แล้ววันนี้ก็ได้ฤกษ์หยิบอะนิเมะอีกหนึ่งเรื่องมาเปิดดู อะนิเมะที่มีแต่ภาพในโทนสีน้ำตาล และขึ้นต้นเรื่องมาด้วยชื่อผู้กำกับชื่อก้องนาม Katsuhiro Otomo หากยังไม่รู้ว่ามันคือเรื่องไหนกันนะ ผมก็ขอเฉลยกันตรงนี้เลยว่า ก็ ‘Steamboy’ ยังไงกันเล่า
หลายคนคงรู้จัก Katsuhiro Otomo จากอะนิเมะเรื่อง Akira เช่นเดียวกันกับผม หลังจากนั้น ก็เริ่มคุ้นชื่อมาเรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ชมอะนิเมะที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมสักเท่าไหร่ ในช่วงเวลาที่หลายคนกำลังรื่นเริ่งกับเทศกาลลอยกระทง ผมถือโอกาสอยู่กับบ้านนั่งดู Steamboy คนเดียวอย่างสบายใจ แล้วก็ถือโอกาสสองชั้น หยิบมาเขียนถึงในบล็อกแพทโซนิคแห่งนี้ให้ทุกคนอ่านกัน
จากจุดกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมด ในช่วงเวลาที่ ดร.ลอยด์ ผู้เป็นปู่ และ ดร.เอ็ดเวิร์ด ผู้เป็นพ่อ สองชายแห่งตระกูลสตีม ได้ค้นพบของเหลวที่จะเป็นอนาคตของเทคโนโลยีที่สองคนฝันถึง ผ่านกาลเวลามาถึงจุดเปลี่ยนจุดหนึ่ง เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างการทดลองของทั้งสองบนดินแดนโลกใหม่ ที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างหวัง แรงดันไอน้ำที่สูงเกินกว่าขีดจำกัด ผู้เป็นพ่อสั่งปิดวาล์วก่อนทุกอย่างจะพังครืน แต่ด้วยคำพูดผู้เป็นปู่
“ถ้าหากแกไม่สามารถก้าวข้ามผ่านขั้นธรรมดาไปได้ แกจะไม่มีวันพัฒนาต่อไปได้หรอก”
คำพูดนั้นนั่นเองที่นำมาซึ่งอุบัติเหตุ แล้วใครๆ ต่างก็คิดว่า ดร.เอ็ดเวิร์ด เสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งผู้เป็นลูกอย่าง เรย์ หนุ่มน้อยที่ห่างเหินจากผู้ชายสองคนแรกเมื่อเขามาอยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์กับคุณแม่ หากแต่เชื้อไม่ทิ้งแถว เขามีพรสววรค์ และความเชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องจักรไอน้ำและสิ่งประดิษฐ์
หนังช่วงเริ่มของ ‘Steamboy’ เรื่องบอกเล่ากับเราไว้ตรงนั้น ทุกฉากมุ่งนำเสนอถึงความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยีที่กำเนิดจากอัจฉริยะของตระกูลๆ หนึ่ง ผ่านช่วงเวลาของคน 3 ช่วงอายุ และบางช่วง บ่งบอกถึงความผิดพลาดในระหว่างการทดลองหรือการใช้งานจริง ที่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งประดิษฐ์จากฝีมือคนมีความฉลาดหลักแหลมของมนุษย์นั้น ต้องผ่านขั้นตอนของความผิดพลาดและล้มเหลวมามากมาย แม้จะถึงขั้นใช้งานจริงแล้ว ก็ไม่พ้นกับความเสียหายจากการใช้งานหนักและหนักเกินกำลังได้เช่นกัน
หากแต่เรย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างลูกชายของตระกูลที่มีชื่อเสียง เขาเป็นเพียงลูกจ้างในโรงงานแห่งหนึ่งเท่านั้น
เขาเป็นเพียงแค่ เรย์ สตีม ที่ถูกเด็กแถวนั้นดูถูกว่าพ่อเขาเป็นนักประดิษฐ์หัวขโมย แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตั้งแต่เรย์ได้รับลังพัสดุที่เป็นแบบร่างสิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่งและสตีมบอล ลูกบอลกลมที่เก็บกักของเหลวชนิดพิเศษไว้ภายใน
ขอย้อนไปสักเล็กน้อยในช่วงต้นเรื่อง อุบัติเหตุที่ถูกบอกเล่าครั้งแรกของเรื่องที่ผมเอ่ยถึงไปข้างต้นนั้น คือ สาเหตุของความแตกแยกทางความคิดของ ดร.ผู้เป็นตาและ ดร.ผู้เป็นพ่อของเรย์ ใช่แล้ว พ่อของเขายังไม่ตาย แถมยังมีความคิดไปคนละทางกับคุณตาของเขาด้วย สิ่งที่สร้างความสับสนกับเด็กผู้ชายที่ยังอ่อนต่อโลกอย่างเขามากๆ ก็คือ เขาควรจะเลือกเชื่อทางไหนดี
อะนิเมะเรื่องนี้ พาแนวความคิดเรื่องของเทคโนโลยีจากฝีมือการคิดค้นอย่างไม่สิ้นสุดของมนุษย์ที่ดำรงตนด้วยความเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่ไม่เคยหลุดพ้นไปจากการนำเทคโนโลยีของตนไปรับใช้สงคราม เพื่อแลกกับเงินทุนที่จะนำมาเป็นแรงผลักดันการสร้างสรรค์ ซึ่งขณะเดียวกัน มันก็ผลักให้โลกเข้าสู่ความเลวร้าย การรบราฆ่าฟัน แย่งชิงและรักษาดินแดน/ความเป็นชาติกัน ด้วยการใช้อาวุธที่ก้าวหน้าและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ความทะเยอทะยานของมนุษย์ถูกนำมาพูดถึงครั้งแล้วครั้งเล่าในอะนิเมะ ความพยายามที่จะสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักร เพื่อนำมาใช้ทดแทนแรงงานคน ยุคสมัยของการเริ่มต้นขึ้นของเทคโนโลยี พลังงานต่างๆ ถูกนำขึ้นมาใช้ เมืองใหญ่เต็มไปด้วยปล่องควัน และอบอวลไปด้วยกลิ่นของควันไฟ
นอกจากนี้ มันยังอบอวลไปด้วยกลิ่นของสงครามในรูปแบบใหม่
จากที่มนุษย์เคยรบราฆ่าฟันกันด้วยดาบและหอก ต่อมา เราก็พัฒนาอาวุธปืนที่ทำให้การต่อสู้ระยะไกลเป็นเรื่องทำได้ง่ายขึ้น แต่ในโลกที่เรย์อยู่นั้น การต่อสู้ในทุกทิศทุกทางกำลังจะเป็นไปได้ด้วยพลังของเครื่องจักรไอน้ำ ไม่ว่าจะทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ
คำถามที่น่าสนใจก็คือ เราใช้วิทยาศาสตร์เพื่ออะไรกันแน่ ระหว่างสร้างความสุขให้กับมนุษย์ หรือสร้างอำนาจทางการทหารให้กับคนบางกลุ่ม อำนาจที่แลกเปลี่ยนมาด้วยเงิน และเงินคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ไม่เว้นแม้แต่นักวิทยาศาสตร์หรือนักประดิษฐ์
โลกนี้ยังคงวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้อย่างไม่รู้จบ “เทคโนโลยี” อาจเคียงคู่คำว่า “สงคราม” ตลอดไป
ชื่อภาพยนตร์ : Steamboy / สตีมบอย วีรบุรุษจักรกลไอน้ำปฏิวัติโลก / スチームボーイ
ผู้กำกับภาพยนตร์ : Katsuhiro Ôtomo
ผู้เขียนบทภาพยนตร์ : Sadayuki Murai, Katsuhiro Ôtomo
นักแสดงนำ (นักพากย์) ภาคอังกฤษ : Anna Paquin, Patrick Stewart, Alfred Molina
นักแสดงนำ (นักพากย์) ภาคญี่ปุ่น :
แนว/ประเภท : Animation,
ความยาว : 126 นาที
เรท : สหรัฐ PG-13
เคยดูเมื่อสักปีหรือสองปีก่อน ชอบมาก
ว่าแต่ผมยังไม่เคยดู Akira เลยแฮะ