‘ศิษย์มหัศจรรย์กับอาจารย์พันธุ์อสูร‘ หรือในชื่อสากลอย่าง ‘The Boy and the Beast’ อีกหนึ่งผลงานที่นำเสนอเรื่องราวสิ่งที่ขาดไปและจิตใจของมนุษย์ผ่านแอนิเมชั่นแฟนตาซีที่พิถีพิถันทั้งด้านงานภาพ งานพากย์ และงานเล่าเรื่อง
ถ้าจะพูดถึงแอนิเมชั่นสายพันธุ์ญี่ปุ่นอย่าง ‘Summer Wars‘ , ‘The Girl Who Leapt Through Time’, ‘Wolf Children’ คออะนิเมะตัวจริงเสียงจริงคงต้องผ่านตามาแล้วทั้งนั้น ทั้งหมดคือผลงานของผู้กำกับอะนิเมะมือดีจากญี่ปุ่น เขาคือ มาโมรุ โฮโซดะ (Mamoru Hosoda) ที่วันนี้ กำลังมีอีกหนึ่งผลงานที่เข้าฉายในเมืองไทยรับเทศกาลปีใหม่กันเลยแหละ โดยงานนี้ เขารับหน้าที่ทั้งกำกับทั้งเขียนบท เรื่องราวของโลกคู่ขนานและมิตรภาพต่างสายพันธุ์
ใครที่ติดตามผลงานของเขามาทุกเรื่องคงรู้ซึ้งดี
เรื่องย่อหนัง ‘The Boy and the Beast’
เรื่องมันเริ่มตรงที่ว่า เด็กน้อยนาม ‘เรน’ ผู้หนีออกจากบ้านหลังกลายเป็นเด็กกำพร้า กลายเป็นเด็กมีปมที่เร่ร่อนไปทั่ว หลีกเลี่ยงการโดนจับเพราะไม่อยากกลับไปอยู่ภายใต้การดูแลของญาติฝ่ายแม่ เขาเฝ้าโหยหาพ่อแต่กลับได้เจอสัตว์อสูรจากอีกมิติหนึ่งแทน
ที่นั่นเหล่าสิงสาราสัตว์ได้กลายเป็นอสูรที่มีความสามารถพิเศษ เป็นสัตว์สองขาพูดได้และมีระบบของสัตว์สังคม เรนกลายเป็นศิษย์ของอสูรนาม “คูมะเท็ตสึ” อย่างไม่ตั้งใจ แถมยังได้ชื่อ “คิวตะ” ที่ถูกต้องขึ้นโดยอาจารย์ผู้ไม่เอาไหนของตนอีก แต่แล้วเขากลับได้พบว่าครูของเขานั้นสอนอะไรไม่เป็นสักนิดเดียว เขาเสียอีกที่ต้องช่วยขัดเกลาความกระด้างของครูผู้นี้ให้ก้าวไปอีกขั้นพร้อมกับตัวของเขาเอง
เวลาผ่านไปเนิ่นจนเขาเติบโตขึ้น เขาได้กลับมายังมิติเดิมโดยไม่ได้ตั้งใจ และได้เจอกับสาวสวย “คาเอเดะ” ผู้ซึ่งสอนให้เขาอ่านหนังสือออก มีความรู้มากมายจากครูอีกคนบนโลกอีกใบ เหมือนทุกอย่างจะเริ่มดีถ้าไม่ใช่เพราะว่าเขาต้องกลับไปเพื่อช่วยอาจารย์ของเขาในศึกคับขัน
ซึ่งมันรวมไปถึงการช่วยโลกดั้งเดิมของเขาด้วย
รีวิวหนังแอนิเมชัน ‘ศิษย์มหัศจรรย์ กับอาจารย์พันธุ์อสูร’
ไม่บ่อยนักที่ผมจะได้ชมอะนิเมะก่อนที่จะฉายจริง ในช่วงเวลาที่ผลงานจากจิบลิเริ่มจะห่างหายไป ทำให้งานจาก Mamoru Hosoda ยิ่งทวีความน่าใจขึ้นมากในสายตาผม
อุดมไปด้วยเหล่าซูเปอร์สตาร์ที่มาให้เสียงพากย์
‘ศิษย์มหัศจรรย์ กับอาจารย์พันธุ์อสูร’ มีเหล่าซุป’ตาร์มากมายมาร่วมให้เสียงพากย์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น อาโออิ มิยาซากิ (‘Nana’, ‘My Mother’s Chronicle’, ‘Wolf Children’), โคจิ ยากุโช (‘Cure, Babel’, ‘The World of Kanako’), โชตะ โซเมะตานิ (‘Himizu’, ‘Parasyte 1-2’, ‘Bakuman’), ลิลี่ แฟรงกี้ (‘Like Father Like Son’, ‘Our Little Sister’, ‘Bakuman’), โย โออิสึมิ (‘Gegege no Kitaro’, ‘I am a Hero’) และรวมไปถึง Suzu Hirose จากหนัง ‘Our Little Sister’ ที่เพิ่งดูไปด้วย
แน่นอนว่า หลายคนคงไปดูเรื่องนี้เพราะใครสักคนที่ผมว่ามา
บทเยี่ยมแฝงปรัชญา
เรื่องราวในหนังแอนิเมชั่นอย่าง ‘The Boy and the Beast’ แฝงเอาไว้ด้วยแง่มุมคิดหลายๆ อย่างซึ่งตรงนี้ ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า อาจจะแทรกสปอยล์อยู่บ้าง หากไม่ต้องการรับรู้ก็ข้ามไปได้นะครับ
มันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในระดับครอบครัว ที่บางครั้งการเป็นพ่อมันอาจจะไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่เป็น “พ่อจริงๆ” ก็ได้ หลายครั้งมันก็ก่อเกิดในบุคคลที่ไม่ได้เป็นอะไรกันมาก่อนแต่กลับผูกพันกันอย่างเหลือเชื่อ อาจแฝงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ ที่บางครั้งครูเองก็อาจไม่มีความสามารถมากพอจะเคี่ยวเข็ญศิษย์ได้ด้วยด้อยซึ่งประสบการณ์ แต่การมีศิษย์ก็อาจเป็นอีกทางหนึ่งจะบำบัดให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้พัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กัน
ผกก. เลือกจะเล่าแง่มุมความเป็นมนุษย์อยู่พอสมควร แม้มนุษย์จะมีขีดจำกัดด้านพละกำลังที่ด้อยไปกว่าสัตว์ แต่สัตว์อสูรทั้งหลายต่างก็เกรงกลัวมนุษย์เพราะมนุษย์นั้นมีสิ่งที่พวกเขาไม่มี นั่นคือ ด้านมืดในจิตใจ (อาจฟังดูเหมือน Star Wars อยู่บ้างในมุมๆ นี้) ที่หนังเลือกแสดงออกมาในรูปของรูโบ๋ นัยว่าคนที่มีปมมาก่อน ถ้าวันหนึ่งได้พบกับสิ่งกระตุ้น มันก็อาจจะออกมาอาละวาด ควบคุมจิตใจและทำลายทุกอย่างได้มากกว่าการใช้กำลังเสียอีก
และการควบคุมด้านมืดนั้นก็จำเป็นต้องใช้จิตใจเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย
นอกจากนั้น หนังยังเลือกจะพูดถึงกำลังใจสำหรับคนที่เกิดมาอาจไม่มีพร้อมหรือมีข้อจำกัดอะไรบางอย่าง ว่าพวกเขาไม่ควรเลยที่จะต้องท้อแท้ ขอเพียงพยายามฝึกฝนตนให้เก่งและแกร่งขึ้น เมื่อทุกคนทำได้เช่นนั้น ความภาคภูมิมันก็จะบังเกิดเอง
และความสิ้นหวังก็จะหายไปจากใจพวกเขา
งานภาพชั้นยอด แถมด้วยเพลงประกอบจาก Mr.Children
ถ้าคุณเคยชมงานเก่าๆ ของโฮโซดะที่ผมว่ามาข้างต้นแล้ว คงไม่ปฏิเสธว่า งานของเขานั้นพิถีพิถันด้านงานภาพมาแต่ไหนแต่ไร และในหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน ลายเส้นละเอียดและคม ภาพพื้นหลังก็สวยงาม งานที่ต้องเยอะมากอย่างในฉากสนามกีฬาก็เข้าขั้นสุดยอด แถมยังเลือกที่จะวาดผู้ชมด้วยลายเส้นอีกแบบที่แตกต่างจากตัวหลักอีกเสียด้วย
ใน ‘The Boy and the Beast’ จะมี ฉากฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ฉากต่อสู้ ซึ่งจังหวะของเขาก็ทำออกมาค่อนข้างพอดี ทำให้ผู้ชมพากันขำคิกคักตามไปได้ สนุกลุ้นไปกับการต่อสู้ของพวกเขาไปด้วยได้
งานภาพถือว่าทำได้ดีกว่าจะแค่สอบผ่าน
หนังปิดฉากลงหลังผ่านฉากพีคๆ ไป ไม่ต้องรีบลุกไปไหนนะ เพราะมีเพลงประกอบหนังเรื่องนี้จากศิลปิน Mr.Children ให้ฟังกันระหว่าง เครดิตท้ายเรื่องด้วยนะครับ
ชื่อภาพยนตร์: The Boy and the Beast / ศิษย์มหัศจรรย์ กับอาจารย์พันธุ์อสูร
ผู้กำกับภาพยนตร์: Mamoru Hosoda
ผู้เขียนบทภาพยนตร์: Mamoru Hosoda
นักแสดงนำ: Kumiko Aso, Riri Furanki, Suzu Hirose, Aoi Miyazaki, Koji Yakusho, Shota Sometani
ความยาว: 119 นาที
แนว/ประเภท: Animation, Action, Adventure, Fantasy
อัตราส่วนภาพ: 1.85 : 1
เรท: ไทย/, MPAA/
วันที่เข้าฉายในประเทศไทย: 24 ธันวาคม 2558
สตูดิโอ/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: Nippon Television Network (NTV), Dentsu, Kadokawa, Studio Chizu
ศิษย์มหัศจรรย์ กับอาจารย์พันธุ์อสูร
The Boy and the Beast - 8
8
The Boy and the Beast
ถ้าคุณเคยชมงานเก่าๆ ของโฮโซดะที่ผมว่ามาข้างต้นแล้ว คงไม่ปฏิเสธว่า งานของเขานั้นพิถีพิถันด้านงานภาพมาแต่ไหนแต่ไร และในหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน ลายเส้นละเอียดและคม ภาพพื้นหลังก็สวยงาม งานที่ต้องเยอะมากอย่างในฉากสนามกีฬาก็เข้าขั้นสุดยอด แถมยังเลือกที่จะวาดผู้ชมด้วยลายเส้นอีกแบบที่แตกต่างจากตัวหลักอีกเสียด้วย