มีแอนิเมชันเรื่องหนึ่งที่กำหนดเรื่องราวให้เกิดขึ้นบนดาวอังคาร ที่นั่นมีแต่ความทันสมัยไม่ต่างกับการเป็นโลกเราในอนาคตอันใกล้เลย ที่นั่นมนุษย์ต่างพูดภาษามนุษย์ รูปร่างหน้าก็เหมือนมนุษย์ ไม่ต้องใช้ชุดมนุษย์อวกาศ เดินหายใจกันได้ปกติ และเรื่องราวเล่าถึงวัยรุ่นที่รักในเสียงเพลง ผมกำลังพูดถึง ‘Carole & Tuesday’ หรือชื่อไทย ‘แครอลกับทูสเดย์’ ครับ
เหมือนช่วงนี้ แพทโซนิคจะห่างหายจากการหยิบแอนิเมชันมาพูดถึง และผมก็คิดถึงคอนเทนต์เหล่านั้นขึ้นมา เมื่อคิดจะพูดถึงการแอนิเมชันที่พูดถึงเพลงเป็นหลัก ทำให้เลือกหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาแนะนำ
หวังว่าจะมีคนชอบอะไรเหมือนๆ กันกับผมแถวๆ นี้บ้างแหละนะ…
เรื่องย่อแอนิเมชันซีรีส์ ‘Carole & Tuesday’
หนึ่งคือ ทูสเดย์ หญิงสาวจากตระกูลร่ำรวย หนีออกจากบ้านในวัย 17 ขึ้นรถไฟมาไกลยังเมืองแปลกหน้า ถูกคนขโมยกระเป๋าเดินทาง เหลือเพียงกีตาร์ตัวเดียว เป็นโชคหรือไร เธอได้มาเจออีกคน
อีกคนคือ แครอล หญิงสาวผิวสีที่ดิ้นรนอยู่รอดด้วยการทำงานพาร์ทไทม์ที่โดยไล่ออกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอรักในเสียงเพลง จึงแบกคีย์บอร์ดไปเล่นและร้องแม้ไม่มีคนฟัง แต่กลับได้พบกับทูสเดย์
แม้ไม่รู้ว่า เธอชื่อทูสเดย์เพราะเกิดวันอังคารหรืออีกคนชื่อแครอสเพราะเกิดวันคริสต์มาสหรือไม่ แต่วันนี้ ทั้งสองมาเจอกันแล้ว
และจากนี้จะมีแต่เสียงเพลงดังก้องกังวาน
รีวิวแอนิเมชันซีรีส์ ‘Carole & Tuesday’
ในโลกที่เพลงดังต่างๆ ถูกผลิตขึ้นมาจากการใช้เอไอ กลับยังมีบางคนเลือกจะใช้ความรู้สึกของมนุษย์สร้างสรรค์ท่องทำนองและร่ำร้องออกมาด้วยเสียงของตัวเอง การแอบไปเล่นเพลงที่แต่งกันเองของแครอลและทูสเดอย์ในหอประชุมครั้งนั้น นำพาให้เกิดขึ้นหลายคน นำมาซึ่งการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่
เพราะการเผยแพร่คลิปของร็อดดี้ ทำให้คนที่ห่างจากการทำเพลงไปนานอย่างกัสออกตามหาพวกเธอ แถมเสนอตัวเป็นผู้จัดการให้ซะงั้น!
แครอลและทิสเดย์เป็นสองคนที่แตกต่างกันมาก คนหนึ่งผิวขาวดูคุณหนูแต่งตัวดูน่ารักหวานๆ กับอีกคนที่ผิวเข้มดูทะมัดทะแมงและมีแววความเป็นนักสู้ แต่เมื่อสองคนจับคู่กัน กีตาร์และเปียโนที่ร้อยสอดประสานผ่านท่วงทำนอง รวมเข้ากับเสียงร้องสองแบบที่ทำให้เพลงมีความลื่นไหลมีไดนามิกส์
สำหรับคนที่รักเสียงเพลง ฟังแล้วมันมีความสุขตาม
พวกเธอกำลังก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับชายอีกสองคนที่พยายามทุกวิถีทางจะทำให้เธอเจิดจ้าโด่งดังและกลายเป็นที่สนใจ ในยุคสมัยที่เพลงถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอไม่ได้สร้างจากพรสวรรค์ของมนุษย์
ความเท่อย่างหนึ่งของแอนิเมชันซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ
แต่ละตอนจะตั้งชื่อตามชื่อเพลงของศิลปินดังๆ บนโลกมนุษย์(สมัยก่อนโน้น)
แต่ก็ยังมีอีกด้านหนึ่ง ทาโอะผู้กำลังปลุกปั้นแองเจล่า สาวเสียงใสให้โด่งดัง และวันหนึ่ง เส้นทางของแองจี้ก็จะได้มาบรรจบกับสองสาว แครอลกับทูสเดย์ ในรายการประกวดร้องเพลง
แอนิเมชันซีรีส์เรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่เส้นทางชีวิตการเป็นศิลปินของสองสาว เรื่องราวที่เต็มไปด้วยเพลงเพราะๆ ที่เป็นของพวกเธอ และเพลงจากศิลปินรายอื่นๆ เส้นทางที่บอกเล่าบางส่วนของวงการดนตรีที่อาจเกิดขึ้นจริงบนโลกมนุษย์ เส้นทางของคนที่รักในเสียงเพลง มีความสุขกับการแต่ง เล่น และร้องเพลงให้ผู้คนได้ฟัง เส้นทางที่ต้องผ่านประสบการณ์ การดิ้นรนและฝ่าฟัน อีกทั้งยังต้องมีเพื่อนร่วมทางที่มุ่งมั่นจะก้าวตามฝันและมองเห็นถึงพลังการสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยมในตัวของเรา
[เห็นชื่อเรื่องทีแรกก็ชวนสะกิดใจอยู่นิดหน่อย เพราะ Tuesday ที่คุ้นที่เรียนมา น่าจะอ่านว่า ทิวสเดย์ แต่เรื่องนี้ใช้ ทูสเดย์ แฮะ]งานภาพนั้นเข้าทีอยู่ มีหลายๆ ช็อตเลยที่เป็นทิวทัศน์ การจัดวางแสงที่สวยงามมาก ดูเป็นเมืองอัลบาซิตี้บนดาวอังคารที่ใกล้เคียงกับเมืองหนึ่งบนโลกมนุษย์ดี
แรกๆ นั้นก็มุ่งมั่นเล่าเรื่องการเดินทางในสายดนตรีของทูสเดย์และแครอล แต่หลังๆ ก็เริ่มหยิบการเมืองระหว่างโลกและดาวอังคารมาเล่นมากขึ้น ด้วยเพราะแม่ของทูสเดย์นั้นเป็นนักการเมืองและเธอมุ่งมั่นชนะการเลือกตั้งหวังจะขึ้นมาเป็นผู้นำนั่นเอง
เรื่องราว 24 ตอนที่แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท เล่าเรื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอน น่าติดตามพอสมควร แต่บางครั้งก็มีจุดเอื่อยๆ บ้าง หรือไม่อินบ้าง เพราะอาจจะเวิ่นไปบางช่วง หรือเล่นมุกอะไรที่เราไม่ได้รู้สึกตลกด้วย แต่พอจบตอนก็ชักชวนอยากดูต่อตอนถัดไปได้ในทันที
นับว่าเป็นแอนิเมชันที่ว่าด้วยเรื่องดนตรีที่น่าสนใจอีกเรื่องนึงเลยครับ
ชื่อซีรีส์: Carole & Tuesday / แครอลกับทูสเดย์
นักแสดงนำ: Miyuri Shimabukuro, Kana Ichinose, Akio Ôtsuka
ปี: 2019 พาร์ท 1 จำนวน 12 ตอน และพาร์ท 2 จำนวน 12 ตอน
แนว/ประเภท: Animation, Music, Sci-Fi
ประเทศ: ญี่ปุ่น
ผู้ผลิต/ผู้สร้าง/ผู้จัดจำหน่าย: Bones, Flying Dog
ช่องทางการรับชม: Netflix
แครอลกับทูสเดย์
บทและพล็อต - 7.3
การพากย์ - 7.4
เพลง/ดนตรีประกอบ - 8
การดำเนินเรื่อง - 7.7
งานภาพ - 8.4
7.8
Carole & Tuesday
เรื่องราว 24 ตอนที่แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท เล่าเรื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอน น่าติดตามพอสมควร แต่บางครั้งก็มีจุดเอื่อยๆ บ้าง หรือไม่อินบ้าง เพราะอาจจะเวิ่นไปบางช่วง หรือเล่นมุกอะไรที่เราไม่ได้รู้สึกตลกด้วย แต่พอจบตอนก็ชักชวนอยากดูต่อตอนถัดไปได้ในทันที นับว่าเป็นแอนิเมชันที่ว่าด้วยเรื่องดนตรีที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง