แม้ผมจะเป็นแฟนเข้าขั้นพันธุ์เกือบแท้ของ Studio Ghibli ก็ตาม แต่ผมก็ยังไม่เคยได้ชมภาพยนตร์แอนิเมชั่นของค่ายนี้ในโรงใหญ่เลยสักครั้ง ด้วยเหตุผลว่า มันมีไม่กี่เรื่องที่มีคนนำเข้ามาฉาย อีกส่วนคือผมเองก็เพิ่งมาสนใจอะนิเมะจริงๆ เอาเมื่อ 3 ปีมานี่เอง แน่นอนว่า วันที่ Spirited Away เข้าฉายในไทย ผมยังไม่รู้จักจิบลิเลยสักนิด นี่คือหนแรกที่ผมได้ชื่นชมกับอะนิเมะแสนน่ารักในโรงภาพยนตร์ สร้างความสุขให้วันธรรมดาๆ ของผม ‘Ponyo’
หนังมีชื่อยาวๆ เต็มๆ ว่า ‘Ponyo on the Cliff by the Sea’ ส่วนชื่อไทยก็คือ ‘โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย’ ที่เข้าโรงฉายในเมืองไทยกันไปตั้งแต่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา
คือผลงานลำดับที่แปดของเจ้าพ่ออะนิเมะ Hayao Miyazaki หลังจากเปิดโอกาสได้มิยาซากิผู้ลูกออกผลงานการกำกับเรื่องแรกในชีวิต แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จาก ‘Gedo Senki’ ผู้เป็นพ่อจำเป็นต้องกลับมาอีกครั้ง กับอะนิเมะที่เต็มไปด้วยภาพเคลื่อนไหวที่สดใส เนื้อหาที่จรรโลงใจ และเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ คราวนี้ มิยาซากิผู้พ่อเลือกที่จะเล่าเรื่องของทะเลบ้าง โดยที่ตัวละครเอกยังคงเป็นผู้หญิงเช่นเคย คราวนี้ เธอมาในรูปแบบของ “ปลาทอง”
โปเนียว คือชื่อของลูกปลาตัวน้อยที่เด็กชายโซซึเกะเป็นคนตั้งให้ ดูเหมือนเธอจะชอบชื่อนี้มาก พอๆ กับที่ชอบโซซึเกะ แม้เธอจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดในทะเล มีแม่ตัวใหญ่ยักษ์ที่เป็นเจ้าแห่งสมุทร มีพ่อที่เคยเป็นมนุษย์และไม่ยอมให้เธอออกไปเที่ยวเล่นที่ไหน แต่เธอกลับใคร่จะเป็นมนุษย์หลังจากได้พบกับโซซึเกะ ด้วยพลังอำนาจจากความที่เธอเป็นลูกสาวเจ้าสมุทร ประกอบกับการได้กินเลือดมนุษย์เข้าไป ทำให้เธอมีพลังมหาศาลอย่างที่ตัวเธอก็มิอาจคาดคิด ประกอบเธอเกิดทำน้ำอมฤตทะลึกกระจายสู่ท้องทะเล มันจึงส่งผลต่อเรื่องราวที่ใหญ่โตขึ้นมาในภายหลัง
ในที่สุด ก็ได้เรื่องแล้ว เกี่ยวกับชื่อของ “Ponyo” ว่าจะอ่านอย่างไรดี สรุปว่าเป็น “โปเนียว” หลายคนบอกว่ารู้ภาษาญี่ปุ่นและยืนยันว่าออกเสียงอย่างนั้น โอเค โปเนียวก็โปเนียว แม้ในความรู้สึกผม เป็นการอ่านให้เข้ากับเสียงสระไทยเท่านั้น ถ้าฟังเสียงในหนัง ก็จะออกประมาณ “โป-นโย” เอาเป็นว่า หยวนๆ ก็ได้ว่าอ่าน “โปเนียว” ละกันครับ
นอกจากความรักใสๆ สไตล์เด็ก 5 ขวบแล้ว โปเนียวยังมีหลายสิ่งที่เรียงร้อยอยู่ในเนื้อเดียวกัน
มิยาซากิหยิบเอาเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอันสกปรก ที่เกิดจากความเจริญของมนุษย์ เข้ามาพูดถึงด้วยอีกครั้ง ขยะเต็มชายฝั่ง คราบน้ำมันที่มาจากเรือประมง บอกให้เราตระหนัก เรากำลังทำร้ายทะเลและสิ่งมีชีวิตในนั้นอยู่ สึนามิ เป็นมหันตภัยที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยพอๆ กับแผ่นดินไหว ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ น้ำทะเลที่เอ่อล้มเพิ่มระดับจนท่วมแผ่นดินที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เข้ากับสภาวะโลกร้อนที่หลายคนพูดถึงกันอยู่
ขณะที่เรื่องเวทมนตร์ก็ไม่พ้นหยิบมาพูดถึงเช่นเดิม และมีเพียงมนุษย์เท่านั้น ที่ไม่มีมัน ได้แต่อยากมี
ในอะนิเมะเรื่องนี้ เราจะพบความสัมพันธ์แบบครอบครัวปรากฏอยู่ในหลากหลายรูปแบบมากๆ
โซซึเกะเรียกว่าเธอเป็นปลาทอง ด้วยลักษณะที่คล้ายๆ แต่เป็นปลาที่มีหน้าจึงไม่เหมือนกับปลาทั่วไป แถมยังมีเวทมนตร์เสียด้วย เป็นเรื่องที่พบได้ในอะนิเมะในหลายๆ เรื่องของมิยาซากิ โปเนียวมีน้องที่มีลักษณะเหมือนเธอจำนวนมากมาย แต่ไม่มีตัวไหนที่จะมีเวทมนตร์ได้เหมือนอย่างเธอ น้องๆ รักเธอมาก เชื่อฟังเธอทุกอย่าง พร้อมช่วยเหลือทุกเมื่อ นี่ความสัมพันธ์แบบพี่ๆ น้องๆ ส่วนโซึเกะ ขณะที่อยู่ที่โรงเรียน ก็เนื้อหอมอยู่ไม่น้อย เป็นที่สนใจของเด็กผู้หญิงอยู่ถึงสองคน ขณะที่โปเนียวไม่ชอบเด็กผู้หญิงเอาเสียเลย
ส่วนความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูก เราจะพบได้ในครอบครัวของโซซึเกะ ที่มีลิซ่า (ริสะ) แม่ที่ค่อนข้างมุทะลุอยู่สักหน่อย แต่เธอก็ทำหน้าที่แม่ได้ดี พอๆ กับทำงานดูแลคนชราอย่างแข็งขัน มีพ่ออย่างโคอิจิ ที่รักภรรยาและลูก แม้จะต้องออกไปทำงานประมงเป็นระยะเวลาหลายวัน อีกครอบครัวหนึ่งก็คือ ครอบครัวประหลาดของพ่อที่เคยเป็นมนุษย์ ผู้ไม่ยอมให้ลูกห่างกาย แม่ที่เป็นเจ้าสมุทร ที่รักและใช้เหตุผลในการเลี้ยงดูลูกน้อย
ส่วนความสัมพันธ์ในทางอื่นก็เช่น หญิงชราทั้งหลายในบ้านคนชรา ผ่านชีวิตมามาก รักและเอ็นดูโซซึเกะ มักจะให้คำแนะนำจากความเชื่อและประสบการณ์ที่ยาวนานแก่คนรุ่นหลาน ซึ่งประสบการณ์ยังไม่เยอะ แต่ก็มักจะไม่เชื่อในสิ่งที่คนแก่พูด เหมือนอย่างที่คุณยายโทกิบอกให้เอาโปเนียวกลับลงสู่ทะเล มิฉะนั้นจะเกิดสึนามิ แต่ด้วยความรักที่มีต่อโปเนียว เด็กชายจึงไม่เชื่อฟัง
นอกจากโปเนียวจะสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว และสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งที่เด่นไม่แพ้กัน ก็คือ แง่คิดทางปรัชญา อะนิเมะเรื่องนี้เอ่ยถึง การยอมรับในตัวตนของอีกฝ่าย และการเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่ต้องการโดยต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่าง ทั้งสองสิ่งถูกกล่าวถึงอยู่ในช่วงหลัง จึงพบว่า โปเนียวไม่ได้เป็นเพียงอะนิเมะใสๆ ของเด็กวัยห้าขวบ แต่ยังมีแง่มุมที่ลึกซึ้ง มันจะมีมากกว่าจะเป็นอะนิเมะสำหรับเด็กนั่นเอง
นอกจากเสียงดนตรีออเคสตร้าประกอบอันไพเราะแล้ว งานภาพก็ยังคงเป็นจุดเด่นอยู่เช่นเดิม อย่างภาพรายละเอียดสูงของท้องทะเลที่ในช่วงเปิดเรื่อง รวมเข้ากับดนตรีประกอบ กลายเป็นความตื่นตาตื่นใจอย่างที่สุดจริงๆ ขณะที่ภาพบนแผ่นดิน มิยาซากิผู้พ่อเลือกที่จะใช้ภาพวาดลักษณะเหมือนดินสอสีระบาย แทนที่จะเป็นภาพสีน้ำ น่าจะเพราะเป็นเรื่องของเด็กวัยห้าขวบกับปลาทองตัวน้อยนั่นเอง
หลังจากตัดจบ คุณยังได้พบกับเพลง Ponyo แสนน่ารักอีกด้วย อย่าลืมดูจนจบเพลงล่ะ นี่ผมตกหล่นเรื่องอะไรไปบ้างหรือเปล่านี่
ร่ายมาเสียยาว คงทำให้คุณอยากไปดูโปเนียวตัวน้อยในโรงเหมือนผมบ้างนะ