รีวิวหนัง Blue Again | ครามที่ไม่เคยปรับตัว จึงได้แต่หม่นเศร้าซ้ำๆ

เล่าเรื่องของคนเอาแต่ใจคนนึงที่เป็นเหมือนกับครามผู้ไม่อาจปรับตัว

หนังไทยอีกเรื่องที่ได้รับเสียงชื่นชมหนาหู มันเป็นหนังไทยที่สร้างขึ้นด้วยทุนรอนของผู้กำกับหญิงคนหนึ่ง หลังผ่านการพัฒนาบทมาเป็นปีๆ กว่าจะถ่ายทำเสร็จสิ้นและนำมันออกสู่พื้นที่โรงหนังตามเทศกาลต่างๆ ก่อนที่มันจะได้ก้าวมาฉายในประเทศบ้านเกิด ผมกำลังพูดถึง ‘Blue Again’ หนังไทยนอกกระแสที่เข้าฉายไปได้สักพัก ก่อนจะเหลือพื้นที่ฉายเพียงไม่กี่โรง

ภาพจากหนัง ‘บลู อะเกน’

และก่อนที่มันจะหายไปจากโรงบ้านเราเสียก่อน วันนี้ เป็นวันที่ผมเดินทางออกจากบ้านเพื่อเดินเข้าโรงไปพบกับหนังเรื่องนี้ โดยมีข้อมูลอยู่ในหัวไม่มากนัก กับเสียงตอบรับที่เคยผ่านตามาบ้าง วันนี้ มีรอบพิเศษ Q&A กับผู้กำกับและหนึ่งในนักแสดงนำ เพราะเห็นว่ามันเป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังเสียงและข้อมูลจากเจ้าของหนัง

แล้วจอใหญ่ในห้องมืดก็สว่างขึ้น พร้อมกับเรื่องราวที่ถูกบอกเล่า…


เรื่องย่อหนัง ‘Blue Again’

มันเป็นเรื่องราวของ เอ (ตะวัน จริยาพรรุ่ง) หญิงสาวลูกครึ่งอีสาน-ตะวันตก ที่มีรูปร่างสูง ผมสีน้ำตาล ผู้ที่รู้สึกโดดเดี่ยวในชีวิต เธอมาจากหมู่บ้านคาทอลิกในจังหวัดสกลนคร ช่วงที่เธอเข้ามาเป็นนักศึกษาด้านแฟชั่นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ด้วยหวังว่าตนเองจะสามารถชุบชีวิตโรงย้อมครามของครอบครัวที่กําลังจะตาย แต่เธอแทบจะไม่มีเพื่อน ไม่มีใครอยากคบหา นอกไปเสียจาก แพร (อสมาภรณ์ สมัครพันธ์) หญิงสาวที่ทักเธอเป็นคนแรก อาจเพราะด้วยต้นทุนทางสังคมและความฝันที่คล้ายกัน ก่อนแพรจะกลายเป็นเพื่อนที่เอสนิทใจที่สุด

แต่ด้วยอุปนิสัยที่ค่อนข้างเด็ดเดี่ยว เอาแต่ใจ และมุ่งมั่นแต่จะทำความฝันให้เป็นจริง ความสัมพันธ์ที่เอถักทอไว้กับคนรอบข้างกลับกำลังจะขาดลง

ตัวอย่างหนังไทย ‘Blue Again’

ที่สกลนคร เอยังมีสุเมธ (ศรัณย์เมศ รัตนพงษ์) เพื่อนผู้ชายที่คบหากันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ดูเหมือนเขาจะเป็นเซฟโซนสำหรับเอ เธอกลับไปเจอกับสุเมธอีกครั้งที่บ้านเกิดตามสัญญา ก่อนที่เอจะเริ่มตั้งคำถามกับตนเอง ‘บนโลกนี้…ที่ตรงไหนคือที่ของเธอจริงๆ’


รีวิวหนัง ‘Blue Again’

หลังจากได้ยินมาสักพักเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ก็ถึงเวลาที่ตัวเราเองจะได้พบกับเรื่องราวในหนังสักที หนังที่โด่งดังในเทศกาลหนังเมืองปูซาน ก่อนจะเริ่มข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาฉายในบ้านเกิดตนเอง หนังเข้าฉายไปพักหนึ่งก่อนที่เราเองจะก้าวเท้าเดินออกจากบ้านไปดูมันในโรงภาพยนตร์

จริงๆ ‘บลู อะเกน’ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรกันแน่?

ด้วยเวลาของหนังที่เล่าเรื่องยาวนานถึง 190 นาที แรกเริ่ม เราอาจสงสัยว่า หนังมันเล่าเรื่องอะไรกันนะ ถึงได้ยาวนานขนาดนี้ เมื่อดูหนังจบก็พบว่า หนังมันพาไปสำรวจช่วงเวลาและตัวละครที่รู้สึกโดดเดี่ยวในชีวิตคนหนึ่ง ด้วยความเป็นลูกครึ่ง ทำให้เธอดูแตกต่างจากคนอื่น ถูกเพ่งเล็งได้ง่าย แถมยังมีความคิดเป็นของตัวเอง และดูจะซื่อตรงต่อความคิดตัวเองเสียด้วย เธอไม่ชอบเข้าร่วมเชียร์แต่ดันต้องเข้าเพราะเพื่อนรบเร้า เธอไม่ชอบถ้อยคำดูถูกและเหมารวมจนตอกกลับและกลายเป็นรอยร้าวกับเพื่อนอีกคน ความขี้เอาแต่ใจของเธอนี่แหละ ทำให้เธอพบความลำบากในการใช้ชีวิตกับคนรอบข้างครั้งแล้วครั้งเล่า

ภาพจากหนัง ‘บลู อะเกน’

ความเป็นคนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย บ้านที่สกลนครก็มีเพียงย่าและแม่ผู้ที่ถูกสามีทิ้ง เหลือเพียงกิจการผ้าย้อมครามที่กำลังจะตาย เธอจึงมุ่งมั่นเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์ในกรุงเทพฯ เพื่อหวังจะกลับไปช่วยธุรกิจของที่บ้าน เธอก็คือตัวแทนของคนที่บ้านไม่รวยและมุ่งมั่นจะทำบางสิ่งอย่างแรงกล้า ขณะเดียวกัน เธอกลับไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยืดยาวกับใครได้เลย

Blue เรื่องจึงอาจเป็นทั้งสีครามที่อยู่ในทุกส่วนของชีวิต ทั้งธีสิส ทั้งแบรนด์ที่ตัวเอกกำลังปั้น และเป็นทั้งกิจการของที่บ้าน อีกด้าน Blue อาจเป็นความหม่นมัวของตัวเอกที่วนซ้ำกลับมาได้เสมอตราบใดที่เธอยังเป็นคนแบบนี้

หลากหลายตัวละครที่มีสีชัด

ตัวเอกในหนังจะมีชีวิตวนไปวนมาระหว่างมหา’ลัยกับบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังมีตัวละครอยู่เยอะพอสมควร แต่นั่นก็ทำให้เห็นชัดว่าเธอไม่อาจมีที่มีทางของตัวเองจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

เอาแค่ในมหา’ลัยก็เรียกได้ว่าเพียบแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นตัวละครเพื่อนๆ (มันเลยเป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องเพื่อน) ของเอ หนังเล่าถึง แพร คนที่ดูจะมีต้นทุนทางสังคมใกล้เคียงกับเอมากที่สุด แพรเป็นหญิงสาวที่อัธยาศัยดีที่ฐานะต้อยต่ำ ดูเข้ากับทุกคนได้ง่าย ยอมโอนอ่อนเพื่อเข้าร่วมอยู่ในสังคม ขณะที่ กวาง กับ ริชชี่ ดูจะมีต้นทุนทางสังคมสูงกว่า มีครอบครัวที่ร่ำรวยเป็นแบ็คอัปให้ สองคนนี้ดูจะเข้าคู่กันได้ดี แม้พวกเธอจะพยายามเป็นเพื่อนกับเอ แต่ด้วยนิสัยของเอ น่าจะเป็นการผลักพวกเธอออกไปเสียมากกว่า นอกจากนี้ ก็ยังมี กัน หนุ่มผู้รักการคอสเพลย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงและดูจะอยู่ได้ด้วยตนเอง ผิดกับเอที่เหมือนจะเป็นตัวเองแต่กลับอ่อนไหวเมื่อพบว่าตัวเองอยู่กับใครไม่ได้เลย ขณะที่ พี่หยก พี่รหัสคนเก่งคนสวยที่เธอไปช่วยทำงานก็สอนเธอในหลายสิ่งหลายอย่าง

ภาพจากหนัง ‘Blue Again‘ ของผู้กำกับ ฐา ฐาปณี หลูสุวรรณ

เมื่อเอกลับไปยังบ้านแม่ที่สกลนคร เธอกลับไปด้วยความมุ่งหวังจะพลิกฟื้นกิจการย้อมคราม แต่ก็กลับได้พบกับการเก็บตัวของแม่ที่คุยทางไกลอยู่กับใครสักคน ขณะที่เซฟโซนของเอเป็น สุเมธ เพื่อนสนิทต่างเพศที่กำลังอึดอัดอยู่ในครอบครัวคริสต์จนอยากจะออกบวช

แต่ละตัวละครต่างก็มีสีสันที่แตกต่างกันชัดเจน ซึ่งเท่าที่ได้ฟังจากปากผู้กำกับ ตัวละครส่วนใหญ่ในหนังล้วนมีตัวตนจริง และหลายตัวละครก็หยิบเอาบุคลิกจริงของนักแสดงมาใช้เขียนเล่าเป็นเรื่องราว นั่นหมายความว่าเรื่องราวของพวกเขาและเธอเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงแล้วบนโลกใบนี้ ทั้งยังอาจเกิดขึ้นได้อีกแม้กับตัวของคุณเอง

คราม นอกคอก ตัวเศษ

เอาเข้าจริง หนังเล่าอะไรเอาไว้เยอะมากพอสมควร มีไดอะล็อกที่น่าสนใจ สิ่งที่ตัวละครพูดมีอะไรหลายอย่างฉุกชวนให้ขบคิด เป็นหนัง Coming-of-age ที่พาเราไปสำรวจชีวิตในช่วงวัยเรียนของหญิงสาวที่เอาแต่ใจคนหนึ่ง ผ่านเรื่องราวของครามที่มีนัยยะแฝงที่แอบเหมือนกับตัวละครอยู่ประมาณหนึ่ง พาให้เราสนใจว่า ‘คราม’ คืออะไร มันเป็นพืชชนิดหนึ่ง แต่การจะใช้มันมาเพื่อมัดย้อมผ้า ต้องผ่านกรรมวิธีที่เรียกว่า ‘เลี้ยงคราม’ ปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ชอบอากาศที่อบอุ่น ในช่วงเวลาที่อากาศหนาวพวกมันจะตาย ทำให้เลี้ยงครามไม่สำเร็จ เป็นสิ่งบ่งบอกว่า ‘คราม’ มีความเย่อหยิ่ง ไม่รู้จักปรับตัว ไม่ประนีประนอม ก็ไม่ต่างกับ เอ ตัวละครที่เลือกจะทำตามความคิดของตนเอง แต่เธอก็พบว่ามันยากลำบากที่สร้างความสัมพันธ์ที่แนบสนิทกับใครได้จริงและนาน แม้กับแพรที่ดูหัวอ่อนและเข้าหาเธอมากที่สุดแล้วก็ยังไม่อาจแสดงออกเมื่ออยู่ต่อหน้าใคร รวมไปถึงสุเมธ ที่เธอคิดว่าเขาดีกับเธอที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่อาจเดินไปกับเธอได้ตลอดอยู่ดี

ตัวละครแบบเธอ คงเป็นพวกนอกคอก แม้ไม่มีพิษมีภัยแต่ก็ไม่มีใครที่จะคบหาได้อย่างสนิทใจ ความสัมพันธ์ที่เหมือนจะชัดขึ้น…ว่าจางลง จึงได้บังเกิดขึ้นกับเธอ คนแบบเธอทำได้เพียงเดินอยู่นอกวงโคจรของใครๆ สิ่งที่ทำได้คือต้องแข็งแกร่งมากพอที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง

โปสเตอร์หนัง ‘บลู อะเกน’

ในบทหนัง เหมือนจะส่ง กัน เพื่อนผู้ชายที่คลั่งไคล้การแต่งคอสเพลย์และเผชิญกับสถานการณ์แบบเดียวกับเธอ แต่ดูเขาจะเข้มแข็งกว่าและอยู่คนเดียวได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เขาบอกกับเอว่า เราสองคนต่างก็เป็น ‘ตัวเศษ’ เป็นคนที่ใครไม่ต้องการ เขาอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอได้เรียนรู้และค้นพบเส้นทางของการคงอยู่ในโลกใบนี้

หนังพาเราไปพบกับโลกของคนโดดเดี่ยวที่โลกไม่ใส่ใจจะรับฟัง เล่าเรื่องราวที่คนอื่นไม่สนใจจะเก็บมาเล่า หนังที่พัฒนามาจากธีสิสทั้งใช้เวลาบ่มเพาะก่อรูปร่างยาวนานถึง 8 ปี แม้หนังจะยาวไปสักหน่อยแต่ไม่ได้ยาวอย่างไร้ความหมาย การแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติ เพลงประกอบที่มาอย่างน้อยนิดแต่กรีดลึก หนังทำให้เราเรียนรู้เรื่องคราม ทั้งทำให้เราได้รู้ว่าสกลนครมีชุมชนคริสต์ขนาดใหญ่ ระหว่างทางมีอะไรที่น่าสนใจให้เก็บมาคิด แค่อาจจะสงสัยอยู่บ้างว่าหนังจะบอกอะไรกับเรา จนผ่านไปถึงตอนท้ายนั่นแหละ จึงได้เห็นและเข้าใจ

น้ำตาไหลซึมกับความสัมพันธ์ที่พาให้รู้สึกหม่นเศร้าซ้ำๆ


รายละเอียดเกี่ยวกับหนัง

ชื่อภาพยนตร์Blue Again
กำกับฐา ฐาปณี หลูสุวรรณ
เขียนบทฐา ฐาปณี หลูสุวรรณ
แสดงนำบี ตะวัน จริยาพรรุ่ง, ศรัณย์เมศ รัตนพงษ์, แพร อสมาภรณ์ สมัครพันธ์
แนว/ประเภทดราม่า
เรทไทย/G
ความยาว190 นาที
ปี2022
สัญชาติไทย
เข้าฉายในไทย8 ธันวาคม 2022
ผลิต/จัดจำหน่ายตัด อยู่, Groovinman, One Cool Production

บลู อะเกน

พล็อตและบท - 8.3
การแสดง - 8.3
การดำเนินเรื่อง - 7.8
เพลงและดนตรีประกอบ - 7.8
งานถ่ายภาพ - 7.8

8

Blue Again

หนังพาเราไปพบกับโลกของคนโดดเดี่ยวที่โลกไม่ใส่ใจจะรับฟัง เล่าเรื่องราวที่คนอื่นไม่สนใจจะเก็บมาเล่า หนังที่พัฒนามาจากธีสิสทั้งใช้เวลาบ่มเพาะก่อรูปร่างยาวนานถึง 8 ปี แม้หนังจะยาวไปสักหน่อยแต่ไม่ได้ยาวอย่างไร้ความหมาย การแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติ เพลงประกอบที่มาอย่างน้อยนิดแต่กรีดลึก หนังทำให้เราเรียนรู้เรื่องคราม ทั้งทำให้เราได้รู้ว่าสกลนครมีชุมชนคริสต์ขนาดใหญ่ ระหว่างทางมีอะไรที่น่าสนใจให้เก็บมาคิด แค่อาจจะสงสัยอยู่บ้างว่าหนังจะบอกอะไรกับเรา จนผ่านไปถึงตอนท้ายนั่นแหละ จึงได้เห็นและเข้าใจ น้ำตาไหลซึมกับความสัมพันธ์ที่พาให้รู้สึกหม่นเศร้าซ้ำๆ

User Rating: 3.92 ( 3 votes)
Exit mobile version