ในช่วงที่เรายังเฝ้าแต่คิดถึงโลกอนาคตที่มีทั้งคนและหุ่นยนต์อาศัยอยู่ร่วมกันนั้น อะนิเมะจากญี่ปุ่นพูดถึงหุ่นยนต์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เติบโตไปจนถึงขั้นแอนดรอยด์ และไซบอร์ก หลายเรื่องลงลึกไปถึงขั้นปรัชญาซึ่งค่อนข้างใช้เวลาในการทำความเข้าใจสูง การตั้งคำถามที่บางครั้ง มนุษย์ในปัจจุบันก็ยังฟันธงชี้ชัดๆ ลงไปไม่ได้ หลายเรื่องเติบโตจากการเป็นมังงะ ก่อนจะรุ่งเรืองด้วยภาพยนตร์อะนิเมะและภาพยนตร์การ์ตูนชุดทางทีวี และ ‘Ghost in the Shell’ เรื่องนี้ก็เป็นเช่นนั้น
มังงะชื่อดังผลงานของ ชิโระ มาซามูเนะ มันถูกตีพิมพ์ในยังแมกกาซีนในปี 1989 ก่อนจะมีภาคถัดๆ มา และก่อนจะกลายเป็นงานภาพยนตร์แอนิเมะที่กำกับโดย โอชิอิ มาโมรุ ทั้งสองภาค คือภาคแรกในปี 1995 และภาคสอง ‘Ghost in the Shell 2: Innocence’ ในปี 2004 นอกจากนี้ มันยังมีเวอร์ชั่นที่เป็นภาพยนตร์ชุดทางทีวีอีกด้วย
ในส่วนของภาพยนตร์อะนิเมะนั้น เริ่มต้นเรื่องด้วยเหตุการณ์ในโลกอนาคตที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วทั้งจักรวาล อย่างไรก็ตามก็ยังไม่พ้นมีปัญหาเดิมๆ อย่างเช่นปัญหาของชนกลุ่มน้อยและความขัดแย้งไม่ต่างกับปัจจุบัน มีตัวเอกอย่าง เมเจอร์ โมโตโกะ คุซานางิ (ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ว่าเมเจอร์ก็แล้วกัน) เธอเป็นไซบอร์กระดับผู้พันของหน่วยพิเศษที่ 9 ที่เป็นหน่วยหนึ่งในการดูแลความสงบเรียบร้อยของญี่ปุ่น มีคู่หูร่างใหญ่อย่าง บาโตะ ที่เป็นไซบอร์กเช่นกัน และ โทงุสะ ผู้ช่วยอีกคนที่เป็นมนุษย์
ความพิเศษของตำรวจในหน่วยนี้ก็คือ การเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายที่ถูกเรียกว่า “เน็ต” ได้โดยตรง สามารถดักฟังการสนทนาของผู้ต้องสงสัยเพื่อสืบข้อมูล เริ่มต้นเรื่องมา ผู้กำกับฯ เลือกแสดงให้เราเห็นความสามารถในการดักฟังของเมเจอร์ก่อนเพื่อนพร้อมทั้งแสดงเงื่อนงำแรกๆ ก่อนที่จะดำเนินเรื่องให้เราค้นหาต่อไปจนจบเรื่อง
สิ่งที่เรารับรู้กันอยู่ในทางพุทธ ก็คือ เราประกอบไปด้วยร่างกาย ซึ่งก็เปรียบเสมือน “เปลือก (shell)” ที่เรามองกันได้ด้วยตา กับอีกส่วนที่เป็นจิตวิญญาณ เราอาจมองไม่เห็น แต่รับรู้กันว่ามันมี ซึ่งในเรื่อง มันถูกเรียกว่า “โกสต์ (ghost)” แม้เมเจอร์และบาโตะจะเป็นไซบอร์ก แต่เขาและเธอมีความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ มันคงมีโกสต์อยู่ตรงไหนสักแห่งในตัวของพวกเขา
…นั่นก็คงพอทำให้เข้าใจกันได้ว่า ทำไมอะนิเมะเรื่องนี้จึงมีชื่ออย่างที่เห็น
ด้วยความเป็นไซบอร์ก ร่างกายและความทรงจำบางส่วนไม่ได้เป็นของพวกเขาโดยถาวร พวกเขามีสิทธิที่จะลาออกได้ แต่ก็ต้องคืนร่างกายและความทรงจำอันนั้นให้กับทางการ ทำให้พวกเขาเองก็เริ่มไม่แน่ใจแล้ว ว่าแท้จริงตนเองเป็นใคร
เมื่อเกิดเหตุอาชญากรทางคอมพิวเตอร์แฮ็คและควบคุมไซบอร์กให้ทำตามคำสั่ง แถมยังใส่ข้อมูลประสบการณ์เสมือนจริงเข้าไปตามต้องการ หน่วย 9 จึงต้องเข้ามาสืบสวนเหตุนี้ และก็ไม่พ้นมือดีอย่างเมเจอร์, บาโตะและโทงุสะที่ต้องรับหน้าที่ดังกล่าว พวกเขาต้องมาสัมผัสกับเหล่าหุ่นที่ไร้ซึ่งความทรงจำดั้งเดิม พวกเขาไม่รู้ชื่อตัวเอง ใบหน้าของผู้เป็นแม่ สถานที่ที่เติบโตมา แม้กระทั่งความทรงจำในวัยเด็ก บาโตะยังเอ่ยออกมาเลยว่า
“ไม่มีอะไรน่าเศร้าไปกว่าหุ่นที่ไม่มีโกสต์อีกแล้ว”
แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปเรื่อยๆ ก็พบว่า แท้จริงแล้ว อาชญากรเป็นเพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งที่ท่องไปในทะเลข้อมูล แล้วพัฒนาตัวเองขึ้นไปจนถึงระดับปัญญาประดิษฐ์
ฉากที่ดูสวยงามของ ‘โกสต์ อิน เดอะ เชลล์’ คงไม่พ้นช่วงเวลาที่เมเจอร์ดำน้ำในวันว่าง เธออยู่ท่ามกลางน้ำทะเลสีเข้มที่ล้อมรอบตัว ก่อนที่จะลอยตัวขึ้นมาสู่ผิวน้ำ สีฟ้าเข้มของทะเลตัดกับบบท้องฟ้าสีทองยามเย็น ประกอบกับเสียงเพลงที่ล่องลอย เป็นฉากที่น่าประทับใจที่สุดฉากหนึ่งของเรื่องเลยทีเดียว
อะนิเมะเรื่องนี้มีความซับซ้อนด้วยพล็อตและรายละเอียดที่มากเกินกว่าจะเข้าใจในการดูเพียงครั้งเดียว เรื่องราวจบลงด้วยความค้างคา ซึ่งต้องไปหาคำตอบเอาใน ‘Ghost in the Shell 2: Innocence’ ต่อไป
เรื่องนี้สุดยอด…ชอบอันที่เป็น manga ด้วยอ่ะ รายละเอียดเยอะมาก คนเขียนคิดได้ไงก็ไม่รู้ เจ๋งดี :D
เป็นเรื่องที่อยากดูมาก แต่พอจะชื้อแผ่น ก็ดันไปชื้อเรื่องอื่นก่อนทุกที
-*-
มีในสต๊อก แต่ยังไม่ได้ดูเลยครับ
ล้ำลึกจริงๆ ชอบที่พี่สรุปตอนสุดท้ายของอาชญากรจริงๆ ทำให้เข้าใจขึ้นมาเป้ะเลย
เรื่องนี้ต้องดูทวนฉากที่พูดกันยาวๆหลายๆรอบมาก กว่าจะเข้าใจฉากนึงที – –