ถ้าชีวิตของคุณถูกผูกติดอยู่กับครอบครัว คุณกลายเป็นที่พึ่งพิงของพวกเขาจนไม่อาจได้ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่ ถึงวันที่อยากจะกางปีกโบยบินเดินทางไปตามฝันของตนดูบ้าง ครอบครัวก็ฉุดรั้งทำให้คุณต้องติดแหง็ก ทางออกของปัญหานี้อยู่ที่ตรงไหน? ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของหนังที่ผมกำลังเขียนถึง CODA หัวใจไม่ไร้เสียง
อีกส่วนเสี้ยวหนึ่งคือ ถ้าคุณเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อาจเข้าใจในพรสวรรค์ที่คุณมี คุณมีโลก มีความฝัน มีสิ่งที่รัก และมองเห็นสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ครอบครัวไม่สนับสนุน เพราะพวกเขาไม่อาจเข้าไปอยู่ในโลกของคุณได้ คุณจะรู้สึกและแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
หนังเรื่องนี้จะมีคำตอบให้กับคุณไม่มากก็น้อย…
เรื่องย่อหนัง CODA
หญิงสาวหน้าคม นามว่า รูบี้ รอสซี่ (Emilia Jones จากหนังเรื่อง High-Rise, Brimstone และ Youth) เธอคือหญิงสาวผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ในด้านการร้องเพลง เธอรู้ตัวเองตั้งแต่ยังเด็กแต่เพราะการถูกล้อเลียนเรื่องครอบครัวทำให้เธอประหม่าและไม่กล้าจะแสดงออก
สมาชิกในครอบครัวของเธอทุกคนล้วนสูญเสียประสาทด้านการได้ยิน แฟรงค์ (Troy Kotsur จากหนังเรื่อง Children of a Lesser God) ผู้เป็นพ่อ แจคกี้ (Marlee Matlin จากหนังเรื่อง Children of a Lesser God และซีรีส์เรื่อง Switched at Birth) ผู้เป็นแม่ และลีโอ (Daniel Durant จากซีรีส์เรื่อง Switched at Birth) ผู้เป็นพี่ชาย พวกเขาประกอบอาชีพทำประมง ทุกคนหูหนวกและใช้ภาษามือในการสื่อสาร และมีเพียงเธอคนเดียวที่หูได้ยิน พูดสื่อสารกับคนอื่นได้ เธอจึงกลายเป็นคนสำคัญที่ครอบครัวต้องการ ยิ่งนานวันยิ่งเหมือนครอบครัวนี้จะขาดเธอไม่ได้
แต่ในระหว่างนั้น เธอกำลังมุ่งมั่นเอาดีด้านการร้องเพลง
รูบี้ได้พบกับคุณครูวี (Eugenio Derbez จากหนังเรื่อง Dora and the Lost City of Gold) ครูในชมรมประสานเสียงที่เธอเลือกจะเข้าเพราะผู้ชาย ไมลส์ (Ferdia Walsh-Peelo จากหนังเรื่อง Sing Street) คือชายหนุ่มที่เธอแอบชมชอบ การเลือกครั้งนี้ทำให้เธอได้ใกล้ชิดกับสิ่งที่เธอรักมากที่สุด นั่นคือการร้องเพลง
แต่ก็ทำให้เธอต้องสับสนเมื่อชีวิตเดินมาอยู่ระหว่างสองสิ่ง ทำเพื่อครอบครัว หรือทำเพื่อมีชีวิตของตัวเอง
รีวิวหนัง CODA
*** บทรีวิวนี้อาจกล่าวถึงเนื้อหาบางส่วน บางส่วนแต่ไม่สปอยล์จุดสำคัญนะครับ
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังฝรั่งเศสเรื่องเยี่ยมอย่าง La Famille Bélier ที่วันนี้กลับกลายมาเป็นภาพยนตร์อเมริกันในชื่อ CODA ที่ย่อมาจาก ‘Child of Deaf Adults’ ซึ่งหมายถึงรูบี้นั่นเอง
หญิงสาวผู้มีรักในเสียงเพลง แต่เธอต้องช่วยเหลือครอบครัว
รูบี้เป็นลูกสาวคนสุดท้องในครอบครัวที่มีพ่อ-แม่-พี่ชาย ทั้งหมดล้วนหูหนวก ไม่ได้ยินเสียงใด จึงพูดไม่ได้ และสื่อสารกันด้วยภาษามือ ขณะที่คนทั่วไป หูจะได้ยิน สื่อสารกันด้วยคำพูด แต่สำหรับพวกเขา เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่อง และเมื่อเธอเป็นเพียงคนเดียวในครอบครัวที่หูได้ยินและพูดได้ เธอจึงกลายเป็นสมาชิกที่สำคัญในทุกกิจกรรมของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นยามออกเรือประมงไปหาปลาที่คอยสื่อสารกับยามฝั่ง หรือในการประชุมชาวประมงที่เธอต้องคอยเป็นล่ามภาษามือ
และเมื่อเธอได้รับรู้จากครูว่าเธอมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลง และเห็นว่าไมลส์ต้องการจะเข้าวิทยาลัยดนตรี ประกอบกับครูตกลงจะช่วยติวให้ เธอจึงตอบรับทันที แต่ก็กลับกลายเป็นว่า เธอต้องแบกรับภาระทั้งสองทาง หนึ่งคือ การช่วยเหลือครอบครัว สองคือ การเข้าเรียนเพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่หนักหนากว่านั้นก็คือ แม่ของเธอดูจะไม่ยอมปล่อยให้เธอไปไหน
เธอจึงต้องตกอยู่ท่ามกลางสองทางเลือกที่แสนทำให้ลำบากใจ
ความขัดแย้ง (Conflict) และการก้าวข้ามผ่านวัย (Coming of Age)
หนังค่อยๆ เล่าแมสเสจของความสัมพันธ์อย่างตั้งใจ เราจะได้มองเห็นในหลากหลายแง่มุมว่า ครอบครัวนี้แสดงออกทางความรู้สึกต่อกันเช่นไร พวกเขาเป็นครอบครัวที่ยากจนและต้องพึ่งพิงอาชีพประมงเพื่อหาเลี้ยงชีพ การเป็นคนหูหนวกกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น แต่นั่นก็ไม่เท่า พวกเขามองเห็นว่ารูบี้คือตัวช่วยที่ขาดไม่ได้ ไม่ยอมคิดพึ่งพิงตัวเอง ไม่ทันมองว่า สมาชิกที่แตกต่างจากคนในครอบครัวผู้นี้มีความรักความต้องการอะไร ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาเข้าไปไม่ถึง
พวกเขาไม่อาจได้ยินเสียงที่เธอเปล่งออกมาเป็นท่วงทำนอง พวกเขามองไม่เห็นว่าเสียงของเธอนั้นไพเราะจับใจอย่างไร รวมไปถึงพวกเขาอาจไม่เชื่อว่าเธอมีความสามารถขนาดนั้น.. เพราะพวกเขาไม่ได้ยิน
แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้ครอบครัวนี้ดูแย่ไปเสียหมด ในความรู้สึกพึ่งพิงนั้น ครอบครัวก็มีความรักและความเป็นห่วงเจืออยู่ในทุกอณูของความสัมพันธ์ แค่พวกเขาจะพูดหรือแสดงออกมาให้เธอได้รับรู้หรือไม่..ก็เท่านั้น
อีกอย่าง การที่เธอต้องแบกรับภาระทั้งสองอย่างก็เหมือนคนที่เหยียบเรือสองแคม ไม่ว่าจะพยายามยังไงก็ย่อมยากที่จะทำได้ดีไปเสียทั้งหมด ผู้ชมอย่างเราเข้าใจในความรู้สึกของรูบี้ดี เธอคงไม่อยากสูญเสียทางใดทางหนึ่งไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาเธอก็ต้องเลือก เช่นกัน ครอบครัวก็ต้องยอมปล่อยให้เธอโบยบิน
หนังใส่อารมณ์ขันแบบห่ามๆ และให้เวลากับความรักของรูบี้
นอกเหนือจากเวอร์ชันนี้จะปรับเปลี่ยนให้ครอบครัวของรูบี้มีอาชีพเป็นชาวประมง มีฉากออกหาปลากลางทะเลแล้ว ระหว่างเรื่องราวก็ยังใส่มุกฮาเชิงห่ามๆ ที่นำพาหัวเราะมาให้เป็นระยะๆ หนังจึงไม่ได้เครียดหรือเอาจริงเอาจังอะไรขนาดนั้น อีกสิ่งที่ผมชมชอบในหนังเรื่องนี้ก็คือการที่เขาค่อนข้างให้เวลาเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหนุ่มสาว
เป็นธรรมดาของวัยรุ่นที่มักจะได้พบเจอกับรักครั้งแรก ความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ พัฒนาผ่านความขัดแย้งก่อนจะคลี่คลาย เริ่มต้นเพราะความรู้สึกแอบชอบ ทำให้รูบี้ที่ติดตามไมลส์เข้าชมรมประสานเสียง แต่ต่อมา มันเติบโตจนกลายเป็นความรักที่เอิบอิ่ม หนังให้เวลากับมัน มุมของความโรแมนติกจึงชัดขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งในครอบครัว และการเรียนรู้เพื่อความก้าวหน้าทางการร้องเพลง
ฉากเหล่านั้นเป็นเหมือนความอบอุ่นอีกด้านที่รูบี้ได้รับ นอกเหนือจากความอบอุ่นในครอบครัวเธอเอง
เพลงไพเราะและความสามารถในด้านการร้องของเอมิลี่ โจนส์
ในเมื่อดัดแปลงมาสร้างในแบบอเมริกันแล้ว บทเพลงในนั้นก็ย่อมต้องมาจากฝั่งอเมริกาด้วย แต่ละเพลงล้วนมีความไพเราะเป็นของตัวเอง ไม่พอ มันยังมีความหมายที่บ่งบอกถึงความคิดความรู้สึกของเหล่าตัวละครในเรื่องด้วย
อย่างเพลง ‘You’re All I Need To Get By’ เพลงที่รูบี้และไมลส์จะได้ร้องคู่กันในคอนเสิร์ตฤดูใบไม้ร่วงของโรงเรียน อาจเป็นเพลงที่ได้ยินบ่อยสุด เวอร์ชันเดิมเป็นเสียงของ Mavin Gaye และ Tammi Terrell จากแนวแจ๊สก็กลับกลายเป็นอะคูสติกดูเอ็ตที่ไพเราะน่าฟัง หรืออย่างเพลง ‘Starman’ เพลงของ David Bowie ที่ร้องโดยชมรมประสานเสียง ก็บอกเล่าการเดินทางของเหล่าหนุ่มสาวได้อย่างดี เหนืออื่นใด เสียงของ Emilia Jones คือความไพเราะที่พาเพลิดเพลินไปตลอดทาง
และที่สำคัญก็คือ การแปลเนื้อเพลงบนซับไตเติลที่บรรจงแต่งมาให้คล้องจองกัน กลายเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ดีเยี่ยมของหนังเรื่องนี้
ครอบครัวคือต้นกำเนิดของตัวตน คือแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อเติบโตในหนทางของตน แม้จะขัดแย้งไม่เข้าใจกัน หากแต่ละคนต่างก็รักและหวังดี พวกเขาอาจแสดงออกแตกต่าง แต่ข้างในล้วนเหมือนกัน อย่างในเรื่องนี้ แม้พวกเขาคิดแต่จะพึ่งพิงรูบี้เพราะเธอสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง พวกเขาก็ย่อมมองเห็นว่า ควรปล่อยให้รูบี้ได้ใช้ชีวิตของตนเอง ถึงความเปลี่ยนแปลงและการจากลาจะทำให้มีน้ำตา
แต่ครอบครัวจะยังอยู่ในหัวใจ แม้ไร้เสียงใดให้ได้ยิน
รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง
ชื่อภาพยนตร์ | CODA / โคด้า หัวใจไม่ไร้เสียง |
ผู้กำกับ | Sian Heder |
ผู้เขียนบท | Sian Heder |
นักแสดง | Emilia Jones, Marlee Matlin, Troy Kotsur, Daniel Durant, John Fiore, Ferdia Walsh-Peelo, Eugenio Derbez |
แนว/ประเภท | Drama, Music |
เรท | PG-13 |
ความยาว | 111 นาที |
ปี | 2021 |
สัญชาติ | สหรัฐอเมริกา |
เข้าฉายในไทย | 30 ธันวาคม 2021 |
ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย | Vendome Pictures, Pathé Films, Picture Perfect Federation, Mongkol Major |
หัวใจไม่ไร้เสียง
บทและพล็อต - 9
การแสดง - 9.2
การดำเนินเรื่อง - 9.2
เพลงและดนตรีประกอบ - 9.5
งานถ่ายภาพ - 9
9.2
CODA
เรื่องราวที่ดูเรียบง่ายแต่ก่อความขัดแย้งที่ชัดเจน ครอบครัวที่ทุกคนล้วนหูหนวก มีเพียงรูบี้คนเดียวที่หูได้ยินและพูดสื่อสารได้ เธอต้องช่วยเหลือเป็นล่ามภาษามือให้ครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการทำในสิ่งที่รัก นั่นคือ การร้องเพลง การเลือกจะทำในสิ่งที่ครอบครัวไม่เข้าใจ อาจต้องใช้แรงผลักดันอยู่มากสักหน่อย หนังอาจทำให้มีน้ำตา แต่เพลงเพราะๆ จะช่วยฮีลหัวใจ