นี่คือสารคดีไอดอล BNK48 เรื่องที่สองต่อจาก ‘Girls Don’t Cry’ ที่เล่าเรื่องของรุ่น 1 คราวนี้หันมาเล่าเรื่องราวของวงหญิงสาวที่มีรุ่น 2 เพิ่มเติมเข้ามา โดยมีอีเวนต์เลือกตั้งหรือ 6th Single Senbatsu General Election เป็นเหตุไคลแมกซ์ งานนี้ส่งไม้ให้ผู้ดาราและกำกับหญิงอย่าง โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ก่อนเคยใช้ชื่อหนังว่า ‘Real Me’ แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘One Take’ ตามคอนเซ็ปต์ในการถ่ายทำ
ด้วยมูลเหตุของโรคเลื่อนที่ผ่านมาหลายหน ทั้งเหตุผลที่เราไม่รู้ ทำให้หนังยังไม่ได้รับการฉายกระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่สองอย่าง 9th Single Senbatsu General Election ผ่านพ้นไป หนังก็ยังไม่ได้ฉาย ผสมกับประเทศไทยอยู่ในวิกฤติไวรัส COVID-19 ระบาดจนโรงหนังถูกสั่งปิดทำการ ทั้งหมดทั้งมวลอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสารคดีนี้กลายเป็น…
หนังสารคดีไทยเรื่องแรกที่ได้เป็น Netflix Original
เรื่องย่อหนัง ‘One Take’
เส้นทางของการเป็นไอดอลในเครือ 48 Group นั้น นอกจากจะมีการออดิชันมาเป็นรุ่นๆ แล้ว นอกจากจะมีการฝึกฝนในทั้งด้านการร้องและเต้นแล้ว ก็ยังมีหนทางของการแข่งขันที่ถูกเรียกว่า General Election หรือการเลือกตั้งของไอดอลอีกด้วย
วันเทค เกิดขึ้นและถ่ายทำในช่วงที่วงกำลังผ่านเข้ามาสู่งานการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่ง BNK48 ในช่วงเวลานั้นมีแล้วทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2
ไอดอลที่มีรวมกันอยู่ราว 50 ชีวิตในเวลานั้น ได้รับการบันทึกไว้ทั้งภาพที่คนทั่วไปเคยได้เห็น ภาพของพวกเธอในเวลาที่แฟนคลับไม่ได้เข้าร่วมและรับรู้ และบทสัมภาษณ์ที่พวกเธอจะได้รับโจทย์ในคอนเซ็ปต์เดียวกัน
คือ เทคเดียว ไม่มีเทคสอง!
รีวิวหนัง ‘BNK48: One Take’
ผลงานหนังสารคดีไอดอลในวันที่ BNK48 มีเพิ่มเติมรุ่นสองเข้ามา ในความรู้สึกผมนั้น ผมว่าโดนัททำได้ดีกว่าที่คาดคิดไว้เสียอีก เธอได้ขยายวงของการพูดคุยออกไปจากเดิม นอกเหนือจากที่เราได้รับรู้ความคิดต่อการเป็นไอดอลและการเลือกตั้งไอดอลจากปากของไอดอลแล้ว เราก็ยังจะได้รับรู้เสียงที่ออกมาจากทีมงานฝั่งญี่ปุ่น แฟนคลับ และคนในวงการอีกด้วย
หนังเปิดตัวด้วยเหตุการณ์สั้นๆ ของวันประกาศผลด่วนครั้งแรก และหยิบคลิปภาพสั้นๆ ของสิ่งที่จะได้พบในช่วงถัดไป ก่อนเข้าสู่โลโก้หนัง
จากนั้นนั่นแหละ ถึงจะเป็นเวลาจริงๆ ของหนังสารคดีเรื่องนี้
เรื่องราวที่เล่าสลับกันไประหว่างคลิปภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์และบทสัมภาษณ์ โดยมีตัวหนังสือคอยบอกจุดขีดคั่นของเหตุการณ์ จะว่าไป มันคือการร้อยเรื่องที่ทำให้คนดูเข้าใจเรื่องได้แม้ไม่ใช่แฟนคลับ
จากจุดเริ่มต้น สู่การเดินทางของความพยายาม
หนังเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่การออดิชัน จุดประกายด้วยซิงเกิลที่โด่งดัง จนผลิบานกับการมาของรุ่นที่สอง พูดถึงความสำคัญของการขึ้นเป็นเซ็มบัตสึ (16 คนในเพลงหลัก) แต่ วันเทค เลือกจะมองไปถึงแฟนคลับซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของวง
ทีมงานเลือกเอาแฟนคลับมาบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองในบทบาทของแรงสนับสนุน แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็คือส่วนหนึ่ง
หากใจความสำคัญก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความคิดความรู้สึกของเหล่าไอดอล
ผู้กำกับเขาเลือกจะหยิบความรู้สึกส่วนลึกภายในจิตใจของสมาชิกที่มีต่อส่วนเสี้ยวชีวิตของการเป็นไอดอล ความกดดันและการทำหน้าที่ที่ต้องผ่านทั้งรอยยิ้มและน้ำตา การเสแสร้งและความเป็นตัวตน ความพยายามและความผิดหวังที่จะคอยผลักดันได้พัฒนาตัวเองในช่วงเวลาถัดๆ ไป
เพื่อน และ คู่แข่ง
ในส่วนตัว ผมมองเห็นว่า เขาทำให้เราได้มองเห็นแง่มุมต่างๆ มากขึ้น ครอบคลุมทุกความรู้สึกของเมมเบอร์มากขึ้น (แม้มันจะเป็นแง่มุมที่คนเป็นแฟนคลับรับรู้อยู่แล้วก็ตาม) ทำให้คนนอกที่ได้ลองเอาตัวเองเข้ามาทำความรู้จักได้มองเห็นว่า การเป็นสมาชิกวงไอดอล BNK48 ไม่ใช่สิ่งง่าย ทั้งภายนอกและภายในจิตใจ
พวกเธอต้องก้าวข้ามผ่านทั้งการพัฒนาความสามารถของตัวเอง การค้นพบตัวเอง ทั้งยังต้องเป็นที่ต้องการของผู้คนไปพร้อมๆ กันด้วย พวกเธอเป็นทั้งเพื่อนที่ปรารถนาดีต่อกัน แต่พวกเธอก็ต้องการที่จะก้าวขึ้นเป็นเซ็มบัตสึ ต้องการจะก้าวออกมาอยู่แถวหน้า ทั้งที่รู้ว่าต้องมีบางคนต้องเสียใจ การอยู่ในวงนี้จึงเป็นการผสมรวมของความรู้สึกหลายอย่างปะปนกัน
เอาจริงๆ มันก็เป็นอะไรที่คนอย่างแฟนคลับล่วงรู้ดีอยู่แล้ว
สิ่งที่รู้สึกเมื่อได้ดูหนังสารคดีไอดอลเรื่องที่สอง
พอมองเห็นว่าการสร้างหนังสารคดีไอดอลดูมีกรอบในการเล่าอยู่พอสมควร ยิ่งเมื่อเป็นหนังที่ใช้ฟุตเทจ(ที่คนเคยเห็นและไม่เคยเห็น)ผนวกเข้ากับคลิปสัมภาษณ์ จึงอาจมองไม่เห็นความแตกต่างมากมายนักจาก Girls Don’t Cry สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ฟุตเทจที่เพิ่มขึ้น การเล่าเรื่องที่เดินเป็นระเบียบตามไทม์ไลน์ การสัมภาษณ์คนภายนอกและแฟนคลับ และเรื่องราวก็จะดำเนินไปจนจบที่สิ้นสุดผลของการ General Election
ในใจนั้นก็ไม่ได้คิดหรือคาดหวังอะไรก่อนเปิดดู จึงรู้สึกว่า หนังหยิบความคิดแตกต่างหลากหลายของเมมเบอร์มาเล่าได้ค่อนข้างครบถ้วนดี
แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างน่าชื่นชมเท่าที่ควร
ถ้ามองในมุมของแฟนคลับหรือคนที่ติดตามวงมานานมากกว่าสองปี น่าจะเป็นอะไรที่พวกเขาได้รับรู้มาพอสมควรแล้ว จึงไม่ได้รู้สึกจะได้พบในสิ่งที่แปลกแตกต่างจากที่รู้มา แค่เรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงมาเล่าไว้ใน 85 นาทีเท่านั้น ไม่ได้ต่างอะไรจากสารคดีเรื่องก่อนหน้าสักเท่าใด
ประเด็นของการเล่าเรื่องที่ไม่ชัดนอกจากเล่าไทม์ไลน์ชีวิตของตัวอ่อนที่ชื่อไอดอล เติบโต และวันนี้ก็แตกหน่อออกมาแล้ว ส่วนหนึ่งคือหนังเล่าเรื่องราวที่เก่าไปแล้วกว่าเราจะได้ดู อีกส่วนหนึ่งก็คือ วงไอดอลน่าจะมีประเด็นอื่นให้เล่าได้มากกว่า ความพยายาม การแข่งขัน ความขัดแย้งทางอารมณ์ ที่มาเพียงผิวๆ แล้วก็เดินจากไป
ฝากไว้ถ้ามีเรื่องหน้าอะนะ!
ภาพยนตร์เรื่อง: BNK48: One Take
ผู้กำกับภาพยนตร์: โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล
ผู้เขียนบทภาพยนตร์:
นักแสดงนำ: สมาชิก BNK48 รุ่น 1 และ 2
ความยาว: 85 นาที
ปี: 2020
แนว/ประเภท: Documentary
อัตราส่วนภาพ:
ประเทศ: ไทย
เรท: ไทย/, MPAA/
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: เข้าฉายทาง Netflix พร้อมกันทั่วโลก 18 มิถุนายน 2020
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: iAM Films, High Pigxell,Netflix
บีเอ็นเคโฟร์ตีเอท: วันเทค
พล็อตและบท - 6
เพลง/ดนตรีประกอบ - 6.3
การดำเนินเรื่อง - 5.1
งานภาพ - 6.5
6
BNK48: One Take
สารคดีไอดอลเรื่องสองที่เล่าเน้นเรื่องงาน General Election ครั้งแรก หนังเล่ายาวครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นวงจนถึงงานประกาศผลการเลือกตั้ง แทรกด้วยฟุตเทจและการสัมภาษณ์เมมเบอร์ ร่วมด้วยความคิดหลากหลายจากคนบันเทิงและแฟนคลับ หากไม่คาดหวังก็จะเป็นหนังสารคดีที่เล่าได้หลากหลายมุมดี แต่ก็กลับพบว่ามันเล่าเรื่องในแนวทางเดียวกับ Girls Don't Cry เพิ่มบางสิ่งให้มากกว่าเท่านั้น เราไม่แน่ใจว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามวงจะรู้สึกสนุกกับการดูหนังมากน้อยแค่ไหน เพราะไร้จุดพีคอย่างสิ้นเชิง