แอนิเมชัน

รวมหนังแอนิเมชันจาก Studio Ghibli ที่(ส่วนใหญ่)หาชมได้แล้วทาง Netflix

รวมทุกชิ้นงานจากแอนิเมชันจากสตูดิโอญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรกันมากมายกับผลงานแอนิเมชันระดับคุณภาพที่ได้รับการยอมรับ เมื่อเอ่ยถึงชื่อนี้ Studio Ghibli ทุกคนย่อมจะมีภาพอยู่ในหัวว่าแต่ละผลงานคือภาพยนตร์แอนิเมชันที่ครบครัน ทั้งด้านงานภาพ แนวคิด ปรัชญา หรือสิ่งที่ต้องการสื่อที่แข็งแรง แม้ว่าจะมีบางที่บางผลงานตกลงไปบ้าง แต่ก็กลับมาดีเด่นได้เสมอ

และในโอกาสที่ภาพยนตร์แอนิเมชันของค่ายนี้ได้ไปอยู่ในบริการสตรีมมิ่งของ Netflix มากที่สุดในวันนี้ เราจึงขอรวบรวมชิ้นงานเฉพาะภาพยนตร์ของสตูดิโอนี้มาฝากกัน


บทความนี้มีอะไรบ้าง? ซ่อน

Nausicaä of the Valley of the Wind / มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม / 風の谷のナウシカ (1984)

เรื่องนี้เดิมทีอาจจะไม่ได้อยู่ในสตูดิโอจิบลิ แต่ ‘มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม’ ก็เป็นผลงานอันเป็นหลักไมล์สำคัญที่ทำให้บังเกิดค่ายหนังแอนิเมชันแห่งนี้ เรื่องราวของธรรมชาติที่เลวร้ายจากการกระทำของมนุษย์จนหันกลับมาทำร้ายมนุษย์ เป็นงานกำกับของ Hayao Miyazaki ที่บอกว่าสิ่งแวดล้อมในเวลานั้นไม่ได้เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกแล้ว เหมือนจะเป็นหนังที่มาก่อนกาลเรื่องหนึ่งเลยแหละ

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Nausicaa of the Valley of the Wind มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Nausicaa of the Valley of the Wind’

Castle in the Sky / ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา / 天空の城ラピュタ(1986)

เรื่องราวของสาวน้อยที่ร่วงลงมาจากท้องฟ้า โลกที่เคยมีเมืองลาพิวต้าที่ลอยสูงอยู่เบื้องบน เด็กหนุ่มคนหนึ่งได้มีโอกาสไปเยือนที่นั่นและได้ค้นพบความจริงบางอย่าง ชื่อเต็มๆ ที่ผมจดจำของแอนิเมชั่นเรื่องนี้คือ ‘Laputa: Castle in the Sky’ ผลงานแรกในสตูดิโอจิบลิ เมื่อปี 1986

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Laputa: Castle in the Sky ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Laputa: Castle in the Sky’

Grave of the Fireflies / สุสานหิ่งห้อย / 火垂るの墓 (1988)

แอนิเมชันจาก Studio Ghibli ที่สุดแสนเศร้าสะเทือนใจ ที่ผู้ชมทุกคนจะต้องร่ำไห้ระหว่างรับชม ความโหดร้ายของสงครามที่หม่นมัว ไม่ว่าใจแข็งแค่ไหนก็ไม่อาจเก็บน้ำตาไว้ เรื่องราวของสองพี่น้องที่สุดรันทดเมื่อได้รับผลจากสงคราม ดูแล้วอาจต้องจิตตกอารมณ์หดหู่อาจจะอยู่กับคุณอีกสองสามวัน งานชิ้นนี้มีชื่อไทยว่า ‘สุสานหิ่งห้อย’ ผู้กำกับ Isao Takahata ถ่ายทอดไว้ในปี 1988

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Grave of the Fireflies สุสานหิ่งห้อย
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Grave of the Fireflies’

My Neighor Totoro / โทโทโร่เพื่อนรัก / となりのトトロ (1988)

เรื่องธรรมชาติและขนบวิถีคิดในแบบคนญี่ปุ่นมักจะถูกนำมาถ่ายทอดไว้เสมอๆ ในชิ้นงานที่ Hayao Miyazaki เป็นผู้กำกับ อีกหนึ่งงานที่นำเรื่องราวชีวิตของตัวเองมาใส่ไว้ในนั้น และตัวเอกของเรื่องก็เป็นสาวน้อยเช่นเคย เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ต้องย้ายไปอยู่ในเขตชนบท และเด็กๆ ก็ได้พบเจอโตโตโรในป่าใกล้บ้าน ‘Tonari na Totoro ​โทโทโร่เพื่อนรัก’ แอนิเมชันสร้างชื่อที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของสตูดิโอแห่งนี้

ภาพจากหนังแอนิเมชันเรื่อง My Neighbor Totoro โทโทโร่เพื่อนรัก จากสตูดิโอจิบลิ
ภาพจากหนังเรื่อง ‘My Neighbor Totoro’

Kiki’s Delivery Service / แม่มดน้อยกิกิ / 魔女の宅急便 (1989)

เรื่องราวของ ‘แม่มดน้อยกิกิ’ ที่ต้องออกเดินทางไปกับไม้กวาดและแมวดำนามจีจี้ เพื่อค้นหาตัวเอง ในเมืองที่ไม่มีแม่มดอื่นมาอยู่ ชิ้นงานที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Eiko Kadono จะเห็นว่าผลงานในช่วงนี้ของสตูดิโอจิบลิเป็นของสองคุณลุง Hayao Miyazaki และ Isao Takahata เท่านั้น

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Kiki's Delivery Service แม่มดน้อยกิกิ
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Kiki’s Delivery Service’

Only Yesterday / ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง / おもひでぽろぽろ (1991)

สาวในเมืองที่ได้กลับไปสู่ชนบท ย้อนนึกถึงวันที่ยังเป็นเด็ก ความรัก ความสุข และธรรมชาติ ชื่อไทยของ ‘Only Yesterday’ ก็คือ ‘ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง’ ผลงานจาก Isao Tokahata ในปี 1991

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Only Yesterday ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Only Yesterday’

Porco Rosso / พอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน / 紅の豚 (1992)

‘พอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน’ แอนิเมชันที่ชื่อของมันแปลว่า หมูแดง อีกครั้งที่เครื่องบินรบถูกนำมาใช้ในเรื่องราว และแน่นอนว่า ผู้กำกับเรื่องนี้ย่อมมิใช่ใครนอกไปจาก Hayao Miyazaki เรื่องนี้ออกมาในปี 1992

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Porco Rosso พอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Porco Rosso’

Ocean Waves / สองหัวใจ หนึ่งรักเดียว / 海がきこえる (1993)

คราวนี้เป็นผลงานการกำกับของ Tomomi Mochizuki บ้าง เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันจาก Studio Ghibli ที่สร้างเพื่อฉายทางทีวีในปี 1993 ด้วยการดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ Saeko Himuro เรื่องราวรักสามเส้าของเพื่อนสนิทคู่หนึ่งในเมืองโทจิ กับหญิงสาวที่เพิ่งย้ายมาจากโตเกียว ชื่อไทยว่า ‘โอเชียน เวฟส์ สองหัวใจหนึ่งรักเดียว’

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Ocean Waves สองหัวใจ หนึ่งรักเดียว จากสตูดิโอจิบลิ
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Ocean Waves’

Pom Poko / ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก / 平成狸合戦ぽんぽこ (1994)

กลับมาที่ Isao Takahata อีกครั้ง คราวนี้หันมาเล่าเรื่องราวของฝูงตัวทานูกิ (หรือหมาแรคคูนของญี่ปุ่น) ที่ถูกรุกรานจากการขยายพื้นที่ทำกินและสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ หนังเล่าถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เรื่องราวในนั้นมีความเป็นนิทานพื้นบ้านรวมอยู่ จินตนาการให้พวกมันมีการร้องรำทำเพลงและมีเรื่องราวเหนือธรรมชาติบังเกิดขึ้นในนั้น ชื่อไทยว่า ‘ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก’

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Pom Poko ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก จากสตูดิโอจิบลิ
ภาพจากหนังเรื่อง ‘Pom Poko’

Whisper of the Heart / วันนั้น…วันไหน หัวใจจะเป็นสีชมพู / 耳をすませば (1995)

‘วันนั้น…วันไหน หัวใจจะเป็นสีชมพู’ คือชื่อไทยของแอนิเมชันเรื่องนี้ หนังโรแมนติกการก้าวข้ามผ่านวัยผลงานในปี 1995 ของ Yoshifumi Kondō ดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันของ Aoi Hiiragi เป็นภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องแรกที่ไม่ได้กำกับโดยสองลุง และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันชิ้นเดียวของผู้กำกับคนนี้เพราะหลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิตลงในปี 1998

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Whisper of the Heart วันนั้น...วันไหน หัวใจจะเป็นสีชมพู จากสตูดิโอจิบลิ
ภาพจากหนัง ‘Whisper of the Heart’

Princess Mononoke / เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร / もののけ姫 (1997)

อีกครั้งที่อะนิเมะของ Studio Ghibli จะเล่าเรื่องของมนุษย์กับธรรมชาติ คราวนี้ เล่าเรื่องจริงจังหนักข้อ ความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ส่งผลต่อความโกรธแค้นของเทพทั้งหลาย โดยมีเจ้าหญิงโมโนโนเกะที่เป็นเสมือนตัวแทนของทั้งสองสิ่ง ผลงานในปี 1997 ที่มีชื่อไทยว่า ‘เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร’ นับเป็นผลงานของจิบลิและ Hayao Miyazaki ที่ดุดันเคร่งเครียดมากเรื่องหนึ่งในความรู้สึกของผม

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Princess Mononoke เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร
ภาพจากหนัง ‘Princess Mononoke’

My Neighbors the Yamadas / ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา / ホーホケキョとなりの山田くん (1999)

กลับมาที่ Isao Takahata กันอีกครั้ง ผลงานแอนิเมชันในปี 1999 ที่ใช้ลายเส้นเรียบง่าย ตัวแบนๆ เหมือนคอมมิก เรื่องราวที่แบ่งเป็นตอนๆ ของครอบครัวยามาดะ ชื่อไทยก็เลยเป็น ‘ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา’

ภาพจากหนังแอนิเมชัน My Neighbor Yamadas ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘My Neighbor Yamadas’

Spirited Away / มิติวิญญาณมหัศจรรย์ / 千と千尋の神隠し (2001)

นับเป็นแอนิเมชันที่ผู้ชมบอกว่าชื่นชอบมากที่สุดในบรรดาหนังเรื่องต่างๆ จาก Studio Ghibli แห่งนี้ ด้วยความแฟนตาซีที่แฝงความนัยไว้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งมีความแปลกใหม่ ชวนอึ้ง บางคราวชวนระทึก บางช่วงชวนนิ่งสงบ ทั้งตีความกันไปได้ไม่รู้จบ องค์ประกอบโดยรวมถือกลมกล่อมจนน่าทึ่ง ‘มิติวิญญาณมหัศจรรย์’ คือชื่อไทยของ ‘Spirited Away’ แน่นอนว่าเป็นผลงานของ Hayao Miyazaki

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Spirited Away มิติวิญญาณมหัศจรรย์
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Spirited Away’

The Cat Returns / เจ้าแมวยอดนักสืบ / 猫の恩返し (2002)

เรื่องราวที่นำมาจากมังงะชื่อเดียวกันของ Aoi Hiiragi คราวนี้หน้าที่กำกับตกเป็นของ Hiroyuki Morita เรื่องราวที่ spin-off มาจาก Whisper of the Heart ภาพจำของมันคือหญิงสาวกับร่มและแมวที่ล่องลอยอยู่กลางอากาศ ชื่อไทย ‘เจ้าแมวยอดนักสืบ’

ภาพจากหนังแอนิเมชัน The Cat Returns เจ้าแมวยอดนักสืบ
ภาพจากหนัง ‘The Cat Returns’

Howl’s Moving Castle / ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ / ハウルの動く城 (2004)

หนึ่งในแอนิเมชันจาก Studio Ghibli ที่ผู้คนชื่นชอบ คอนเซ็ปต์ของเมืองเคลื่อนที่ ฮาวล์ผู้หล่อเหลาและอ่อนไหว ‘ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์’ คือชื่อไทยของแอนิเมชันที่ออกฉายในปี 2004 ผลงานของ Hayao Miyazaki ที่หยิบเอานิยายของ Diana Wynne Jones มาแต่งเติมเสียใหม่ ตัวเอกเป็นหญิงสาวอีกครั้ง เธอคือโซฟีนักทำหมวกที่คำสาปทำให้เธอกลายเป็นหญิงชราวัย 90 ปี

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Howl's Moving Castle ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Howl’s Moving Castle’

Tales from Earthsea / ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร / ゲド戦記 (2006)

เมื่อจิบลิถึงคราผลิใบใหม่ ลูกชายของลุงฮายาโอะ อย่าง Goro Miyazaki ได้โอกาสกำกับแอนิเมชั่น เรื่องนี้หยิบพล็อตและตัวละครมาจากงานเขียนของ Ursula K. Le Guin รวมเข้ากับ ‘The Journey of Shuna’ มังงะของผู้พ่อ สมดุลของโลกที่กำลังสูญสิ้นเมื่อภัยพิบัติกำลังถาโถมโลกแห่งทะเล เป็นผลงานที่หลายคนบอกว่าผิดหวัง ชื่อไทย ‘ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร’ ชื่อญี่ปุ่น ‘Gedo Senki’

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Tales from Earthsea ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Tales from Earthsea’

Ponyo / โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย / 崖の上のポニョ (2008)

นี่คือชื่อสั้นๆ แต่ชื่อเต็มๆ ของมันคือ ‘Ponyo on the Cliff by the Sea’ ชื่อไทย ‘โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย’ เรื่องราวแฟนตาซีของธิดาสมุทรที่ได้พบกับเด็กชายผู้เก็บเธอขึ้นมาจากท้องทะเล แล้วจากนั้นทะเลก็ปั่นป่วน ได้เห็นฉากน้ำท่วมโลกจนพื้นดินหดหายด้วยนะ หนนี้ลุงมิยาซากิกลับมากำกับอีกครั้ง นี่เป็นผลงานลำดับที่แปดแล้วที่ลุงกำกับในนามจิบลิ แต่เป็นงานชิ้นที่สิบของลุงครับ

ภาพจากหนังแอนิเมชัน Ponyo โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย’

Arrietty / อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว / 借りぐらしのアリエッティ (2010)

ในโลกแฟนตาซีที่บอกว่ายังมีมนุษย์ตัวเล็กที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างดิ้นรนร่วมดินแดนกับมนุษย์เรา เธอคือผู้หยิบยืมสิ่งของเครื่องใช้ของมนุษย์ และเมื่อไรที่ถูกค้นพบนั่นย่อมหมายถึงการอพยพครั้งใหม่ งานกำกับของ Hiromasa Yonebayashi ในปี 2010 มีชื่อที่ใช้ในการโปรโมตบนดินแดนอเมริกาว่า ‘The Secret World of Arrietty’ ชื่อไทยของมันคือ ‘อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว’

ภาพจากหนังแอนิเมชัน อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘Arrietty’

From Up on Poppy Hill / ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ / コクリコ坂から (2011)

งานที่ Goro Miyazaki ขอพิสูจน์ ฝีมืออีกครั้ง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโยโกฮามา ‘ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์’  เรื่องราวที่อาจจะดูชุลมุนหน่อย แต่มีบางจุดที่พอจดจำได้ เด็กสาวที่สูญเสียพ่อไปในสงครามเกาหลี การรณรงค์ต่อต้านการรื้อถอนอาคารเก่าแก่ที่พวกเด็กใช้ตั้งชมรม นำพาให้เด็กชายอีกคนมารู้จักกับเด็กสาว กลายเป็นแอนิเมชั่นที่เรียกร้องน้ำตาให้หลั่งไหล

ภาพจากหนังแอนิเมชัน From Up On Poppy Hill ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘From Up On Poppy Hill’

The Wind Rises / ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก / 風立ちぬ (2013)

ชายหนุ่มผู้มีความฝันเกี่ยวกับการสร้างเครื่องบินมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนเมื่อเติบโตขึ้น เขาก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครื่องบินจนได้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่อย่างที่เขาฝันมาตลอดนักก็ตาม ‘ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก’ งานทิ้งทวนของลุงเขาล่ะ

ภาพจากหนังแอนิเมชัน The Wind Rises ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก
ภาพจากหนังแอนิเมชัน ‘The Wind Rises’

The Tale of the Princess Kaguya / เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ / かぐや姫の物語 (2013)

หลังๆ ไม่ค่อยได้เห็นงานหนังแอนิเมชันของ Isao Takahata ชื่อไทย ‘เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่’ ชื่อไทยของหนังแอนิเมชันที่ภาพออกเป็นสีน้ำ เรื่องที่เล่าจากนิทานพื้นบ้านในญี่ปุ่น งานภาพที่แปลกตา เข้ากันดีกับเรื่องราวที่เหลือเชื่อ ทั้งบางช่วงภาพยังดูบิดเบี้ยวไปตามอารมณ์ของหนังช่วงนั้นอีกต่างหาก

ภาพจากแอนิเมชันเรื่อง The Tales of Princess Kaguya เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่
ภาพจากแอนิเมชันเรื่อง ‘The Tales of Princess Kaguya’

When Marnie Was There / ในฝันของฉันต้องมีเธอ / 思い出のマーニー (2014)

ผลงานส่งท้ายของ Studio Ghibli ภายใต้การกำกับของ Hiromasa Yonebayashi ชื่อไทย ‘ในฝันของฉันต้องมีเธอ’ งานนี้ก็ดัดแปลงจากงานเขียนของ Joan G. Robinson เล่าเรื่องของเด็กสาววัย 14 คนหนึ่งที่มีปมในจิตใจ ด้วยโรคประจำตัวทำให้เธอถูกส่งตัวไปอยู่กับญาติในบ้านแถวชนบทจนได้พบกับมาร์นีย์ เด็กสาวผมทองในคฤหาสน์หลังใหญ่

ภาพจากแอนิเมชัน When Marnie Was There ในฝันของฉันต้องมีเธอ
ภาพจากแอนิเมชัน ‘When Marnie Was There’

สำหรับผมแล้ว ผลงานของสตูดิโอจิบลิ เป็นอะไรที่ดูได้เรื่อยๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด หยิบขึ้นมาดูอีกครั้ง ก็ยังคงรู้สึกเหมือนเดิมเสมอ บางเรื่องบอกเล่าเรื่องสงคราม ธรรมชาติ บางเรื่องก็เล่าเรื่องความรักของวัยหนุ่มสาว

ยุคสมัยอาจแปรเปลี่ยน วันเก่าๆ เราอาจหาชมแอนิเมชั่นเหล่านี้ได้ยาก อาจดูผ่านแผ่น VCD/DVD ที่แปลซับไทยในร้านลุงแว่น หรือหาซื้อได้จากแผ่นลิขสิทธิ์ แต่วันนี้เราได้ดูเวอร์ชั่นที่ชัดกว่าด้วยดิจิทัลทีวีผ่านระบบสตรีมมิ่ง

แต่ก็ยังคงเป็นผลงานจากสตูดิโอที่เรารักเช่นเดิม

PatSonic

บล็อกเกอร์ผู้ชอบดูหนังหลากแนว ฟังเพลงหลายสไตล์ มีเวลาว่างก็จะออกไปท่องเที่ยว บางเวลาก็หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หยิบซีรีส์ขึ้นมาดู แล้วก็จะหยิบมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน
Back to top button

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Adblock Detected

เนื่องจากบล็อกนี้อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อผู้เยี่ยมชม รบกวนไม่ใช้ Ad Blocker เพื่อการเยี่ยมชมที่สมูธครับ