หนึ่งในหนังที่เข้าชิงออสการ์ปีนี้ ทว่าไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้ฉายในประเทศไทยให้คนบ้านเราได้ดูกัน วันนี้ ผมเลยกะว่าจะลองเขียนถึงเรื่องนี้ให้ได้อ่าน เผื่อว่าใครที่ยังไม่ดูจะได้ลองไปเสาะหามาทัศนากันบ้าง วันนี้ ผมจะพูดถึง ‘Ex Machina’ หนังดราม่าไซไฟที่ได้เข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ ก่อนจะคว้าได้ 1 ตัว … Best Achievement in Visual Effects
เรื่องราวของวิทยาการแห่งอนาคต มนุษย์วาดฝันว่าสักวันเราจะประดิษฐ์เอไอที่คิดและตอบสนองได้เหมือนมนุษย์ทุกอย่าง และมันก็ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง บางเรื่องก็ตั้งคำถามเอาไว้น่าสนใจ
เช่นเรื่องนี้เป็นต้น
เรื่องย่อหนัง ‘Ex Machina’
เรื่องราวมันเริ่มต้นตรงที่ เคเลบ (Domhnall Gleeson จาก ‘Unbroken’ และ ‘About Time’) ชายหนุ่มโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งในบริษัทได้รับข้อความว่าเขาถูกหวยเป็นผู้โชคดีได้เดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นของ นาธาน (Oscar Isaac จาก ‘Inside Llewyn Davis’ และ ‘The Bourne Legacy’) เจ้าของบริษัท โดยไม่รู้จุดมุ่งหมาย ไม่รู้ว่าเขาจะได้พบกับอะไรในป่าที่ห่างไกลผู้คนขนาดนั้น
ณ บ้านไฮเทคที่ถูกอ้างว่าเป็นศูนย์วิจัย เขาค่อยๆ ได้พบความจริงบางอย่าง ว่ามันเป็นที่ทำการทดลองสร้างเอไอสาวนาม เอวา (Alicia Vikander จาก ‘The Danish Girl’ และ ‘The Man from U.N.C.L.E.’) และเขาจะเป็นคนเข้าไปพูดคุยกับเอไอสาวแล้วมารายงานผล
แต่มันก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาจะได้รู้
เขาถูกเฝ้ามองจากนาธานผ่านกล้องวงจรปิดทุกตัวโดยที่เขาไม่รู้ มันยังมีหลายสิ่งที่ชวนสงสัยที่นาธานมิได้บอก และบางสิ่งที่ในตัวนาธานที่เก็บซ่อนเอาไว้ เหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ ส่วนเอไอสาวนั้นเล่า เธอสวย และตอบสนองได้เหมือนคนจริงๆ เช่นนั้น
ถ้าเกิดเขารักเอไอเข้าล่ะ มันจะเป็นเช่นไร
รีวิวหนัง ‘Ex Machina’
แรกเริ่มนั้น ผมไม่รู้นักหรอกว่าหนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไรและจะพาผมไปเจอกันอะไรบ้าง แต่เมื่อยิ่งเวลาในหนังผ่านไป ผมก็ยิ่งพบว่าในความเรียบเรื่อยของหนังซ่อนอะไรเอาไว้หลายสิ่งหลายอย่างเหลือเกิน จนต้องติดตามมันไปให้จบ
เกิดภาวะกดดัน และเดาอะไรไม่ได้เลย
เหมือนเคเล็บถูกชักชวนมาที่นี่โดยไม่ได้รู้อะไรเลยจนเมื่อมาถึง ก็ถูกจับเซ็นสัญญา และพาไปพูดคุยกับเอวา ที่นาธานสร้างและทดสอบ และเหมือนว่าเราเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าเคเล็บมากนัก เราก็ค่อยๆ รู้เรื่องราวที่ไม่น่าไว้ใจ ไม่ชอบมาพากลในบ้านไฮเทคหลังนี้ไปพร้อมๆ กับเคเล็บ
ถ้ามองข้ามไปว่า นาธานใช้ความรู้จากอัลกอริทึมของเสิร์ชเอนจิ้นของบริษัทตัวเองมาสร้างเป็นมันสมองของเอไอได้ด้วยตัวคนเดียวอย่างไรไปแล้ว ก็ต้องนับว่าหนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องด้วยการสร้างความสงสัยได้ดีมาก ทำให้เราเกาะติดกับเรื่องราวได้อย่างไม่หลุดเลย
การที่เขาไม่ยอมเปิดเผยอะไรตั้งแต่ต้น และค่อยๆ เปิดเผยทีละหน่อย ทำให้คนดูอย่างผมเดาเรื่องยาก ไม่รู้ว่ากำลังจะเจออะไร เรื่องมันจะไปในทางไหน เมื่อผสานไปกับดนตรีประกอบสไตล์อิเล็กทรอนิกทำให้ตัวหนังดูลึกลับและเต็มไปด้วยความไฮเทค แม้ตัวละครมันจะน้อยนิดเท่านั้นเอง
ตัวประกอบอื่นๆ ที่มาปรากฏตัวอยู่ในหนังมีไม่มากนัก แต่ที่โดดเด่นสุด ก็คงจะเป็นสาวเคียวโกะ (Sonoya Mizuno) เหมือนสาวใช้มากกว่าจะเป็นแค่ลูกจ้าง เธอไม่พูดอะไรเลย แต่ยิ่งดูก็ยิ่งพบอะไรน่าเคลือบแคลง
แล้วเราก็ได้พบอะไรที่ถูกซ่อนไว้
งานออกแบบฉากและงานวิชวลที่สุดเนียน
เอไอสุดสวยของเราในหนังเรื่องนี้ สวมบทบาทโดยนางเอกสาวแสนสวย Alicia Vikander เมื่อร่างกายที่สมส่วนของเธอมาอยู่บนร่างที่เปลือยเปล่า (ในมุมของเอไอ ใบหน้าสวยๆ ของอลิเซียนั้นเหมาะกับการเป็นเอไอมากๆ เพราะมันยังให้เธอดูสวยอยู่ เธออาจมองว่าตนโป๊ แต่ในมุมมองของมนุษย์เราไม่ได้รู้สึกว่ามันโป๊แต่อย่างใด) งานเทคนิคด้านงานภาพนั้นนวลเนียนดูสมจริงอย่างไร้ที่ติ
บ้านไฮเทค ทุกอย่างดูเป็นสี่เหลี่ยม เต็มไปด้วยรูปทรงเรขาคณิต ออกแบบอย่างเรียบๆ ผนังปูนเปลือย ประตูเป็นกระจกด้าน ช่างต่างกับภายนอกบ้านที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ ป่าและน้ำร่มรื่นน่าอยู่ อาจเป็นบ้านในฝันของใครหลายๆ คนด้วยซ้ำ แต่ก็มีบางส่วนของบ้านเช่นกันที่สอดใส่ธรรมชาติเข้ามาผสมผสาน โดยเฉพาะผนังที่เป็นหิน
แต่บ้านนี้กลับเต็มไปด้วยความน่าสงสัยมากมาย
ตั้งคำถามเรื่องปัญญาประดิษฐ์ไว้อย่างแยบยล
มนุษย์สร้างเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์ / Artificial Intelligence) ขึ้นมาด้วยสติปัญญาความชาญฉลาดของพวกเขาเอง แต่เมื่อเอไอถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว เธอจะมีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นไปได้มั้ยว่า เธอจะแสดงเจตจำนงในแนวทางที่ใกล้เคียงกับมนุษย์แต่แตกต่างไปบ้างในบางส่วน
เป็นไปได้มั้ยว่า เธออาจจะเก็บซ่อนความรู้สึกนึกคิดบางอย่างไว้แล้วแสดงออกอีกอย่างออกมา เพื่อจะดำเนินการบางอย่างให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
โดยที่มนุษย์มิได้คาดคิดไว้ก่อนเลย
มนุษย์ผู้สร้างเอไอ อาจคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือหรือเป็นเจ้าของเอไอ จึงกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือแม้แต่กระทำการใดๆ ก็ได้ต่อเอไอตามที่ตนเองต้องการ หากเธอไม่ผ่านการทดสอบ มนุษย์ผู้สร้างที่มองว่าตนเองคือ “พระเจ้า” สามารถจะทำลายเธอได้หรือไม่ รึเธอมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่
เอไอมีสิทธิในอิสรภาพหรือไม่ เพราะเธอมีสมองเป็นของตัวเอง มีความคิดเป็นของตัวเอง แม้จะถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์
อีกจุดหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจก็คือการสร้างเอไอด้วยการใส่ลักษณะทางเพศลงไปด้วย เพราะตัวละครอย่างนาธานมองว่า เอไอเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ การที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ ก็ย่อมต้องมีเพศ ถ้าเอไอเป็นกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดา
เราคงไม่มีความรู้สึกใดๆ ให้กับมันหรอก
บทสนทนาใน ‘Ex Machina’ แทรกใส่เรื่องราวด้านปรัชญาเข้าไปอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้การรับชมหนังเรื่องนี้ นอกจากจะได้ติดตามความน่าสงสัยเคลือบแคลงในบ้าน ยังต้องนั่งคิดตามในสิ่งที่ตัวละครสนทนากันด้วย
หนังมีองค์ประกอบพิเศษหลายอย่าง ทั้งฉากที่สุดจะหวาดเสียวจนต้องกระอักกระอ่วนที่ต้องทนดู มีเรื่องราวที่หักมุมชนิดที่คาดไม่ถึง และนำพาไปสู่จุดจบที่ดูเรียบง่าย
แต่น่าสะพรึงอยู่ในที
ชื่อภาพยนตร์: Ex Machina / พิศวาสจักรกลอันตราย
ผู้กำกับภาพยนตร์: Alex Garland
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Alex Garland
นักแสดงนำ: Alicia Vikander, Domhnall Gleeson, Oscar Isaac, Corey Johnson, Sonoya Mizuno, Elina Alminas
ดนตรีประกอบ: Geoff Barrow, Ben Salisbury
กำกับภาพ: Rob Hardy
ความยาว: 108 นาที
แนว/ประเภท: Drama, Mystery, Sci-Fi
อัตราส่วนภาพ: 2.35 : 1
เรท: ไทย/, MPAA/R
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: ไม่เคยเข้าฉายในไทย
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: DNA Films, Film4, Universal Pictures
พิศวาสจักรกลอันตราย
Ex Machina - 9
9
Ex Machina
การที่ Ex Machina ไม่ยอมเปิดเผยอะไรตั้งแต่ต้น และค่อยๆ เปิดเผยทีละหน่อย ทำให้คนดูอย่างผมเดาเรื่องยาก หนังน่าสนใจมากโดยเฉพาะการตั้งคำถามเรื่องการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์ไว้อย่างแยบยล Alicia Vikander เล่นเป็นเอไอไว้อย่างเหมือนและเป็นเอไอที่สวยงามน่ามอง ประสานไปได้ดีกับซีจีที่แนบเนียน เป็นหนังที่ชวนฉุกคิดเรื่องเอไอที่น่าสนใจมาก