดินทางจากที่ทำงานสู่โรงหนังที่อยู่กับเรามานานอย่าง Major Cineplex สุขุมวิท (เอกมัย) เพื่อพาตัวเองไปพบกับหนังฟอร์มเล็กๆ อีกเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกให้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ โตรอนโต ปี 2015 ‘February เดือนสอง ต้องตาย’ หนังที่ผสมผสานระหว่างสไตล์ระทึกขวัญและสยองขวัญ ด้วยฉากที่ชวนตื่นเต้นและฉากรุนแรงในหนังเรื่องเดียวกัน
นี่คืองานหนังสยองขวัญเรื่องที่สองของสาวสวย เอ็มมา โรเบิร์ตส์ (Emma Roberts) หลังจากเคยแสดงใน ‘Scream 4’ ช่วงนี้เธอดูจะงานชุก เพราะมีทั้งหนังอย่าง ‘Nerve’ ที่ยังฉายอยู่ในบ้านเรา และก็ยังมีซีรีส์ดังอย่าง สครีมควีน ‘Scream Queens’ ด้วย มาหนนี้ เธอจะได้เล่นหนังเรื่องเดียวกันกับ ลูซี่ บอยน์ตัน (Lucy Boynton) สาวสวยเฉียบจากหนัง ‘Sing Street’ เลยนะ
เท่านี้ก็เรียกความรู้สึกอยากดูให้ลุกโชนขึ้นมาแล้วล่ะ
เรื่องย่อหนัง ‘February’
หนังเรื่องนี้จะพาเราไปรู้จักกับผู้หญิงสามคน คนแรก คือ แคเทอลีน (Kiernan Shipka/เคียร์แนน ชิปกา จาก ‘Carriers (2009)’) เธอเป็นนักเรียนของโรงเรียนแบรมฟอร์ดที่กำลังมีหยุดยาว เธอเฝ้ารอให้พ่อแม่มารับแต่แล้วพวกเขาก็ไม่มา ส่งผลให้เธอต้องอยู่กับนักเรียนสาวอีกคน โรส (ลูซี่ บอยน์ตัน/Lucy Boynton จาก ‘Sing Street’) รุ่นพี่ที่ดูไม่เต็มใจจะเป็นพี่เลี้ยงให้เท่าไหร่
โดยไม่รู้เลยว่ามีเหตุบางอย่างที่กำลังรอให้เผชิญอยู่
สาวคนที่สามก็คือ โจน (เอ็มมา โรเบิร์ตส/Emma Roberts) สาวอีกคนที่ดูจะโตกว่าสองคนแรก เธอเดินทางกลับไปยังแบรนฟอร์ดอีกด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง
และไม่มีใครรู้ว่าเธอเกี่ยวกับเด็กสาวทั้งสองข้างต้นอย่างใด
รีวิวหนัง ‘เดือนสอง ต้องตาย’
ก่อนที่ผมจะได้สัมผัสกับหนังเต็มๆ เรื่องนี้ ยอมรับว่า ไม่ค่อยจะเก็ทเท่าไหร่กับตัวอย่างหนังที่เปิดเผยมาแค่วับๆ แวมๆ แปะช็อตนั่นนิดนี่หน่อยจนไม่รู้ว่าหนังมันเกี่ยวกับอะไร น่ากลัวยังไง แต่ก็คิดว่า ‘February’ น่าจะมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ สุดท้ายก็เลยพาตัวเองไปดู
หนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่
หนังยังมีชื่ออื่นอีกนะ เช่น ‘The Blackcoat’s Daughter’ เป็นงานเดบิวต์ครั้งแรกในฐานะผู้กำกับของ Oz Perkins หลังจากรับจ็อบเป็นนักแสดงบทเล็กบทน้อยบ้าง เป็นมือเขียนบทบ้าง สัปดาห์นี้ผมดูหนังของผู้กำกับฯ หน้าใหม่เป็นเรื่องที่สองแล้วสินะ
ร่วมงานกับสามนักแสดงสาวดาวรุ่ง
เขาเลือกนักแสดงสาววัยรุ่นที่กำลังมีแววรุ่งในวงการหนังถึง 3 คนมาร่วมงาน ซึ่งก็ถือเป็นจุดเด่นจุดขายของหนังเรื่องนี้ได้ดี เพราะทั้ง Emma Roberts ที่กำลังรุ่งสุดขีด, Kiernan Shipka สาวใสใบหน้าสวยอีกคนที่แม้ยังไม่แรงเท่าไหร่แต่ก็พอมีแววอยู่ กับอีกคน Lucy Boynton ที่ก็เริ่มจะรุ่งเช่นกัน และทั้งสามมีหน้าตาเป็นอาวุธ และมีพื้นฐานการแสดงที่ดี
พอจะตรึงผู้ชมให้อยู่กับหนังได้ทั้ง 1 ชั่วโมงกับ 33 นาที
งานภาพคุมโทนสุดติสต์ เดินเรื่องสับไทม์ไลน์สุดแนว
เรียกได้ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องไปจนถึงตอนจบของหนัง ผู้กำกับฯ เล่นกับการสับไทม์ไลน์เป็นชิ้นๆ แล้วสลับใส่วางเรียงมันอย่างสนุกมือ แต่ละช่วงก็ใช้เทคนิคแตกต่างกันออกไปบ้าง ใครที่ไม่ทันได้ตั้งตัวจะรับกับการเล่าแนวนี้ก็อาจจะมีมึน และจับต้นชนปลายไม่ถูกแม้จะผ่านมาจนช่วงท้ายของเรื่องแล้วก็ตาม
สำหรับบางคนอาจทำความเข้าใจได้ แต่กับบางคน อาจมึนจนต้องรอหนังจบแล้วออกมาสนทนากันข้างนอกอีกที
อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมในเรื่องของการคุมโทนงานภาพที่แนวได้คงเส้นคงวาตลอดเรื่อง เน้นความทึม แสงข้างในน้อยๆ แต่ข้างนอกสว่างจ้า การจัดวางที่ติสต์ๆ ผสานไปกับการตัดต่อที่สลับไปมา และเสียงดนตรีสไตล์ปลุกเร้าที่ดังขึ้นมาบ้าง และเงียบจนได้ยินเสียงหัวใจตัวเองไปบ้าง นอกจากจะรักษาโทนของงานภาพและยังรักษาโทนของการเดินเรื่องให้นิ่งได้อย่างนั้นตลอดเรื่องด้วย
เรื่องราวที่เกี่ยวการบูชาซาตานของคนในละแวกนั้น ความมืดดำที่ใช้บรรยากาศกลางวันที่หิมะสีขาวโพลน และกลางคืนมืดทึมที่แสนหนาวเหน็บ หนังเริ่มด้วยการสร้างความสงสัยในใจผู้คน ก่อนจะคลี่คลายอะไรๆ ในตอนจบที่ก็คงจะไม่มีใครคาดเดาได้ถูก
หากพบว่าดูแล้วไม่เข้าใจ กรุณาปรึกษาหารือกับคนข้างๆ
ชื่อภาพยนตร์: February / เดือนสอง ต้องตาย / The Blackcoat’s Daughter
ผู้กำกับภาพยนตร์: Osgood Perkins (as Oz Perkins)
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Osgood Perkins (as Oz Perkins)
นักแสดงนำ: Emma Roberts, Lauren Holly, Kiernan Shipka, Lucy Boynton, James Remar
แนว/ประเภท: Horror, Thriller
ความยาว: 93 นาที
อัตราส่วนภาพ:
ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
เรท: ไทย/ , USA/R
วันเข้าฉายในประเทศไทย: 8 กันยายน 2559
ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย/สตูดิโอ: Paris Film, Traveling Picture Show Company (TPSC), Unbroken Pictures, M Pictures
เดือนสอง ต้องตาย
February - 7
7
February
อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมในเรื่องของการคุมโทนงานภาพที่แนวได้คงเส้นคงวาตลอดเรื่อง เน้นความทึม แสงข้างในน้อยๆ แต่ข้างนอกสว่างจ้า การจัดวางที่ติสต์ๆ ผสานไปกับการตัดต่อที่สลับไปมา และเสียงดนตรีสไตล์ปลุกเร้าที่ดังขึ้นมาบ้าง และเงียบจนได้ยินเสียงหัวใจตัวเองไปบ้าง นอกจากจะรักษาโทนของงานภาพและยังรักษาโทนของการเดินเรื่องให้นิ่งได้อย่างนั้นตลอดเรื่องด้วย